เมื่อวานนี้ทวิตเตอร์รายงานถึงบัญชีไอโอของกองทัพบกไทยจำนวน 926 บัญชี โดยศูนย์นโยบายไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Cyber Policy Center) ได้รับข้อมูลจากทวิตเตอร์และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียด โดยบทสรุปของรายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าปฎิบัติการไอโอครั้งนี้ได้แต่อวยกันเองโดยไม่มีใครสนใจนัก (รายงานพาดหัวว่า "Cheerleading Without Fans") นับเป็นปฎิบัติการที่ไร้ผล การวิเคราะห์พบว่าบัญชีที่ทวิตเตอร์แบนกลุ่มนี้มักสร้างขึ้นช่วงปลายปี 2019 จนถึงต้นปี 2020 และบัญชีส่วนใหญ่หยุดทวิตไปหลังสร้างบัญชีขึ้นมาไม่นาน ทีมวิจัยคาดว่าทวิตเตอร์คงแบนบัญชีหลังตรวจพบ โดยรวมทั้งกลุ่มแล้วนับเป็นกลุ่มที่แทบไม่มีใครสนใจ มี 684 บัญชีไม่มีใครตามเลย เฉลี่ยทวีตจากกลุ่มทั้งหมดกว่า 21,000 ทวีตมี engagement เพียง 0.26 engagement ต่อทวีตเท่านั้น ปฎิบัติการของกลุ่มนี้มีไม่กี่อย่างเท่านั้น หลักๆ คือการส่งเสียงสนับสนุนบัญชีทางการของกองทัพบก และส่งข้อความทับถม (dogpiling) บัญชีจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ในบางเหตุการณ์ เช่น เหตุกราดยิงโคราช บัญชีเหล่านี้พยายามชี้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ความผิดของกองทัพบก พร้อมกับแสดงความชื่นชมกองทัพว่ารับมือได้ดี ที่มา - Cheerleading Without Fans: A Low-Impact Domestic Information Operation by the Royal Thai Army ปริมาณทวีตของกลุ่มไอโอตามช่วงเวลา เทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ช่วงที่เร่งทวีตหนักคือหลังเหตุกราดยิงโคราช แฮชแท็กยอดนิยมของกลุ่มไอโอกลุ่มนี้ บัญชีที่กลุ่มนิยมเมนชั่นหรือรีทวีต มักเป็นบัญชีทางการของกองทัพ Topics: TwitterThailand