"สภาพัฒน์-คลัง" เล็งปรับเพิ่มจีดีพี หลังคสช.ปลดล็อกการลงทุนภาครัฐ-บีโอไอ ชี้มีโอกาสปีนี้โต 3% คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินสายกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ และเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นด้วยการเร่งรัดการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ส่งผลให้มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากภาวะชะงักงันในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้ คสช.ได้ตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. โดยการหารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง จากนั้นตัวแทนคสช.ได้ร่วมหารือผู้บริหารกระทรวงต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางการบริหารประเทศนับจากนี้ไป หลังจากคสช.มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยใหม่ หลังจากที่หน่วยงานเหล่านี้ได้รับลดประมาณการเศรษฐกิจลงในช่วงก่อนการยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงแนวทางด้านเศรษฐกิจเพื่อฟื้นการลงทุนและดันความเชื่อมั่นให้กลับมา ผ่านรายการ "Business talk" ออกอากาศทางช่อง NOW 26 ว่าหลังจากมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้าบริหารประเทศ เชื่อว่าจะส่งผลให้การลงทุนและความเชื่อมั่นดีขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น นายอาคม กล่าวว่า คสช.ประกาศขั้นตอนการแก้ปัญหา หรือ โรดแมพ ทางเศรษฐกิจออกมา ต้องถือว่าสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ลงทุนเริ่มกลับมาอีกครั้ง ซึ่งตรงนี้จะส่งผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปด้วย นายอาคมกล่าวว่าเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทางสศช.ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงเหลือ 1.5-2.5% จากเดิม 3% โดยมีค่ากลางที่ 2% เนื่องจากเห็นว่าเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ออกมามีหลายตัวติดลบ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน โดยขณะนั้นประเมินว่า ประเทศไทยน่าจะมีรัฐบาลได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ “ตัวเลขที่ 1.5-2.5% อยู่บนสมมติฐานว่า เราจะมีรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3 ของปี แต่วันนี้ชัดเจนขึ้นว่าเรามีคสช. พูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาล ที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งสั่งสมมาได้ ดังนั้นก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจเราไปได้เช่นกัน”นายอาคมกล่าว ส่วนจะปรับประมาณการจีดีพีในปีนี้ใหม่หรือไม่นั้น นายอาคม ย้ำว่า คงต้องขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยสศช.จะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ซึ่งจะออกในเดือนส.ค.นี้ก่อน หากตัวเลขออกมามีสัญญาณดีขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่สศช.จะปรับประมาณการจีดีพีเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เชื่อว่าการเติบโตที่ระดับ 2% มีความเป็นไปได้สูง นายอาคม กล่าวว่า โรดแมพของ คสช. นั้นเท่าที่ได้รับฟังแนวทางจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คสช. ได้ให้แนวทางไว้ 2 ระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเศรษฐกิจ แบ่งเป็น ระยะสั้น กับระยะกลางและยาว นายอาคม กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นนั้น อาทิ การจ่ายเงินค่าข้าวให้แก่ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำ ที่เริ่มจ่ายไปแล้ว หลังจากนี้เชื่อว่า จะมีมาตรการอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การดูแลค่าครองชีพของประชาชน ทั้งเป็นเรื่องรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี รวมไปถึงเรื่องราคาน้ำมันดีเซล ตลอดจนเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ที่จะหมดอายุในเร็วๆ นี้ ถัดมาคือเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องการวางพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องใน 2-3 เรื่อง คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งต่างๆ ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหลวง หรือรถไฟรางคู่ ที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ คสช.สร้างความมั่นใจว่างบประมาณปี 2558 จะทันกำหนดวันที่ 1 ต.ค.2557 แน่นอน "ทำให้มั่นใจได้ว่าในปีงบประมาณหน้า เราสามารถใช้เงินงบประมาณได้เต็มร้อย ไม่ได้ใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้มีผลต่อการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมาก" คลังส่งแผนกระตุ้นศก.ให้ คสช. ด้านนายสมชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังถือเป็นกระทรวงหนึ่งที่ส่งข้อมูลโรดแมพให้กับ คสช. เพราะถือว่าเรามีเครื่องมือที่มีอานุภาพสูงในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีทั้งในเรื่องของภาษี เรื่องการเบิกจ่าย การกู้ยืม รวมไปถึงการบริหารทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก สำหรับโรดแมพที่เสนอไปมีทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะกลางจนถึงยาว โดยระยะเร่งด่วนที่ได้ทำไปแล้ว คือ การจ่ายเงินให้ชาวนาที่ค้างอยู่ราว 9 หมื่นล้านบาท โดยเงินส่วนนี้เมื่อถึงมือชาวนาเข้าสู่ระบบมันจะมีตัวคูณเพิ่ม ซึ่งเราได้คำนวณแล้วน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างน้อย 0.2% อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำในระยะต่อไป คือ การลงทุน โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนชะลอการลงทุนเพราะเขาไม่รู้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ภาษีสำหรับนิติบุคคลที่กำลังจะหมดในเร็วๆ นี้เป็นอย่างไร ซึ่งแนวทางค่อนข้างชัดว่า ภาษีเหล่านี้จะมีการต่อออกไป ดังนั้นก็น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนขึ้น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเองก็น่าจะกลับมา นอกจากนี้ คสช. ยังประกาศสนับสนุนการลงทุนจากทั้งนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนในประเทศ โดยลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 90 วัน ก็จะเหลือ 30 วัน ตรงนี้ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนมาก “เอกชนได้ฟังอย่างนี้เขาก็ดีใจ ดังนั้นช่วง 6 เดือนที่เหลือ โรงงานต่างๆ ก็จะเร็วขึ้น ตั้งได้ง่ายขึ้น อันนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เร่งออกใบอนุญาตเท่านั้นก็กระตุ้นการลงทุนได้แล้ว”นายสมชัยกล่าว คลังชี้ศก.ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว นายสมชัย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค.เป็นต้นไป จะเป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากความชัดเจนทางด้านการเมือง ทำให้หลายมาตรการหรือนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ที่ติดขัดในช่วงก่อนหน้านี้จะเริ่มนำมาใช้ได้ โดยเฉพาะเม็ดเงิน 9 หมื่นล้านบาทจากโครงการจำนำข้าวที่กำลังจ่ายให้แก่เกษตรกร ถือเป็นชนวนสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และ จะเป็นตัวหนุนให้การลงทุนในประเทศเกิดขึ้นตาม “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนเม.ย.และครึ่งเดือนพ.ค.นั้น ถือว่า เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้แล้ว โดยเม็ดเงิน 9 หมื่นล้านบาท จะถือเป็นตัวจุดชนวนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาดีขึ้น โดยเงินดังกล่าวจะหมุนเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์ด้านการบริโภคที่สำคัญ นับจากนี้ไป การบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวนำการลงทุน ซึ่งผมคิดว่า เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว” ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะขยายตัว 1.5% จากเดิมที่ไตรมาสแรกขยายตัวติดลบที่ 0.6% ส่วนไตรมาส 3 จะขยายตัว 3-4% และ ไตรมาส 4 จะขยายตัวมากกว่านั้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ใกล้เคียง 3% จากคาดการณ์เดิมจะขยายตัว 2.6% โดย แสศค.จะต้องมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยนำปัจจัยบวกในทุกด้านเข้ามาประมวล “เฉลี่ยเศรษฐกิจทั้งปี จะขยายตัวมากกว่า 2% อยู่แล้ว ซึ่งคสช.ได้ให้เป้าหมายเราไว้ที่ 3% เราก็จะพยายามทำให้ได้ ก็ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่จะเข้ามาในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย”นายสมชัยกล่าว คาดแผนฟื้นศก.ชัดสัปดาห์หน้า นายสมชัย คาดว่าโรดแมพในการดูแลเศรษฐกิจของคสช.มีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า โดยในวันอาทิตย์นี้ ทุกส่วนราชการจะนำเสนอแนวทางหรือมาตรการต่างๆ ในการดูแลเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้ทีมเศรษฐกิจของคสช.ได้พิจารณา และ นำเสนอต่อคสช.ได้พิจารณาเพื่อประกาศใช้ในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้ราวเดือนมิ.ย.-ก.ค. นี้ คาดว่าคสช.คงจะมีการโรดโชว์ต่อนักลงทุนต่างชาติ “นโยบายในภาพรวมของคสช.มีความชัดเจนว่า เขาจะไม่สวนกระแสโลกเสรี ไม่ห้ามเงินทุนเคลื่อนย้าย หลายมาตรการจะเกิดได้ในรัฐบาลชุดนี้ รวมถึง ภาษีตัวใหม่ มาตรการลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึง การปฏิรูปด้านต่างๆ” นายสมชัย กล่าว ส่วนโรดแมพที่คลังเตรียมเสนอนั้น จะมีทั้งเรื่องเร่งด่วนและเรื่องของการปฏิรูป โดยเรื่องเร่งด่วน จะเป็นการเสนอให้คงภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล, มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี, มาตรการให้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนการลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ, มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมภาพยนตร์ สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และ การจัดประชุมนานาชาติ เป็นต้น คสช.กระตุ้นข้าราชการแสดงฝีมือ วานนี้ (29 พ.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาทำงานที่ปลอดจากการเมืองขอให้ข้าราชการช่วยกันทำงานให้เต็มที่และถูกต้อง เนื่องจากเป็นการทำงานระหว่างคนที่เป็นข้าราชการด้วยกัน เป็นโอกาสที่ข้าราชการจะได้แสดงความสามารถในการทำงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมเสร็จสิ้น พล.อ.ฉัตรชัย ออกจากห้องประชุม เมื่อพบกับสื่อมวลชนที่รอทำข่าวอยู่บริเวณชั้น 1 ของกระทรวงเกษตรฯ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "วันนี้ไม่มีอะไรมาก ผมไม่ได้มอบนโยบาย ไม่ใช่รัฐมนตรี" นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นการหารือถึงขั้นตอนการทำงานร่วมกันของข้าราชการ โดยรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ได้เน้นย้ำเป้าหมายการทำงาน 4 ข้อ ของ คสช. คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การทำให้เศรษฐกิจพื้นฐานเดินต่อไปได้ การปฏิรูปการทำงานให้รวดเร็วฉับไว และการทำให้เกิดความปรองดองในชาติ “ได้รายงานถึงผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2557 ของกระทรวงเกษตรฯ ด้วยว่า ขณะนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 40% ของงบประมาณรายจ่ายรวมประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดก่อนจะสิ้นสุดปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย. นี้” นายชวลิต กล่าว พาณิชย์คาดหั่นเป้าส่งออกเหลือ 3.5% นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เร่งจัดทำแผนงานเร่งด่วนเพื่อเสนอให้คสช.พิจารณา คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 วันนี้ ในเรื่องการดูแลค่าครองชีพประชาชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเดินหน้าเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน ด้านการส่งออก แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากการอ่อนค่าของเงินบาท การกีดกันทางการค้า และอุปสรรคเกี่ยวกับต้นทุน ทำให้การคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในปีนี้ น่าจะมีอัตราการขยายตัวเพียง 3.5% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัวเทียบปีที่ผ่านมา 5% รายงานข่าวแจ้งว่าหลังการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังร่วมประชุมกว่า 3 ชั่วโมง ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารระดับสูง รัฐวิสาหกิจในสังกัด เช่น องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์สั่งการในที่ประชุมห้ามบุคคลใดให้ข่าวนอกเหนือจากผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น สำหรับแผนงานเร่งด่วนที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอต่อพล.อ.ฉัตรชัย ประกอบด้วย ด้านกฎหมาย คือ การตั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เช่น คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) การเร่งแก้ไขกฎหมาย 11 ฉบับ เพื่อเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ และตามมาตรา 301 ของสหรัฐ กฎหมายที่รอความเห็นชอบจากสภา 5 ฉบับ เป็นต้น Tags : คสช • ภาครัฐ • ลงทุน • บีโอไอ • สคช. • ธปท. • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ • NOW26