ข่าวสำคัญในวงการไอทีรอบเดือนนี้คือ IBM ประกาศแยกเป็น 2 บริษัท ที่หลายคนอาจยังงงๆ อยู่ว่าจะทำไปเพื่ออะไร และข่าวการแยกบริษัทอาจไม่น่าสนใจนักเมื่อเทียบกับข่าวการซื้อบริษัท อย่างการทุ่มเงินซื้อ Red Hat ในปี 2018 แต่จริงๆ แล้ว การแยกบริษัทครั้งนี้ถือเป็นแผนย่อยในแผนปรับตัวครั้งใหญ่ของ IBM ต่อจากการซื้อ Red Hat และมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่น IBM เป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านการปรับตัวให้อยู่รอดตามยุคสมัยอยู่หลายครั้ง มีทั้งการซื้อกิจการดาวรุ่งและการขายกิจการที่เติบโตช้าออกไปอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวของ IBM รอบนี้จึงประกอบด้วยยุทธศาสตร์ทั้งสองด้าน นั่นคือการซื้อกิจการ Red Hat เข้ามา และการแยกธุรกิจออกไปตามข่าวนี้นั่นเอง บทความนี้เป็นภาคต่อของ บทวิเคราะห์ เพราะเหตุใด IBM ถึงต้องซื้อกิจการ Red Hat ด้วยมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท การปรับตัวรอบใหม่ของ IBM ในอดีต IBM ต้องปรับตัวเองอยู่หลายครั้ง การปรับตัวครั้งที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสมัยของซีอีโอ Louis Gerstner ระหว่างปี 1993-2002 ที่พลิกฟื้นความตกต่ำของ IBM ในยุค 80s และ 90s กลับมาได้สำเร็จ รอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราเห็น IBM ขายธุรกิจเดิมของบริษัทออกไปเยอะพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจฝั่งฮาร์ดแวร์ ปี 1991 แยกธุรกิจเครื่องพิมพ์ออกไปเป็นบริษัท Lexmark ปี 2005 ขายธุรกิจพีซี Think ให้ Lenovo ปี 2014 ขายธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ x86 ให้ Lenovo ซีรีส์การขายกิจการชุดนี้ ทำให้ปัจจุบัน IBM เหลือธุรกิจฮาร์ดแวร์เพียงเล็กน้อย คือ กลุ่มเซิร์ฟเวอร์ตระกูล Power, เมนเฟรมตระกูล Z และฮาร์ดแวร์สตอเรจเท่านั้น การเปลี่ยนผ่านของ IBM ที่เริ่มในยุคของ Gerstner และต่อเนื่องมายังทศวรรษ 2000s (ที่นำโดย Samuel J. Palmisano ผู้สืบทอดของ Gerstner) มีแกนกลางคือ การเปลี่ยนจากธุรกิจขายฮาร์ดแวร์ มาเป็นขายบริการ-ให้คำปรึกษา สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกไอทีองค์กรในยุคนั้น ที่ไม่ได้ต้องการแค่ซื้อเซิร์ฟเวอร์มาใช้งาน แต่ต้องการบริการโซลูชันครบวงจร ทั้งบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ พัฒนาซอฟต์แวร์ ฯลฯ ซึ่ง IBM มีคนและความเชี่ยวชาญ สามารถให้บริการเหล่านี้ได้ ธุรกิจบริการของ IBM มีหน่วยธุรกิจ IBM Services (ชื่อเดิมคือ IBM Global Services) กลายเป็นธุรกิจหลักของ IBM ในยุคปี 2000s ที่สร้างรายได้ให้บริษัทเป็นจำนวนมหาศาล IBM ยุคนั้นไล่ซื้อบริษัทที่ปรึกษาด้านไอทีเข้ามาหลายราย ที่สำคัญคือ PWC Consultings ในปี 2002 (ด้วยมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงมากในยุคนั้น) นอกจากนั้นยังมีธุรกิจไอทีของบริษัทน้ำมัน Schlumberger ในปี 2004, Network Solutions ของอินเดียในปี 2005, Global Value Solutions ในปี 2006 ยังไม่รวมบริษัทสายซอฟต์แวร์องค์กรอีกเป็นจำนวนมาก (เช่น Informix, Rational, FileNet, Cognos, SPSS) ที่นำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจที่ปรึกษาของตัวเอง อย่างไรก็ตาม พอมาถึงยุคทศวรรษ 2010s ที่ยุคสมัยของคลาวด์เริ่มต้นขึ้น องค์กรไม่จำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลของตัวเองอีกต่อไป ทุกอย่างเช่าเอาได้หมด ยุทธศาสตร์ที่ชูเรื่อง "บริการ" เป็นหัวหอกของ IBM จึงเริ่มใช้ไม่ได้ผลเหมือนยุคก่อนหน้า IBM เองยังปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจคลาวด์ช้ากว่าที่ควร การซื้อบริษัทคลาวด์อย่าง SoftLayer (2013) หรือการสร้างบริการคลาวด์ของตัวเอง Bluemix (2014) ไม่ได้ช่วยให้แข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง AWS ได้ดีขึ้นมากนัก (เพื่อความแฟร์ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่ IBM เพราะในวงการไอทีเอง ก็หาบริษัทมาเป็นคู่ต่อสู้กับ AWS ได้ยาก ขนาด Google Cloud ก็ยังอยู่อันดับสามที่มีส่วนแบ่งตลาดตามหลังอยู่ไกล) สัญญาณความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการของ IBM ช่วงหลัง จะเห็นว่ารายได้ต่อปีขึ้นไปสูงสุดที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2011 แล้วลดลงมาตลอดติดต่อกันเกือบ 10 ปีแล้ว รายได้ปีล่าสุด 2019 อยู่ที่ประมาณ 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ตารางจาก Wikipedia IBM จึงถูกบีบให้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งในแง่การบริหาร ที่เพิ่งเปลี่ยนตัวซีอีโอ Ginni Rometty มาเป็น Arvind Krishna เมื่อต้นปี 2020 และในแง่ยุทธศาสตร์ธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นจากการซื้อ Red Hat และการประกาศแยกบริษัทในรอบนี้ รู้จักโครงสร้างธุรกิจของ IBM การจะเข้าใจยุทธศาสตร์ใหม่ของ IBM ได้ ต้องเข้าใจโครงสร้างธุรกิจของ IBM ในปัจจุบันก่อน IBM เป็นบริษัทใหญ่ที่มีรายได้มหาศาล (ต่อให้ลดลงจากเดิมแล้ว ก็ยังทำเงินได้ 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี เกือบเท่ารายได้ของรัฐบาลไทยในปี 2563 ที่ 2.7 ล้านล้านบาท) มีธุรกิจหลากหลาย แต่สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ตามรายงานทางการเงินของ IBM ดังนี้ Cloud & Cognitive Software ธุรกิจด้านคลาวด์และซอฟต์แวร์ Global Business Services (GBS) ธุรกิจด้านบริการแอพพลิเคชัน Global Technology Services (GTS) ธุรกิจด้านบริการเครื่องและระบบ Systems ธุรกิจฮาร์ดแวร์และ OS IBM มีธุรกิจด้านบริการ 2 ส่วนคือ GBS ที่เป็นธุรกิจที่ปรึกษาและแอพพลิเคชันเชิงธุรกิจ กับ GTS ที่เป็นธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดูแลเครื่อง ซัพพอร์ตระบบไอที (ทั้งสองหน่วยธุรกิจอยู่ใต้แบรนด์ IBM Services เหมือนกัน แต่ลงบัญชีผลประกอบการแยกส่วนกัน) หากเราดูข้อมูลรายได้ของ IBM ในปี 2019 (ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19) จะพบแนวโน้มการเติบโตของแต่ละหน่วยธุรกิจอย่างชัดเจน นั่นคือธุรกิจคลาวด์และซอฟต์แวร์เติบโตสูง ในขณะที่ธุรกิจด้านบริการ GBS เติบโตน้อย แถมธุรกิจบริการ GTS และธุรกิจฮาร์ดแวร์ กลับหดตัวลงด้วยซ้ำ ที่มา - IBM ถ้าลองดูตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุด Q3/2020 ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกเข้าเต็มๆ จะเห็นแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน (แต่แรงกว่าเดิม) นั่นคือธุรกิจคลาวด์และซอฟต์แวร์เป็นเพียงธุรกิจเดียวที่เติบโต ในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ รายได้ลดลง และธุรกิจ Systems ลดลงมากที่สุด ที่มา - IBM ด้วยแนวโน้มธุรกิจที่ไปในทิศทางนี้ จึงอธิบายได้ว่าทำไม IBM จำเป็นต้องแยกธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนคือ ธุรกิจที่โตเร็ว (คลาวด์และซอฟต์แวร์) กับธุรกิจที่โตช้า (บริการ) เพราะมีธรรมชาติทางธุรกิจแตกต่างกัน ไม่เหมาะในการบริหารภายใต้โครงสร้างเดียวกัน IBM กำลังจะทำอะไร สิ่งที่ IBM ประกาศทำคือแยกธุรกิจบริการแค่ส่วนเดียวคือ เฉพาะก้อน Infrastructure Services ที่เป็นการรับจ้างดูแลเครื่องของลูกค้า ออกมาจากหน่วยธุรกิจ GTS เท่านั้น (ไม่ได้แยก GTS ออกมาทั้งก้อนด้วยซ้ำ) ธุรกิจก้อนนี้มีรายได้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี มีพนักงานเยอะระดับ 90,000 คน บริษัทใหม่นี้ยังไม่มีชื่อ ตอนนี้เรียกด้วยชื่อเล่นว่า NewCo กระบวนการแยกธุรกิจจะเสร็จในช่วงสิ้นปี 2021 ส่วนธุรกิจบริการอื่นคือ GBS ทั้งก้อน, ส่วนที่เหลือของ GTS ที่ดูแลคลาวด์ และธุรกิจ Systems จะยังอยู่กับ IBM ต่อไป แม้ในภาพรวมเป็นธุรกิจที่ถือว่าเติบโตช้าแล้วก็ตาม แต่ในมุมมองของ IBM ยังมองว่ามันยังใช้เสริมกับธุรกิจคลาวด์และซอฟต์แวร์ได้อยู่ IBM ร่างเดิมที่ประกอบด้วยธุรกิจคลาวด์และซอฟต์แวร์, GBS, GTS ที่เหลือ, ธุรกิจฮาร์ดแวร์ จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจไฮบริดคลาวด์ที่ยังเติบโตสูง (เป็นทางออกของบริษัทที่พ่ายแพ้ในสงคราม Public Cloud ทุกราย) โดยเกาะกระแสการย้ายแอพพลิเคชันขึ้นคอนเทนเนอร์ (containerization) และยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานไอทีเข้าสู่ยุคใหม่ (modernization of IT infrastructure) IBM ยุคใหม่จะใช้ซอฟต์แวร์ของ Red Hat เป็นแกนกลาง ตามที่ซีเอฟโอเพิ่งอธิบายเอาไว้ ทั้งก้อนที่เป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐาน (RHEL) และซอฟต์แวร์ด้านคอนเทนเนอร์ (OpenShift) ภาพแผนผังนี้แสดงให้เห็นยุทธศาสตร์ใหม่ของ IBM หลังควบรวม Red Hat เสร็จแล้ว ชิ้นส่วนสีน้ำเงินคือธุรกิจของ IBM เดิม ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานคือ IBM Systems (ขายเครื่อง), IBM Public Cloud (ให้เช่าคลาวด์) บวกกับซอฟต์แวร์และบริการ (GBS) ผนวกเข้ากับแพลตฟอร์มตรงกลางของ Red Hat ที่เป็นสีแดงในภาพ เราจะเห็นว่าชิ้นส่วนสีน้ำเงิน (IBM) เชื่อมต่อกับชิ้นส่วนสีแดง (Red Hat) ได้พอดี เมื่อทางยุทธศาสตร์ส่งเสริมกันแล้ว ที่เหลือก็คือเดินหน้าผลักดันให้ได้ตามแผนที่คิดไว้ ส่วนบริษัท NewCo ที่แยกตัวออกมา ถึงแม้เป็นธุรกิจที่เติบโตช้าแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีขนาดใหญ่มาก (รายได้ 6 แสนล้านบาทต่อปี ประมาณ 3 เท่าของ AIS) มีลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ในหลายประเทศ ภาพรวมแล้วยังอยู่ต่อได้อีกนาน ขอเพียงแค่ปรับตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (IBM ใช้คำว่า operation efficiency แปลว่าลดต้นทุนหรือลดคน เพื่อเพิ่มอัตรากำไร) การแยกธุรกิจ 2 ส่วนยังไม่ได้มีเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้-การเงิน (โตช้า-โตเร็ว) เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องความคล่องตัวในการบริหาร และอิสระในการเลือกพาร์ทเนอร์ด้วย นั่นแปลว่าหากเราต้องการซื้อเครื่องหรือซอฟต์แวร์ของ IBM ก็ไม่จำเป็นต้องจ้าง IBM GTS มาดูแลระบบให้ ในทางกลับกัน IBM GTS ที่กลายร่างเป็น NewCo ก็สามารถไปรับงานดูแลระบบของบริษัทอื่นๆ (เช่น HPE, Dell หรือ VMware ที่กลายเป็นคู่แข่งของ Red Hat) ได้เช่นกัน ในภาพรวมแล้ว สิ่งที่ IBM กำลังทำคือตัดส่วนบริการที่เติบโตช้า (ดูแลเครื่องที่เป็นของลูกค้า) ออกมาเป็นอีกบริษัทเพื่อให้บริหารงานแยกขาดจากกัน มีนโยบายหรือสวัสดิการต่อพนักงานแตกต่างกัน และมีอิสระในการเลือกพาร์ทเนอร์กับคู่แข่งของ IBM ได้ ส่วนธุรกิจที่เหลืออยู่ จะโฟกัสที่ซอฟต์แวร์คลาวด์ของ Red Hat เป็นแกนกลาง แล้วเสริมด้วยธุรกิจอื่นของ IBM เช่น ฮาร์ดแวร์ (ที่ขนาดเล็กลงเรื่อยๆ) IBM Cloud (ที่ยังสู้ต่อไป โดยหันไปโฟกัสเฉพาะบางอุตสาหกรรม เช่น การเงิน) ซอฟต์แวร์ธุรกิจ (ยกเครื่องใหม่ จัดชุดใหม่เป็น Cloud Pak) และบริการที่ปรึกษา GBS ในอนาคตอันใกล้ IBM น่าจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันนี้ ดังนั้นก็มีโอกาสสูงที่เราจะเห็น IBM ไล่ซื้อบริษัทด้านคลาวด์เพิ่มเติมอีก และอาจแยกส่วนธุรกิจด้านที่ปรึกษา GBS/GTS ออกมาได้อีกเช่นกัน ที่มา - IBM (PDF) Topics: IBMRed HatSpecial ReportEnterprise