ตลาดหลักฟื้นดันส่งออกต.ค.โต3.97%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 27 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    พาณิชย์มั่นใจปีนี้ไม่ติดลบ-ลุ้นปีหน้าโต4% เอกชนประเมินปี 2558 ตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัว แนะเร่งหาตลาดใหม่

    พาณิชย์เผยส่งออกเดือนต.ค. ขยายตัว 3.97% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังตลาดหลักโตเกินคาด เฉลี่ย 10 เดือนยังติดลบ 0.36% มั่นใจทั้งปี "ไม่ติดลบ" ส่วนปีหน้าโต 4% ภาคเอกชนประเมินปีหน้า "สหรัฐฯ-ยุโรป"ทรงตัว ขณะญี่ปุ่นแนวโน้มลดลง

    กระทรวงพาณิชย์มั่นใจมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ไม่ติดลบ หลังตัวเลขการส่งออกในเดือนต.ค. ขยายตัว 3.97% เกินกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ ซึ่งช่วยลดแรงกดดันตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ เนื่องจากมีภาคส่งออกเป็นองค์ประกอบสำคัญ

    ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ ทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปรับลดประมาณการต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าส่งออกจะไม่เติบโต หรือ มีอัตราการขยายตัว 0% ขณะที่ประเมินจีดีพีว่าจะขยายตัวได้ 1.5% จากการลงทุนภาครัฐ ขณะสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินเช่นกันว่าการส่งออกจะขยายตัว 0% แต่ประเมินจีดีพีจะขยายตัว 1.5%

    ทั้ง 2 หน่วยงานประเมินตรงกันว่าในปี 2558 การส่งออกจะโตได้ 4% โดยหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว

    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการส่งออกในเดือนต.ค. มีมูลค่า 20,164 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.97% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,132 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.88% ส่งผลดุลการค้าเกินดุล 31.5 ล้านดอลลาร์

    เมื่อรวมการส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 190,620 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.36% นำเข้ามูลค่า 192,106 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9.49% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,486 ล้านดอลลาร์

    พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวอีกว่าการส่งออกขยายตัวดีกว่าคาด เนื่องจากตลาดสำคัญขยายตัวดีขึ้น โดยตลาดสหรัฐขยายตัวถึง 6.4% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 4.1% สหภาพยุโรป ขยายตัว 8.5%

    ส่วนตลาดที่มีศักยภาพสูง คือ ตลาดอาเซียน ขยายตัว 7.2% ขณะจีน ลดลง 7.8%

    “การส่งออกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้ว หากเดือน พ.ย. และธ.ค. สามารถส่งออกได้เดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะทำให้การส่งออกทั้งปี 2557 พ้นจากการติดลบไปได้แน่นอน แต่จะขยายตัวเท่าไรต้องมาดูอีกที แต่ก็คงไม่ถึงกับบวก 1% แต่ปี 2558 มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ขยายตัว 4% ได้อย่างแน่นอน” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

    ด้านการนำเข้าที่กลับมาติดลบนั้น เป็นไปตามมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 19.9% และทองคำที่ลดลง 61.8% โดยสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มชะลอตัว

    ส่วนกลุ่มสินค้าทุน และวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป กลับมาหดตัวอีกครั้ง เนื่องจากได้มีการเร่งนำเข้าก่อนหน้านี้ แต่หากนำทองคำออกจากมูลค่าสินค้านำเข้าจะพบว่า สินค้ากลุ่มนี้มีอัตราขยายตัวที่สะท้อนแนวโน้มการผลิต การบริโภคและการส่งออกในปีนี้ว่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัวได้ดีที่ 6.6%

    คาดปีนี้ส่งออกอาหารโต1-2%

    นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในปี 2558 ว่า ยอดการส่งออกในสินค้าเกษตรและอาหารในปี 2558 คาดว่าจะทรงตัวเท่ากับปีนี้ที่มีมูลค่าประมาณ 9.6 แสนล้านบาท หรืออาจจะขยายตัวได้ประมาณ 1-2% หรืออย่างมากที่สุดก็จะไม่ถึง 5% โดยจะมีมูลค่าประมาณ 9.7-9.8 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คาดว่ายอดส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่าปีก่อน 5% มีมูลค่าประมาณ 9.6 แสนล้านบาท

    "ส่งผลให้ยอดส่งออกรวมทุกสินค้าของไทยจะขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ที่ 5%"

    ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2558 ตลาดหลักยังคงขยายตัวได้ยากโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป ที่จะต่อสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ในปีหน้าทั้งหมด ทำให้สินค้าอาหารในกลุ่มอาหารแปรรูปจะต้องเสียภาษีในอัตราเฉลี่ย 12-14% โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กุ้งสด จะต้องเสียภาษี 12% กุ้งปรุงแต่งเสียภาษี 20% สับปะรดกระป๋อง 25% ปลาหมึก 20% ปลาทูน่า 20% เป็นต้น

    คาดส่งออกไปยุโรปปีหน้าทรงตัว

    นายพรศิลป์ กล่าวว่า ยอดส่งออกสินค้าอาหารไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยในปีหน้าคาดว่ามูลค่าส่งออกจะทรงตัว หรือลดลงไม่มาก เนื่องจากผู้ประกอบการได้เตรียมรับสถานการณ์นี้มากว่า 1 ปี โดยการลดต้นทุนการผลิต และออกไปหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะมีกำไรลดลง หรือขาดทุนบ้างเล็กน้อย

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าอาหารของไทยจะมีคุณภาพสูง แต่ถ้าราคาสูงกว่าคู่แข่งเกิน 5% สินค้าไทยก็แข่งได้ยาก เพราะมีกำไรไม่มาก ส่วนประเทศคู่แข่งที่สำคัญที่จะเข้ามาฉวยโอกาสแย่งชิงตลาดจากไทย ก็จะเป็นประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอเมริกาใต้

    ประเมินปีหน้าส่งออกไปญี่ปุ่นลด

    ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ยังไม่สามารถขยายตัวได้ เพราะเศรษฐกิจถดถอย และค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมาก ดังนั้นยอดการส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นน่าจะลดลงเล็กน้อย หรือเท่ากับปีนี้ ด้านตลาดสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นบ้าง แต่ก็มีสินค้าคู่แข่งจากอเมริกาใต้ ที่มีความได้เปรียบสูงกว่า

    ดังนั้นจึงคาดยอดส่งออกไปสหรัฐฯก็น่าจะทรงตัว ส่วนการออกไปหาตลาดใหม่ เช่น แอฟริกา หรือประเทศอื่นๆ น่าจะขยายยอดการส่งออกได้เพียงสินค้าข้าว ส่วนอาหารแปรรูปคงจะขยายไปตลาดใหม่ได้ยาก เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง เช่น กุ้ง ปลาทูน่า ไก่ ที่ต้องพึ่งพาตลาดหลักที่มีกำลังซื้อสูง

    นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2555-2556 ยอดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยติดลบมาโดยตลอด ซึ่งไม่เพียงแต่ปัญหาตลาดโลกชะลอตัวลงแล้ว ยังมาจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และประเทศไทยเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ยาก เนื่องจากไทยได้ใช้ศักยภาพการผลิตในสินค้าเกษตรเกือบเต็มที่แล้ว ทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ยาก เพราะพื้นที่มีจำกัด

    แนะภาคเกษตรเร่งปรับตัว

    ดังนั้นเกษตรกรจะต้องเร่งพัฒนาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศ เพื่อใช้ทรัพยากรประเทศเพื่อนบ้านขยายศักยภาพการผลิตของไทย รวมทั้งประเทศไทยจะต้องยกระดับคุณภาพการผลิตอาหารไปอยู่ในระดับเอจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับบีบวก และจะต้องยกระดับมาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม

    “ประเทศไทยจะต้องปรับตัวยกระดับมาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เพราะในอนาคตประเทศพัฒนาแล้วจะเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากในปีนี้ที่ไทยถูกกดดันในเรื่องมาตรฐานแรงงานต่างด้าว และใช้แรงงานเด็ก ซึ่งหากไทยยกระดับมาตรฐานในจุดนี้ได้ ก็จะทำให้สินค้าอาหารของไทยก้าวนำหน้าประเทศคู่แข่ง แต่ถ้าไม่สามารถยกระดับมาตรฐานนี้ได้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยอาจจะถดถอยลงเรื่อยๆ” นายพรศิลป์ กล่าว

    สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักของไทย เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา คาดว่าในปี 2558 ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้จะยังคงไม่ดีต่อเนื่องจากปีนี้ และจะอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว แต่ในส่วนของสินค้าข้าว คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคแอฟริกา

    Tags : กระทรวงพาณิชย์ • ส่งออก • จีดีพี • เศรษฐกิจโลก • พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ • เอกชน • พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล • เกษตร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้