"มอร์แกนสแตนเลย์" ชี้หุ้นไทยน่าสนใจน้อยสุด เหตุกำไรต่อหุ้นแนวโน้มปรับลงมาก เศรษฐกิจปีนี้-ปีหน้าขยายต่ำคาด มอร์แกน สแตนเลย์ ธนาคารชั้นนำระดับโลกจากสหรัฐ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง "รอบคอบกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทย" ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นตลาดที่ธนาคารชื่นชอบน้อยที่สุด เทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) บวก 3 ประเทศแถบเอเชียเหนือ หรือ จีน,เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพราะตลาดไทยยังแวดล้อมไปด้วยความเสี่ยงฉุดตลาดอยู่ในช่วงขาลง ทีมวิจัยของมอร์แกน สแตนเลย์ ให้ข้อมูลในบทวิเคราะห์ว่า ได้ประเมินเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นไทย หลังจากเดินทางไปเยี่ยมเยือน และพบผู้บริหารบริษัท ซึ่งทีมนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนเลย์ได้เข้าไปพูดคุยและเก็บข้อมูลจากบริษัทไทยทั้ง 18 แห่ง พร้อมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในกลางเดือนพ.ย.ปีนี้ ทำให้ได้ข้อมูลที่พวกเขาสรุปไว้ว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นตลาดที่พวกเขาชื่นชอบน้อยที่สุด ทั้งในแง่เศรษฐกิจและจากมุมมองเชิงกลยุทธ์ "ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยยังให้ผลประกอบการดีมาก ที่ระดับ 21%จนถึงขณะนี้ และ 15%ตั้งแต่การเมืองเปลี่ยนเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ปีนี้ และดีกว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอ ตลาดเกิดใหม่ ทั้งๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานประเทศดูอ่อนแอลง เราเชื่อว่านักลงทุนในประเทศเป็นกลุ่มขับเคลื่อนตลาด เนื่องจากมีต้นทุนการเงินลดลง ความเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลที่มาจากทหารมีมากขึ้น แต่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินจากตลาดไทยไปแล้ว 3.1 พันล้านดอลลาร์ นับจากที่มีการประท้วงทางการเมืองในเดือนพ.ย.ปีก่อน และนับตั้งแต่ทหารเข้ามาในเดือนพ.ค.ปีนี้ ต่างชาติก็เข้าซื้อหุ้นไทยสุทธิเพียง 296 ล้านดอลลาร์" จากการใช้วิธีคำนวณของมอร์แกน สแตนเลย์ ย้อนหลังดูค่าเฉลี่ยราคาเทียบกำไร (ค่าพีอี) ช่วง 5 ปีและ 10 ปี เห็นว่ากำไรจากหุ้นไทยปี 2558 น่าจะเติบโต 38% และ 48% ตามลำดับ แต่ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่ประเมินกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ 14.2% และนับตั้งแต่การเมืองเปลี่ยน แทนที่จะมีการทบทวนปรับคาดการณ์กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น คนส่วนใหญ่กลับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้นของไทยปีหน้าลงอีก 6.4% จากตัวเลขดังกล่าว มอร์แกน สแตนเลย์ จึงมองไทยเป็นตลาดน่าสนใจน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียนบวกสาม และมีความเสี่ยงทำให้มีการปรับคาดการณ์กำไรตลาดหุ้นไทยใหม่อีกครั้ง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวมีหลายเรื่อง โดยความเสี่ยงแรกเป็นคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ เมื่อข้อมูลที่ได้ทีมงานมอร์แกน สแตนเลย์ ได้มาจากผู้บริหารบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐบาล เป็นมุมมองระมัดระวังน่าจะเป็นจริงได้มากขึ้น แนวโน้มการเติบโตของจีดีพีไตรมาสสุดท้ายปีนี้และในปีหน้านั้น คนส่วนใหญ่ปรับลดจีดีพีไตรมาส 4 ปีนี้ เหลือ 0.5% ส่วนกำไรต่อหุ้นปีหน้าเหลือ 13.5% ส่วนหนึ่งสะท้อนจากคาดการณ์การเติบโตอยู่ระดับปานกลางแบบต่อเนื่อง และเชื่อว่ามีความเสี่ยงขาลงทำให้คาดการณ์จีดีพีไทยของมอร์แกน สแตนเลย์ปีหน้าต่ำกว่าที่ส่วนใหญ่ประเมินไว้ 0.5% และกำไรต่อหุ้นที่มองไว้ต่ำกว่าคาดการณ์ของคนส่วนใหญ่ 2.5% ความเสี่ยงที่สอง คือบริษัทไทยส่วนใหญ่ดูเหมือนรอคอย และหวังให้การใช้จ่ายของภาครัฐในปีหน้าฟื้นตัวมาก เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว แต่บริษัทเอกชนที่ผ่านมากลับมุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจในต่างประเทศทั้งเพื่อนบ้านอยู่รอบไทย หรือประเทศอื่นในอาเซียน มากกว่าจะยึดติดอย่างมากกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศปีหน้า สำหรับความเสี่ยงที่สาม อยู่ที่การบริโภค ไม่น่าจะฟื้นตัวแข็งแกร่งปีหน้า การบริโภคในประเทศดูเหมือนชะลอตัว บริษัทเอกชนไม่ได้มีมุมมองเป็นบวกมากกับการคาดหวังให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวเร็วปีหน้า เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง รายได้ของคนในชนบทชะลอตัวเนื่องจากราคาโภคภัณฑ์ลดลง และมาตรการต่างๆ มาจากนโยบายประชานิยมแผ่วลง สุดท้ายเป็นความเสี่ยง จากการเปลี่ยนถ่ายทางการเมืองไม่มีความชัดเจน รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารงานช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จนเกิดเสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่ที่คิดว่าอย่างเร็วที่สุดที่ไทยจะได้รัฐบาลมาจากประชาธิปไตยน่าจะเป็นไตรมาสสุดท้ายปีหน้า และยังไม่มีความมั่นใจมากมายใดๆ เรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการต่างๆ จะลงตัวและบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ แนะ 5 หุ้นเด่นน่าลงทุน ในบทวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนเลย์ ระบุว่าได้เพิ่มหุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ไว้ในรายชื่อหุ้นที่ธนาคารชื่นชอบ และโยกหุ้นโกลว์ พลังงาน (GLOW) ออกจากรายชื่อหุ้นน่าลงทุน พิจารณาจากผลตอบแทนที่ได้จากหุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ดึงดูดใจกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้หุ้นโกลว์ พลังงานให้ผลประกอบการดีกว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอ ประเทศไทย ประมาณ 15% และมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ 8% ส่วนหุ้นแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ให้ผลประกอบการน้อยกว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอ ประเทศไทย ประมาณ 2% แต่โอกาสที่หุ้นแอดวานซ์มีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่ให้ไว้มากถึง 17% นอกจากนี้ทีมงานมอร์แกน สแตนเลย์แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ลงทุนรอบคอบระวัง เล่นหุ้นปลอดภัย โดยหุ้นที่นำเข้ามาอยู่ในรายชื่อน่าลงทุน เป็นหุ้นอิงวัฏจักรตลาดโลกอย่างปตท. (PTT) และพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) นอกจากนี้มีหุ้นเติบโตมีความเสี่ยงน้อยสุด อย่างเช่น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นหุ้นมีมูลค่าดึงดูดใจและอิงวงจรในประเทศ ส่วนหุ้นธนาคารกสิกรไทย(Kbank) ถือเป็นธนาคารดูแล้วมีผลิตภาพมากที่สุด และซีพีออลล์ (CPALL) เป็นบริษัทที่ยังอยู่ได้และเป็นไปตามวงจรธุรกิจ Tags : มอร์แกน สแตนเลย์ • ตลาดหุ้นไทย • อาเซียน • กำไรต่อหุ้น • เศรษฐกิจ