แบงก์ชาติเมิน'หนี้เน่า'บัตรเครดิตพุ่ง

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 1 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "แบงก์ชาติ"ยืนยันไม่ห่วงปัญหา"เอ็นพีแอล" สินเชื่อบัตรเครดิต-ส่วนบุคคลที่พุ่งเร็ว เหตุสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมน้อย

    การเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เริ่มออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อเรื่องดังกล่าวนั้น

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยภาพรวมไม่ได้น่าเป็นห่วงนัก เพราะมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ค่อนข้างน้อย อีกทั้งโดยธรรมชาติของสินเชื่อประเภทนี้ หากมีการค้างชำระเกิน 6 เดือน ธนาคารพาณิชย์จะหักเป็นหนี้สูญในทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะสะท้อนออกมาให้เห็นทางบัญชีในทันที

    "ถ้าเฉพาะสองตัวนี้ (สินเชื่อบัตรเครดิตกับสินเชื่อส่วนบุคคล) ไม่ได้กังวลนัก เพราะวัฏจักรสั้น คือ หนี้บัตรเครดิตกับหนี้ส่วนบุคคล โดยธรรมชาติ วงเงินจะเล็ก และปกติถ้ากลายเป็นเอ็นพีแอลเกิน 6 เดือน แบงก์ก็จะหักเป็นหนี้สูญเลย การที่แบงก์หักเป็นหนี้สูญเร็ว เป็นเรื่องดี เพราะจะแสดงออกมาให้เห็นในทางบัญชีเลย หรืออีกนัยหนึ่งคือเขาตั้งวงเงินชดเชยได้เลย แบบนี้ก็แสดงออกมาให้เห็นเร็ว"นายประสาร กล่าว

    นายประสาร กล่าวด้วยว่า หนี้สินที่แสดงคุณภาพแท้จริงออกมาได้เร็ว ความน่าเป็นห่วงจะน้อยกว่าประเภทที่ยังซ่อนอยู่หรือมองไม่เห็น ที่ผ่านมา ธปท. ได้พูดเสมอว่าหนี้ทั้ง 2 ส่วนนี้ค่อนข้างเล็ก และโดยลำพังก็คงไม่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ถึงกับล้มลง เพราะการที่หนี้สะท้อนคุณภาพออกมาเร็ว ธนาคารพาณิชย์ก็สามารถปรับตัวได้เร็ว ทั้งในเชิงการบริหารและการจัดการด้านการเงิน

    อย่างไรก็ตาม หากจะกระทบก็คงเป็นในเชิงเศรษฐกิจมหภาคมากกว่า เพราะจะทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. เองก็ทำการศึกษาเชิงลึกในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

    “ในเชิงเสถียรภาพแบงก์ เราไม่ห่วง แต่ที่เฝ้ามองคือเชิงเศรษฐกิจมหภาค ที่อาจทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคมีน้อยลง ที่เราศึกษาเชิงลึก ก็เห็นว่าที่ผ่านมาเวลาประเทศพ้นจากปัญหา ภาคการบริโภคจะเป็นตัวที่ฟื้นได้เร็วสุด แต่เที่ยวนี้จะเห็นว่าการฟื้นตัวไม่เป็นเหมือนทุกครั้ง เราจึงห่วงในเชิงว่า หนี้เหล่านี้ทำให้การอุปโภคบริโภคไม่เข้มแข็งเหมือนในอดีต” นายประสารกล่าว

    นายประสาร กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยนอกจากจะถูกขับเคลื่อนด้วยการส่งออกแล้ว การบริโภคยังถือเป็นตัวจักรสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนด้วย เพราะการบริโภคมีสัดส่วนคิดเป็น 50% ของจีดีพี และยังมีส่วนที่ต่อเนื่องไปถึงภาคการลงทุนต่างๆ ด้วย

    จากข้อมูลของ ธปท. พบว่า เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตในไตรมาส 3 ปี 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.7% จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.3% ขณะที่สินเชื่อซึ่งต้องจับตาดูเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) ในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.4% เทียบกับไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ 2.2%

    ส่วนเอ็นพีแอลในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล ในไตรมาส 3 ปี 2557 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.6% ขณะที่เอสเอ็มของสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส 3 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.6% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 2.4%

    นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีแนวคิดในการแจกจ่ายคูปองให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อไปใช้ลดราคาในการซื้อสินค้าด้วยว่า นโยบายลักษณะนี้โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยเท่าไร เพราะเป็นการสร้างพฤติกรรมให้คนมุ่งหวังจะรอแต่ของฟรี อีกทั้งผลที่เกิดขึ้นไม่ยั่งยืนด้วย หากจะทำก็ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

    "แนวคิดของผมไม่ค่อยชอบอะไรที่ฟรีๆ คือ ทรัพยากรเรามีจำกัด เราควรนำไปใช้อะไรที่สามารถทำให้เกิดผลยั่งยืนดีกว่า นโยบายเหล่านี้ถ้าจะทำก็ควรใช้ในคราวจำเป็นจริงๆ ต้องจำเป็นมากๆ เพราะมันเห็นผลแค่ช่วงสั้นเท่านั้น ที่สำคัญ ไม่ควรไปสร้างอะไรที่ทำให้คนหวังจะได้แต่ของฟรี" นายประสาร กล่าว

    Tags : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ธปท. • หนี้

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้