หากลองไล่ดูรายชื่อบุคคลที่ถูกโยกย้ายภายใต้คำสั่งของ คสช.จะพบว่า มีหลายคนถูกมองเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือที่ถูกเรียกว่า ระบอบทักษิณ อะไรคือเหตุผลที่บุคคลเหล่านี้ถูกโยกย้าย เมื่อย้อนไปทบทวนคำสั่ง คสช.จะเห็นว่า คสช.วางโครงสร้างและกำหนดภารกิจการดำเนินงาน หรือ โรดแมป พร้อมแต่งตั้งบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเป็นบุคคลที่ไว้วางใจให้ขับเคลื่อนได้ร่วมทีมที่ปรึกษา นอกจากนั้นยังพบว่า คสช.มีคำสั่งส่วนหนึ่งมุ่งเน้นไปที่จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชทหาร ตำรวจและพลเรือน โดยเฉพาะคำสั่งโยกให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย คำสั่งปรับโยก พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ถูกจับตามองว่า อาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการเมือง ทั้งข้อสังเกตที่ว่า ที่มาของ พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมในยุคของ ครม.ยิ่งลักษณ์ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้การสนับสนุน รวมถึงการเชื่อมโยงว่า พล.อ.นิพัทธ์ ถือเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการที่โดดเด่นในยุคที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ปัจจุบัน พล.อ.เชษฐา คือสมาชิกพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีคำสั่งปรับโยกย้าย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ทั้งที่เป็นหนึ่งในรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.และการปรับโยกของ คสช.ครั้งนี้ก็ถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่า มีปัจจัยมาจากกระแสข่าวที่ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ด้วยความสนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกันน่ากับบทบาทของตำรวจกับปัญหาการเมือง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาด้วยและที่น่าถูกจับตามองมากที่สุด อาจเป็นคำสั่ง คสช.กรณีปรับโยก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เพราะหลายฝ่ายเชื่อกันว่า นายธาริต ถูกปรับโยกเพราะบทบาทในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองมาโดยตลอด ทั้งการทำหน้าที่ในศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ หรือ ศอ.รส. ซึ่งถูกมองว่ามีแนวทางสอดคล้องกับความเห็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ต่อการแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ก็ตกเป็นข่าว ว่าเลือกปฏิบัติตอบสนองฝ่ายการเมือง ทั้งที่ต้องวางตัวเป็นกลาง ขณะที่อีกตำแหน่งสำคัญที่ถูกปรับโยก คือ เลขาธิการศูนย์บริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งไม่เพียงแค่ข้อสังเกตว่าเกิดจากความไม่คืบหน้าในการแก้ปัญหา แต่การปรับโยก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ยังถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะงานมวลชนที่มีเสียงสะท้อนว่า เป็นมวลชนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมากกว่าภาครัฐ และเชื่อกันว่ามีความใกล้ชิดกับบุคคลทั้งในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้ข้อสังเกต, ความเชื่อ หรือแนวโน้มที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันขึ้น คสช.ชี้แจงแล้วว่า เป็นการพิจารณาปรับย้ายและแต่งตั้งใหม่ เพื่อให้บุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่มีความเหมาะสมกับเนื้องาน และความสอดคล้องในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น