สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ ไม่ให้ 'ยิ่งลักษณ์' เพิ่มพยานหลักฐานคดีถอดถอน ขณะเคาะวันแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน 9 ม.ค. 58 บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล่าสุด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานการประชุม สั่งปิดการประชุมแล้ว ภายหลังพิจารณาสำนวนถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยทีมทนายความได้ขออนุญาตเพิ่มเติมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา 72 รายการ ซึ่งทนายความระบุว่าแม้ไม่ใช่หลักฐานใหม่ แต่ ป.ป.ช. ไม่ได้หยิบยกมาพิจารณา จึงติดใจในประเด็นนี้ ด้าน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า เอกสารหลักฐานที่ขอเพิ่มเติมนั้นรวมอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. 28 รายการแล้ว พร้อมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่เคยเดินทางมาชี้แจงกับ ป.ป.ช. แม้แต่ครั้งเดียว จากนั้น ประธานการประชุมจึงให้ทีมทนายความชึ้แจงต่อในส่วนเอกสารที่ไม่มีในสำนวน จำนวน 44 รายการ และขอมติที่ประชุม จนท้ายที่สุดมีมติไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานตามที่ทนายความร้องขอ สนช.เคาะแถลงเปิดสำนวนถอดยิ่งลักษณ์9ม.ค. บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม ล่าสุด เข้าสู่วาระการพิจารณาถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามวิป สนช. ให้วันที่ 9 มกราคม 2558 เป็นวันแถลงเปิดสำนวนคดี ซึ่งก่อนหน้านี้ ประธานได้ชี้แจงข้อโต้แย้งที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นมา 2 ประเด็น คือ สนช. กระทำโดยปราศจากอำนาจหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่า มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้ สนช. มีหน้าที่เสมือนวุฒิสภา จึงมีอำนาจถอดถอน และ สนช. เลือกปฏิบัติหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงกับสำนวนของนายนิคม ไวยรัชพานิช และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นสำนวนที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาก่อนมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่เมื่อมี สนช. ก็ได้ส่งสำนวนกลับไป ป.ป.ช. พิจารณาความผิดซึ่งยังคงยืนยันความผิดเดิม ส่วนสำนวน นางสาวยิ่งลักษณ์ ส่งเรื่องมาหลังมี สนช. แล้ว จึงไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ เพียงทำตามรัฐธรรมนูญ