การเข้ารหัสเว็บได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาในช่วงหลัง ทำให้หลายคนอาจจะมีเหตุผลให้ต้องใช้บริการ VPN น้อยลงกว่าแต่ก่อน โดยหลายคนอาจจะใช้ VPN เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ซึ่งเป็นหน่วยงานในไทย) มองไม่เห็นว่าเรากำลังใช้งานอะไรอยู่บ้าง หรือต้องการเข้าถึงคอนเทนต์บางส่วนที่หลายครั้งเข้าจากประเทศไทยไม่ได้ เช่นการชมวิดีโอที่ล็อกตามไอพีที่ใช้งาน บริการ VPN ที่เสียเงินแบบไม่แพงหรือแม้กระทั่งฟรีนั้นมีให้เลือกหลากหลาย สำหรับบริการฟรีและง่ายที่สุดในตอนนี้คงเป็น Cloudflare WARP ที่สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ แต่ก็มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถเลือกประเทศปลายทางที่ต้องการออกจาก VPN ได้ และเว็บที่ให้บริการบน Cloudflare จะมองเห็นไอพีที่แท้จริงของเราเหมือนกับการเชื่อมต่อเว็บโดยไม่ได้ใช้ VPN ผมเองเคยเขียนถึงการคอนฟิกเซิร์ฟเวอร์ OpenVPN ไว้ตั้งแต่ปี 2014 และที่จริงแล้ว OpenVPN ก็ยังใช้งานได้ดีในกรณีส่วนมาก แต่การคอนฟิก OpenVPN ก็ยังต้องการความรู้เชิงเทคนิคค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความสามารถในการคอนฟิกเซิร์ฟเวอร์เองบางส่วน ในปี 2018 กูเกิลก็มีโครงการ Outline สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างเซิร์ฟเวอร์ VPN ด้วยตัวเอง ทำให้คนวางเซิร์ฟเวอร์แทบไม่ต้องมีความรู้เฉพาะทาง และทุกวันนี้โครงการก้าวหน้าไปมากจนกระทั่งหลายคนอาจใช้งานกันเองได้ ข้อดีสำคัญของ Outline คือเซิร์ฟเวอร์อยู่ในความควบคุมของเราเอง โดยเราอาจจะสร้างเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาใช้งานส่วนตัวคนเดียวหลายอุปกรณ์ หรือจะแชร์เซิร์ฟเวอร์ให้คนรู้จักใช้งานก็ได้ (disclaimer: ประเทศไทยมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่บังคับให้การให้บริการอินเทอร์เน็ตผู้อื่นต้องเก็บ log 90 วัน การแชร์เซิร์ฟเวอร์ VPN โดยไม่มี log เป็นความเสี่ยงของแต่ละคนเอง แม้โดยปกติเราจะแชร์อินเทอร์เน็ตให้ครอบครัวในบ้านใช้พร้อมกันหลายคนเป็นธรรมดาก็ตาม) Outline แบ่งเป็นสองส่วน คือ Outline Manager สำหรับจัดการเซิร์ฟเวอร์ สามารถติดตั้งได้บนเดสก์ทอปเท่านั้น และ Outline Client ที่สามารถติดตั้งได้ทั้งบนเดสก์ทอปและโทรศัพท์มือถือ โดย Outline Manager จะขอสิทธิการจัดการเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ที่เราต้องสร้างบัญชีขึ้นมาเอง โดยผู้สนใจดาวน์โหลดทั้ง Outline Manager และ Outline Client ได้ที่เว็บ getoutline.org Outline Manager เป็นโปรแกรมตัดตั้งและควบคุมเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้งานได้กับคลาวด์หลายเจ้า แต่เจ้าที่ทำงานได้ดีที่สุดและแนะนำที่สุดคือ DigitalOcean เพราะค่าใช้งานค่อนข้างถูก เริ่มต้นเดือนละ 5 ดอลลาร์ และอีกอย่างหนึ่ง DigitalOcean นั้นรองรับการใช้งานแบบเติมเงิน ทำให้เราไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนใช้จ่ายล้นจนน่าตกใจนัก ในบทความนี้เราจะข้ามการสมัครและเติมเงิน DigitalOcean ไป โดยสามารถจ่ายผ่าน Paypal เป็นรอบๆ ได้ทำให้ไม่ต้องใส่เลขบัตรเครดิตให้ทาง DigitalOcean แต่อย่างใด เมื่อเลือกเข้าโปรแกรม Outline Manager ครั้งแรก (สังเกตโลโก้จะเป็น 6 เหลี่ยม) และเลือก DigitalOcean ตัวโปรแกรมจะให้เราเปิดหน้าเว็บของ DigitalOcean และขอสิทธิการจัดการคลาวด์ เมื่อให้สิทธิจัดการแล้ว ตัวโปรแกรมจะถามว่าเราต้องการสร้างเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไว้ที่ประเทศอะไร ถ้าใครต้องการใช้งานประสิทธิภาพดีหน่อยก็ควรเลือกสิงคโปร์เพราะใกล้ไทยที่สุด เมื่อเลือกประเทศแล้วตัว Outline Manager จะเข้าไปสร้างเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ให้เอง เรารออย่างเดียว หลังจากสร้างเครื่องเสร็จ โปรแกรม Outline Manager จะให้ key สำหรับล็อกอิน VPN มา key เพียงบรรทัดเดียวสามารถใช้ล็อกอินได้ทันที โดยเราสามารถสร้าง key แยกสำหรับทุกอุปกรณ์ (หรือทุกคน) ได้จาก Outline Manager รวมถึงจำกัดปริมาณการใช้งานของกุญแจแต่ละตัวได้ด้วย เมื่อดาวน์โหลด Outline Client มาแล้วหน้าจอหลักคือการ Add Server เมื่อคลิกจะขอ key ที่ขึ้นต้นด้วย ss:// ที่เราได้มาจาก Outline Manager เมื่อใส่ key และเชื่อมต่อก็จะได้ VPN ไว้ใช้งาน สามารถทดสอบด้วยการค้นกูเกิลว่า "my ip" ซึ่งจะเป็นการแสดงค่าไอพีที่กูเกิลมองเห็น จะพบว่าเป็นเลขเดียวกับเซิร์ฟเวอร์ที่เราเห็นใน Outline Client แล้ว DigitalOcean มีค่าใช้บริการ 5 ดอลลาร์ต่อเดือน และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ฟรี 1,000GB ซึ่งใช้งานกับ VPN ได้ 500GB เพราะต้องส่งสองรอบ จากเว็บมายังเซิร์ฟเวอร์ VPN และจากเซิร์ฟเวอร์ VPN มายังเครื่องที่เราใช้งาน ค่าบริการเกินกว่านั้นคิด 0.01 ดอลลาร์ต่อ GB ค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงมากทำให้เราเปิดใช้งานทิ้งไว้ได้ (โดยเฉพาะหากหารกับเพื่อน) อย่างไรก็ตามเมื่อใช้งานเสร็จสิ้นแล้วควรปิดเซิร์ฟเวอร์ทิ้งเสีย โดยเข้าหน้าคอนโซลของ DigitalOcean เลือกเมนู Droplets แล้วคลิก More เพื่อ Destroy เครื่อง Topics: OutlineGoogleSecurityVPN