รีวิว Acer Aspire Switch 12 ไฮบริดโน้ตบุ๊กพลัง Core M ตัวแรก พร้อมการใช้งานทั้ง 5 รูปแบบ

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 27 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    ให้หลังการวางขายจริงของโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Core M ชิปกินพลังงานต่ำสำหรับอุปกรณ์แบบไร้พัดลม ที่เริ่้มวางขายไปบ้างแล้วในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทาง Blognone ก็ได้รับเครื่องรุ่นแรกๆ ของโลกที่ใช้ชิป Core M มาลองใช้งานจริงแล้ว ซึ่งก็คือ Acer Aspire Switch 12 โน้ตบุ๊กไฮบริดที่สามารถถอดคีย์บอร์ดมาเสียบด้านหน้านั่นเอง (ข่าวเปิดตัว)

    ก่อนเข้ารายละเอียด ต้องแจ้งก่อนว่าเครื่องที่ได้มานี้เป็นรุ่นทดสอบ (engineering test unit) จึงอาจมีบางส่วนที่ไม่ตรงกับรุ่นขายจริง และไม่มีอุปกรณ์เสริมพ่วงมาด้วยเลย รวมถึงปากกาสไตลัสด้วย

    สเปคคร่าวๆ ของรุ่นที่ได้มาทดสอบมีดังนี้ครับ

    * ใช้ชิป Core M-5Y10a ดูอัลคอร์ความถี่ 800MHz เร่งได้สูงสุด 2GHz, จีพียู Intel HD 5300
    * หน้าจอขนาด 12.5" ความละเอียด 1080p
    * รัน Windows 8.1
    * SSD 120GB, แรม 4GB

    สเปคเต็มๆ อ่านได้จากเว็บไซต์ทางการครับ

    ฮาร์ดแวร์


    เกริ่นรายละเอียดไปพอสมควรแล้ว เรามาดูตัวเครื่องจริงกันเลยดีกว่าครับ

    [​IMG]

    Switch 12 ตามที่บอกไปว่าเป็นไฮบริดโน้ตบุ๊ก แต่มาในทรงที่ต่างกับรุ่นน้อง Switch 10-11 อย่างมาก เพราะไม่ได้ใช้วิธีการถอดหน้าจอไปเสียบกับฐาน (detachable) แต่ใช้การพลิกตัวเครื่อง โดยมีคีย์บอร์ดที่สามารถถอดไปเสียบด้านหน้าเพื่อใช้งาน และเสียบด้านหลังเพื่อเก็บได้

    จากการออกแบบที่ว่ามา การใช้งานพื้นฐานของ Swtich 12 จะเป็นโหมดแท็บเล็ต แม้ว่าจะหนักไปหน่อยเพราะตัวเครื่องรวมคีย์บอร์ดอยู่ที่ 1.4 กก. เข้าไปแล้ว (อย่าลืมว่านี่คือเครื่องหน้าจอ 12.5" นะ)

    [​IMG]

    [​IMG]

    นอกจากทรงตัวเครื่องจะต่างแล้ว วัสดุที่ใช้ก็ต่างเช่นกัน Switch 12 ใช้วัสดุหลักเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ผิวด้านสีดำทั้งเครื่อง ประกอบมาค่อนข้างแข็งแรงบึกบึน ตัวเครื่องหนาด้วยความเป็นไฮบริดที่ 18 มม. ตามรูปพอร์ตด้านซ้ายจะมี micro HDMI, micro USB 3.0 และพอร์ตสำหรับชาร์จไฟหัวเล็ก

    [​IMG]

    ทรงที่ Switch 12 ทำได้ดีคือการใช้งานแบบโน้ตบุ๊กด้วยการเสียบคีย์บอร์ดไว้ด้านหน้า ซึ่งปุ่ม และพอร์ตสำคัญๆ จะอยู่มุมขวาบน กดได้สะดวกดีครับ

    วิธีการเปิดเครื่องต้องกดปุ่มพาวเวอร์ค้างจนกว่าไฟจะติด อันนี้ค่อนข้างฝืนสามัญสำนึกคนใช้โน้ตบุ๊กทั่วไปที่ชินกับการกดปุ๊ปติดปั๊ปพอสมควร ปุ่ม Windows ทีแปลงร่างจากปุ่มสัมผัส กลายมาเป็นปุ่มเล็กๆ เหนือปุ่มปรับเสียงนั้นใช้งานได้สะดวกในโหมดแท็บเล็ต แต่ถ้าใช้เป็นโน้ตบุ๊กกดที่คีย์บอร์ดจะสะดวกกว่ามาก

    [​IMG]

    ข้างๆ ปุ่มพาวเวอร์มีสล็อตสำหรับใส่ microSD ด้วยครับ (อาจจะดูยากไปหน่อย)

    [​IMG]

    ตรงฐานตัวเครื่องจะมีพอร์ต USB 3.0 มาให้หนึ่งพอร์ต (เฉพาะด้านขวาเท่านั้น) รูที่เห็นด้านหลังเป็นช่องสำหรับเสียบเก็บคีย์บอร์ดอีกที

    [​IMG]

    พลิกกลับมาด้านหน้าจะพบกับลำโพงคู่ใต้จอแบบสเตอริโอ ที่แม้ว่าจะเสียบคีย์บอร์ดก็ไม่บังแต่อย่างใด (เพราะคีย์บอร์ดบางประมาณ 8 มม.)

    [​IMG]

    แกนหมุนของ Switch 12 ทำมาค่อนข้างแข็งแรงดีสำหรับการพลิกเครื่องไปมา แต่เวลาใช้สัมผัสหน้าจอก็ยังมีโยกอยู่เล็กน้อย

    [​IMG]

    [​IMG]

    ด้านหลังตัวเครื่องของ Switch 12 เป็นพลาสติกแบบพิมพ์ลาย มียางกันลื่นทั้งฝั่งฐาน และคีย์บอร์ด ตัวอแดปเตอร์สำหรับชาร์จไฟขนาดเล็กพอสมควร พกพาได้สบายครับ

    Switch 12 กับรูปแบบการใช้งานทั้ง 5


    ในงานเปิดตัวเจ้ารุ่นนี้ สิ่งที่ Acer ยกมาขายคือการใช้งานทั้ง 5 โหมด (ซึ่งผมเองจำชื่อยังไม่ครบด้วยซ้ำ) แต่โชคดีที่มีภาพประกอบให้เข้าใจง่ายมาด้วย

    [​IMG]

    ทั้ง 5 โหมดเรียงจากซ้ายไปขวาจะเรียกว่าโหมดแท็บเล็ต, โหมดจอภาพ (display mode), โหมดโน้ตบุ๊ก, โหมดเดสก์ท็อป และโหมดเต้นท์ ซึ่งจะพูดถึงเฉพาะโหมดที่น่าจะใช้งานบ่อยๆ คือโหมดแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก และเดสก์ท็อปครับ

    [​IMG]

    การใช้งานในโหมดแท็บเล็ตสำหรับ Switch 12 นั้นออกแบบมาสำหรับใช้งานแบบสองมือถือ หรือแบบวางตักใช้งานเท่านั้น (เพราะหนักมาก) ปุ่มต่างๆ วางไว้ถูกที่ถูกทาง สามารถกดได้ด้วยมือขวาทั้งหมด หน้าจอสว่างเอาเรื่อง และสู้แดดได้ดี ปัญหาเลยไปบรรจบอยู่ที่ Windows 8.1 นั้นไม่มีแอพสำหรับตอบโจทย์การใช้งานในโหมดนี้มากนัก และส่วนรับสัมผัสหน้าจอที่ไม่แม่นยำอย่างเห็นได้ชัด (ต้องกดต่ำกว่าที่ต้องการเล็กน้อย) อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นเฉพาะเครื่องทดสอบหรือไม่ ถ้ามีโอกาสจะไปไล่จับรุ่นขายจริงอีกทีครับ

    [​IMG]

    โหมดต่อมาคือโหมดโน้ตบุ๊ก เป็นรูปแบบที่ผมใช้บ่อยที่สุดตลอดการรีวิว ข้อดีของโหมดนี้คือใช้พิมพ์ได้อย่างมั่นคงแม้ว่าจะวางบนโต๊ะ หรือวางบนตัก และกินพื้นที่น้อยมาก ไม่มีเสียงใดๆ รบกวนการทำงาน เพราะไม่มีพัดลม ความร้อนตัวเครื่องจะอยู่บริเวณด้านซ้ายบนของหน้าจอ จึงไม่มีผลกับการทำงานเช่นกัน

    จุดตายของโหมดนี้คือ ... คีย์บอร์ด พูดให้ถูกคือเลย์เอาท์คีย์บอร์ดที่ถูกจำกัดขนาดให้เล็กจนต้องตัดทัชแพดออก และเพิ่มตัวเลื่อนเม้าส์เข้ามาตรงกลางคีย์บอร์ด รวมถึงปุ่มคลิกซ้ายขวาด้านล่าง

    ถ้าดูตามรูปจะเห็นว่าเป็นคีย์บอร์ด 5 แถวยังไม่พอ ยังตัดคีย์บางตัวทิ้งไป ได้แก่ ปุ่ม Ctrl ด้านขวา, ย้ายปุ่ม Del มาแทนปุ่ม Ctrl และปุ่ม Context menu (ปุ่มคลิกขวา) รวมเอาปุ่ม F1-12 มาไว้กับปุ่มตัวเลข ทำให้เวลาจะใช้คีย์ลัดต้องกดถึง 3 ปุ่มด้วยกัน (Ctrl+Fn+Fx หรือ Fn+WinKey+PrtSc สำหรับเก็บภาพหน้าจอ เป็นต้น)

    สำหรับปุ่มเลื่อนเม้าส์ที่มาด้วยกันนั้นยังค่อนข้างช้ากว่าที่ควรจะเป็นพอสมควร และขาดปุ่มตรงกลางระหว่างปุ่มคลิกซ้าย-ขวา สำหรับเลื่อนหน้าจอเมื่อยามใช้มือเดียวควบคุม ทำให้วิธีง่ายสุดสำหรับการเลื่อนหน้าจอคือใช้นิ้วสัมผัสเอาครับ

    [​IMG]

    สำหรับโหมดสุดท้ายอย่างเดสก์ท็อป หรือถอดคีย์บอร์ดมาใช้งานแบบไร้สายนั้น เป็นโหมดที่ค่อนข้างชอบ แม้ว่าจะใช้งานไม่บ่อย โหมดนี้ใช้พื้นที่น้อยมาก เหมาะสำหรับเวลาพิมพ์บนโต๊ะที่มีของวางเยอะๆ หรือตามร้านอาหาร ข้อเสียจะเหมือนกับโหมดโน้ตบุ๊กที่เลย์เอาท์คีย์บอร์ด และความที่คีย์บอร์ดมันเล็ก+เบา ทำให้เวลาใช้งานบนตักจะขยับไปมาครับ ซึ่งตรงนี้ก็พอใช้ถูไถไปได้

    ตัวคีย์บอร์ดไร้สายชาร์จไฟผ่านพอร์ต pogo pin ด้านหลังเครื่อง ไม่รู้ว่าใช้งานได้นานแค่ไหน แต่ลองใช้เกิน 5 ชั่วโมงก็ยังทำงานได้ปกติดี เอาไปใช้กับรุ่นอื่นไม่ได้ (แค่หายังไม่เจอเลย) เมื่อรวมกับการใช้งานตัวเครื่องแบบเปิด Wi-Fi ได้ประมาณ 6-7 ชั่วโมงแล้วถือว่าทำได้ค่อนข้างดีครับ แม้จะน้อยกว่าที่เคลมว่าได้ 8 ชั่วโมงก็ตามที

    ซอฟต์แวร์ และประสิทธิภาพในการใช้งาน


    Switch 12 มาพร้อมกับ Windows 8.1 ตัวเต็ม ร่วมกับชิปตัวใหม่รุ่นประหยัดพลังงานมากอย่าง Core M ตามผลเบนช์มาร์กจะเห็นว่า Core M ทำผลงานได้ใกล้เคียงกับ Core i5 รหัส Haswell รุ่น U แต่พอเอามาใช้งานจริงพบว่า ... กระตุกพอสมควร โดยเฉพาะกับการเล่นเว็บเบราว์เซอร์ แต่เล่นวิดีโอ 1080p ทั้งบน YouTube และ บนไฟล์ MKV ได้ลื่นไหลหายห่วง

    [​IMG]

    ทางด้าน I/O ตัว SSD ที่ Switch 12 ใช้เป็น Liteon โมเดล L8T-128L9G ใช้อินเทอร์เฟซเป็น M.2 ตามสเปคอ่านเขียนได้ 520/310Mbps แต่ทดสอบใน Switch 12 แล้วได้ประมาณ 350/200Mbps (ไม่รู้ว่าไปคอขวดตรงไหน) แม้ว่าจะช้ากว่าที่ควรจะเป็นไปบ้าง แต่การทำงานทั่วไปทำได้รวดเร็วดี เปิดปิดเครื่องใช้เวลาต่ำกว่า 10 วินาที ใช้เวลาประมาณ 2-3 วินาทีสำหรับปลุกเครื่องให้ตื่นครับ

    Switch 12 เองมีปัญหาด้านการแสดงผลเช่นเดียวกับอุปกรณ์จอเล็กความละเอียดสูงรุ่นอื่นๆ ที่จะแสดงผลขนาดเล็กมากๆ ทางที่ดีคือปรับขยายให้เป็น 150% ทุกส่วนจะได้ขนาดที่กำลังพอเหมาะต่อการใช้งาน

    หน้าจอของ Switch 12 คุณภาพดีมาก สว่าง ยังไม่เจออาการแสงลอด ส่วนความแม่นยำของสียังไม่ทดสอบดู (มองด้วยตาติดเหลืองนิดๆ) การพลิกหน้าจอสามารถทำได้สูงสุดราวๆ 135 องศาครับ

    เปรียบเทียบกับคู่แข่ง


    ในตอนนี้คู่แข่งของ Switch 12 นั้นนอกจากพวก Core M ด้วยกันแล้ว คงจะมี Surface Pro 3 ที่ทัดเทียมทั้งในแง่ของประสิทธิภาพ และรูปแบบการใช้งาน ถ้าดูจากในรีวิวก่อนหน้าของ Surface Pro 3 บอกว่านั่นคือ "โน้ตบุ๊กที่ใช้งานเป็นแท็บเล็ต" ได้แล้ว เจ้า Switch 12 ก็เป็นอุปกรณ์ในกลุ่มเดียวกัน แต่ออกแบบมาเป็นโน้ตบุ๊กมากกว่าเป็นแท็บเล็ตมากๆ เช่นเดียวกับน้ำหนักที่มากกว่ากันพอสมควร และไม่สามารถแยกออกได้ (Surface Pro 3 ยกไปเฉพาะแท็บเล็ตจะเหลือแค่ 800 กรัม) ข้อดีที่เหนือกว่ามากๆ คือกินพื้นที่น้อยมากๆ ในแทบทุกรูปแบบการใช้งานนั่นเอง

    มีคำถามอะไร ฝากไว้ได้นะครับ ตัวเครื่องยังอยู่ :D

    Acer, Core M, Review, Notebook
     

แบ่งปันหน้านี้