"การส่งออกมีสัดส่วนถึง 74% ของการผลิตในประเทศ จึงดึงให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าไปด้วย" สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง จากผลกระทบส่งออกชะลอ พร้อมประเมินความผันผวนเศรษฐกิจโลก ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า จับตา 4 ปัจจัย "เศรษฐกิจโลก ค่าเงิน น้ำมัน นโยบายการเงิน-คลัง" นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต" ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่ดีกว่าในปีนี้ แต่ยังถือเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรขยายได้ประมาณ 4.5% และหากนับรวมการขยายตัวเศรษฐกิจไทย 2 ปี คือ ปี 2557 และ 2558 เท่ากับว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพมาก หรือมีการขยายตัวไม่ถึง 3% ซึ่งถ้าอนาคตเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับนี้ต่อไป ก็ถือว่าน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ต้องบอกว่าคงไม่มีใครทราบชัดเจนว่าการขยายตัวที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนมาก แต่จากข้อมูลในอดีตและล่าสุด ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น จึงพอสรุปได้ว่า การประมาณการเศรษฐกิจไม่สำคัญเท่ากับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น 4ปัจจัยกระทบศก.ไทยปีหน้า ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมที่มีผลสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะประกอบด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 1.ภาวะเศรษฐกิจโลก 2.ราคาน้ำมัน 3.ค่าเงิน และ 4.นโยบายการเงินและการคลัง สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น เขามองว่า ในภาพรวมจะมีการฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ยกตัวอย่าง กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมาล่าสุด ขยายตัวได้ 3.9%เทียบจากไตรมาส 2 ของปี ผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้น คือ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอาจปรับขึ้นเร็ว และ เกิดความผันผวนในตลาดเงิน กลุ่มยูโรโซนยังเสี่ยงสูง ขณะที่ กลุ่มประเทศยูโรโซนนั้น ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะ 18 ประเทศในกลุ่มนั้น พึ่งพาเศรษฐกิจประเทศเยอรมันมาก ถ้าเศรษฐกิจเยอรมันดี ก็จะดีตามไปด้วย แต่ ณ วันนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้ ถือว่า อยู่ในกลุ่มที่เพิ่งออกจากห้องไอซียู และสามารถกลับเข้าไปในห้องไอซียูได้อีก เพราะกรีซยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งการว่างงานสูง และ ยังมีปัญหาว่า จะสามารถออกจากโปรแกรมความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟได้หรือไม่ ส่วนเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นนั้น กลับมาขยายตัวดีได้ในไตรมาสแรกของปี แต่พอไตรมาสสองและสามกลับมาขยายตัวติดลบต่อเนื่อง ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภา หากเลือกตั้งกลับมาได้อีกครั้ง ก็คาดว่า จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน เช่นเดียวกันกับ กลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งจะทำให้ภาคการเงินมีความผันผวนอีกครั้ง ด้านเศรษฐกิจประเทศจีนนั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเกิดฟองสบู่ ทำให้ขณะนี้ มีความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจดังกล่าว ส่วนภาพรวมของประเทศต่างๆนั้น ก็มีความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางการเมือง และ โรคระบาด ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทย แนะส่งออกเจาะตลาดสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ต้องมีแนวทางบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ก็จะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนของไทยด้วย ยกตัวอย่าง หากญี่ปุ่นและยุโรปหันมาใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงิน สภาพคล่องก็จะมีมากขึ้น เม็ดเงินเหล่านี้ก็จะไหลมาประเทศเกิดใหม่ ทำให้ตลาดหุ้นและพันธบัตรผันผวน กดดันต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของไทย “เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวนั้น ความหมาย คือ เศรษฐกิจสหรัฐฟื้น แต่คนอื่นยังเปราะบาง ฉะนั้น เราคงต้องหันไปพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐให้มากขึ้น จากที่เราเคยหนีจากสหรัฐ และกระจายตลาดส่งออกไปประเทศต่างๆ เมื่อครั้งเกิดวิกฤติ ขณะเดียวกัน เราก็ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศอินโดจีนให้มากขึ้น เพราะสัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มประเทศเหล่านี้มีถึง 8.3%”เขากล่าว สำหรับปัจจัยด้านราคาน้ำมันนั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับที่ไม่สูง สาเหตุเพราะสหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ไม่ดีนัก ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง ส่วนปีหน้า มองว่า ราคาน้ำมัน ก็จะทรงตัวในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันก็จะมีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศผู้ผลิตด้วย จี้รัฐฉวยจังหวะดอกเบี้ยต่ำเร่งลงทุน ส่วนปัจจัยด้านนโยบายการเงินและการคลังนั้น เขากล่าวว่า นโยบายทั้งสองด้านยังสามารถเอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะนโยบายการคลังนั้น ถือว่า เป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 4% และถือเป็นโอกาสดีที่จะใช้นโยบายการคลัง เพราะขณะนี้ ระดับหนี้ต่อจีดีพีอยู่ในระดับ 47% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับไม่สูง “การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการให้ได้ตามแผน บวกกับ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมากถึง 2.9 แสนล้านบาทในปีหน้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 4% แต่หากเราไม่มีการลงทุนวันนี้ อนาคตเราก็ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะสนับสนุนการเติบโต”เขากล่าว ด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น เขามองว่า ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อไม่ถือเป็นข้อจำกัดต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทยนั้น ผูกติดกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยนั้น ผูกติดกับพันธบัตรของสหรัฐ ฉะนั้น แม้ว่า แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวลดลง หากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยก็จะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ชี้ส่งออกดึงเศรษฐกิจโตช้า นายเอกนิติ ยังกล่าวถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปค่อนข้างช้าว่า สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากการบริโภคที่ไม่ขยายตัว แต่เป็นเพราะการส่งออกซึ่งหดตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยการส่งออกมีสัดส่วนถึง 74% ของการผลิตในประเทศทั้งหมด จึงดึงให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าไปด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ราว 2.2% เป็นเพราะไทยไม่มีปัญหาการว่างงาน ซึ่งต่างจากประเทศในยุโรปที่มีปัญหาหนี้สูง แต่ที่จริงแล้ว การบริโภคภาคเอกชนในประเทศก็ควรขยายตัวได้ดีกว่านี้ หรือ ควรจะขยายตัวได้ในระดับ 4% ซึ่งปัจจัยที่ดึงให้ขยายตัวได้น้อย เพราะราคาสินค้าเกษตรโลกที่ตกต่ำ และ ภาวะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การบริโภคขยายตัวได้ไม่เต็มที่ Tags : เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ • ส่งออก • สศค. • เศรษฐกิจโลก • ผันผวน • ยูโรโซน • สหรัฐ • ดอกเบี้ย • รัฐวิสาหกิจ • บริโภค