ธปท.เตือนสถานการณ์โลกยังเสี่ยงสูง แนะสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความผันผวน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน แม้มีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นยังมีปัญหา ดังนั้นการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันรับความผันผวนจากภายนอก นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศมีความไม่แน่นอนดังนั้นจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจให้มีความสมดุลในทุกด้าน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน "ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในเชิงเศรษฐกิจมหภาคของไทย ถือว่าได้รับการยกย่องจากนักลงทุนทั่วโลกว่ามีสมดุลที่ดี เราต้องเฝ้าติดตามและสร้างภูมิคุ้มกันของเราให้ยังเข้มแข็งเอาไว้ ตัวนี้ถือเป็นพื้นฐาน ถ้าภูมิคุ้มกันดี อย่างน้อยก็ยังปกป้องตัวเองได้ อย่าปล่อยให้ภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอเพราะข้างนอกเวลานี้ดูไม่สดใสเท่าไร" นายประสารกล่าว นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจถือว่ามีความสำคัญมาก ดังนั้นจึงควรต้องดูแลเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศ เพราะถ้าเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งผลกระทบที่มีต่อความเชื่อมั่นก็จะน้อยลงตามไปด้วย เศรษฐกิจต.ค.ฟื้นทุกภาคส่วน สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค.2557 ถือว่าปรับตัวดีขึ้นในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบปีนี้ โดยเดือนต.ค.มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเป็นผลจากนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนและมาเลเซียซึ่งเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น "การท่องเที่ยวที่กลับมาดีส่วนหนึ่งคงเพราะนักท่องเที่ยวคลายความกังวลจากสถานการณ์การเมือง ประกอบกับมีการประท้วงที่ฮ่องกงทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนหันมาเที่ยวในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังได้อานิสงส์จากการที่ทางการมาเลเซียผ่อนผันให้รถโดยสารที่ตีทะเบียนมาเลเซียเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ชั่วคราว ซึ่งตรงกับเทศกาลฮาลีลายอ วันที่ 5 ต.ค. จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้ามามากขึ้นในเดือนนี้" นางรุ่งกล่าว ส่งออกปีนี้โอกาสติดลบน้อยลง ส่วนการส่งออกก็ถือว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าที่ ธปท. ได้คาดการณ์เอาไว้ โดยในเดือนต.ค.มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น4.1% สาเหตุหลักเป็นผลจากคำสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การส่งออกยังได้ปัจจัยหนุนชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าของกลุ่มประเทศยุโรปก่อนการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี(GSP) ในปีหน้าทำให้การส่งออกไทยในเดือนต.ค.ขยายตัวได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบจากทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้า ส่วนการนำเข้าสินค้าลดลงบ้างหลังจากที่เร่งขึ้นมากในเดือนก่อน แต่ในภาพรวมแนวโน้มการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ "อุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น การเร่งผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตามการวางแผนการผลิตของผู้ประกอบการก่อนช่วงสิ้นปีที่มีวันทำการน้อยและการผลิตเพื่อตลาดในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น"นางรุ่ง กล่าว นางรุ่ง กล่าวด้วยว่า การส่งออกเดือนต.ค.ที่ออกมาค่อนข้างดี ทำให้ความเสี่ยงที่การส่งออกไทยเฉลี่ยทั้งปีในปีนี้จะติดลบมีน้อยลงตามไปด้วยโดยตัวเลขประมาณการการส่งออกไทยของธปท.อย่างเป็นทางการ ประเมินว่า การส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 0% หรือไม่เติบโตเลย อุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้น สำหรับอุปสงค์ในประเทศ พบว่า การบริโภคภาคเอกชนเดือนต.ค. เริ่มขยายตัวตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อของครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางและรายได้สูง การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ เพราะก่อนหน้านี้ได้เร่งซื้อรถยนต์ไปมาก ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงทำให้ครัวเรือนยังค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่าย และกำลังซื้อของครัวเรือนในภูมิภาคโดยเฉพาะภาคใต้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การบริโภคดีขึ้น-เบิกจ่ายรัฐเริ่มมา ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการก่อสร้างอาคารชุดในแนวรถไฟฟ้า การขยายสาขาในเขตภูมิภาคของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และการลงทุนของธุรกิจโทรคมนาคม สอดคล้องกับแนวโน้มการขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม หลายอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่พอสมควร การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตจึงยังอยู่ระดับต่ำ นางรุ่ง กล่าวด้วยว่า ในส่วนแรงกระตุ้นจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นในเดือนต.ค. ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งในด้านการซื้อสินค้าและบริการ ตลอดจนโครงการลงทุน สำหรับรายได้รัฐบาลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จากภาษีฐานรายได้เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ และภาษีเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิต ยังหดตัวมากจากการเร่งซื้อรถยนต์ไปในช่วงโครงการรถยนต์คันแรก ว่างงานต่ำ-ทุนสำรองฯยังสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานยังอยู่ระดับต่ำที่ 0.8% อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาอาหารสดและพลังงาน สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากทั้งดุลการค้าและดุลบริการ ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย และการขายพันธบัตรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ในภาพรวมดุลการชำระเงินค่อนข้างสมดุล สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นยังอยู่ในเกณฑ์มั่นคงที่ 2.7 เท่า "เดือนต.ค.มียอดเงินไหลออกสุทธิ 1.76 พันล้านดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนของคนไทยมากกว่า โดยมีทั้งการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ กับที่ออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารหนี้ คิดว่าในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นของแบงก์ชาติที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ของจีนเพิ่มเติมด้วย"นางรุ่งกล่าว Tags : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ธปท. • เศรษฐกิจโลก