ผู้ถือหุ้นใหญ่สิงห์เอสเตท ขายหุ้นรวมกัน 4.04% เพิ่มสภาพคล่องหุ้นในกระดาน ด้านโบรกฯแนะลงทุนกลุ่มอสังหาฯเท่าตลาด รายงานจากสำนักงาน ก.ล.ต.ในแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ246-2) ของบริษัท สิงห์ เอสเตท (S) พบว่า บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด รายงานการจำหน่ายหลักทรัพย์ บริษัท สิงห์ เอสเตท เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2557 จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายคิดเป็น 2.02% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลให้จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่าย คิดเป็น 54.96% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ และมีรายงานการจำหน่ายหลักทรัพย์ บริษัท สิงห์ เอสเตท เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2557 โดยนายสันติ ภิรมย์ภักดี จำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายคิดเป็น 2.02% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ และจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่าย คิดเป็น 34.17% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ก่อนหน้านี้ นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท (S) ระบุว่า บริษัทมีแผนขายหุ้นเพื่อเพิ่มฟรีโฟลทให้เป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ โดยขณะนี้มีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับจากวันที่หุ้น S เริ่มซื้อขาย คือเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2557 ปัจจุบันกลุ่มสิงห์ถือหุ้นบริษัท สิงห์ เอสเตท (S) อยู่กว่า 90% ซึ่งตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีฟรีโฟลทอย่างน้อย 15% โดยมีหลายกลุ่มนักลงทุนที่สนใจเข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มสิงห์ ทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กองทุนทั้งในและต่างประเทศ "กลุ่มสิงห์ยืนยันยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 50% แน่นอน" นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท กล่าว บริษัทมีแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (2558-2562) ใช้งบลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท เน้นการเข้าซื้อกิจการโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นการซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศ 2-3 แห่ง และในประเทศ 7-8 แห่ง รวมถึงมีแผนซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังขาดทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยแหล่งเงินทุนมาจากหลายช่องทาง ทั้งการกู้เงิน การเพิ่มทุน และการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เบื้องต้นจะพิจารณาขายโรงแรม 2 แห่ง มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เข้ากอง REIT ภายใน 2 ปี บริษัทตั้งเป้าภายใน 5 ปี (2562) รายได้รวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของรายได้รวมกลุ่มบุญรอด สัดส่วนรายได้จากค่าเช่า 50% และรายได้จากการขาย 50% และยังมีแผนซื้อที่ดิน 1 พันไร่ รวมถึงสนามกอล์ฟที่เกาะสมุย จากกลุ่มบุญรอด เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการในอนาคต ขณะที่ปี 2558 รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท และพลิกมีกำไรสุทธิได้ จากปีนี้ที่คาดว่าจะขาดทุนสุทธิ 100 ล้านบาท หลังเข้าซื้อกิจการของ บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (RASA) ซึ่งปีนี้จะไม่มีรายได้เข้ามา เพราะไม่มีการพัฒนาโครงการใหม่ บริษัท สิงห์ เอสเตท แจ้งไตรมาส 3 ปีนี้พลิกขาดทุนสุทธิ 77.58 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 4.29 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 106.81 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไร 40.29 ล้านบาท เพราะค่าใช้จ่ายการขายและบริหารเพิ่มขึ้นมาก จากค่าที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียมในการควบรวมกิจการ รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นที่สำนักงานใหญ่ ตามจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจหลังควบรวมกิจการ รวมถึงการปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงโรงแรมสันติบุรี บีช รีสอร์ท กอล์ฟ แอนด์ สปา บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย เท่ากับตลาด จากการศึกษาบริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 10 บริษัทใหญ่ พบว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปีนี้ จะอ่อนตัวลง มีเพียง 3 บริษัทที่เติบโตจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสที่แล้ว เบื้องต้นคาดบริษัทที่ศึกษาข้อมูล จะรายงานกำไรสุทธิ 9,300 ล้านบาท โดยปีนี้ผู้ประกอบการเริ่มลดความเสี่ยงโดยไม่กำหนดส่งมอบปลายปีและให้เริ่มส่งมอบไตรมาส 2 ปีนี้แทน Tags : สิงห์เอสเตท • นริศ เชยกลิ่น • สภาพคล่อง • ก.ล.ต.