งัดภาษีดึงต่างชาติตั้งสนง.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 26 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ดันกรุงเทพฯศูนย์กลางการค้าภูมิภาค เอกชนชี้สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน หนุนอสังหาฯในกรุงโต

    รัฐบาลไฟเขียวดึงต่างชาติตั้งสนง.ใหญ่ในไทย ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี-แก้กฎระเบียบการขออนุญาต ด้าน"โจนส์ แลง"ชี้หนุนอสังหาฯในกรุงเทพ โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน ขณะส.อ.ท.มั่นใจสิทธิประโยชน์จูงใจต่างชาติมากขึ้น

    รัฐบาลเร่งฟื้นความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจของประเทศ เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมการตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย ตามนโยบายสนับสนุนให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เห็นชอบแผนบีโอไอฉบับใหม่

    ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม. เห็นชอบมาตรการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (ไอเอชคิว) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ไอทีซี) ในประเทศไทย ตามที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ โดยมาตรการทั้งหมดประกอบด้วย ทั้งมาตรการทางภาษีและมาตรการไม่ใช่ภาษี ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎระเบียบ

    มาตรการลดและยกเว้นภาษี มีทั้ง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

    ส่วนมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษีและการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เพื่อเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้งไอเอชคิวและไอทีซีในประเทศไทยให้มากขึ้นรวมทั้งรองรับการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นด้วย

    สำหรับมาตรการทางภาษีนักลงทุนต่างประเทศที่จะจัดตั้งไอเอชคิวในไทยจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีที่เป็นรายได้จากค่าบริการ ค่าสิทธิ เงินปันผลจากวิสาหกิจในเครือ ได้รับการยกเว้นภาษี หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินปันผลที่จ่ายโดยไอเอชคิว ไปยังต่างประเทศ ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ ลดอัตราภาษีเหลือ 10%

    ในส่วนยอดขายจากการจัดซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางในประเทศและขายให้กับวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิต รวมทั้งได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนต่างด้าวระดับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้บริหารระดับสูงในไอเอชคิว เหลือ 15% ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการให้กู้ต่อแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยจากการให้กู้ต่อแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศด้วย

    ส่วนการจัดตั้ง ไอทีซี นั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ รวมถึงการลดภาษีเหลือ 10% สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางในประเทศและขายให้กับวิสาหกิจในเครือต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิต ได้รับการยกเว้นภาษี หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผลที่จ่ายโดยไอทีซีไปยังต่างประเทศ

    นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปรับปรุงระเบียบที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษี ได้แก่ การอนุญาต การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการจัดตั้งไอเอชคิวและไอทีซี รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอจะไปจัดทำโครงการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ สำหรับทั้ง 2 กิจการต่อไป

    โจนส์แลงชี้หนุนอสังหาฯในกรุง

    นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัทเจแอลแอล ( โจนส์ แลง ลาซาลล์ ) จำกัด กล่าวว่ามติครม.ถือเป็นแนวคิดที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ช่วยสร้างให้เกิดดีมานด์หรือความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านภาษีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักใหญ่ในประเทศไทยได้ สิ่งสำคัญคือการความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องเน้นนำเสนอข้อดีต่างๆ อย่างรอบด้าน ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมที่บริษัทต่างชาติควรเลือกใช้เป็นที่ตั้งควบคู่ไปกับการพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆที่บริษัทต่างชาติประสบให้ได้มากที่สุด

    รายงานการวิจัยล่าสุดเจแอลแอล ระบุว่า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีอาคารสำนักงานที่สร้างเสร็จแล้วคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 8 ล้านตร.ม. ในจำนวนนี้ เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ 2.6 ล้านตร.ม. และเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) 1.27 ล้านตร.ม. และในจำนวนทั้งหมด 8 ล้านตร.ม. มีพื้นที่ว่างเหลือเช่าเฉลี่ย 17% หรือ 1.36 ล้านตร.ม.

    คาดกลุ่มรถยนต์ขยายสำนักงานในไทย

    นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะมีส่วนจูงใจให้ทางผู้ประกอบการ สนใจเข้ามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางสำนักงานประจำภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยได้เสนอเงื่อนไขที่จูงใจ แต่ต้องพิจารณาว่าคู่แข่ง ได้จูงใจด้วยเงื่อนไขอื่นๆอีกหรือไม่

    ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการศึกษาและสรุปข้อเสนอไปให้กับทางภาครัฐพิจารณามาบ้างแล้ว และเชื่อว่าจะเป็นข้อดีและส่งเสริมให้เกิดการพิจารณามากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมใหญ่เชื่อมโยงกันในหลายส่วน จะเห็นว่า ผู้ประกอบการหลายรายก็เลือกขยายสำนักงานประจำภูมิภาคในไทย เพราะว่ามีฐานการผลิตและสำนักงานวิจัยและพัฒนาอยู่ในไทย ทำให้สะดวกในการบริหารจัดการ

    "ก่อนหน้านี้ไทยเรายังไม่แข่งขันได้โดยเฉพาะในเรื่องของการลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ทำให้สิงคโปร์ สามารถจูงใจในนักลงทุนได้มากกว่า"นายสุรพงษ์ กล่าว

    บอร์ดบีโอไอไฟเขียวยุทธศาสตร์7ปี

    นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน วานนี้(25 พ.ย.) เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 - 2564) ตามที่บีโอไอนำเสนอ

    ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ ส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า ทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนโดยนโยบาย

    หลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะให้ความสำคัญกับประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อภาคอุตสาหกรรมและต่อประเทศเป็นหลัก เช่น กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy กิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ

    มุ่งเป้าหมายอุตฯใช้ความรู้-เทคโนโลยี

    ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่อุตสาหกรรมที่เน้นการวิจัยและพัฒนา การสร้างอุตสาหกรรมบนฐานความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การออกแบบอากาศยาน อุตสาหกรรมไบโอเทค อุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    "การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้งเหลือเฉพาะพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำใน 20 จังหวัดที่รายได้เฉลี่ยประชากรยังต่ำอยู่เท่านั้น และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น หากมีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น 1% ก็จะได้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ลงทุนเพิ่ม 2% ก็จะได้สิทธิพิเศษเพิ่มเป็น 2 ปี เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนตามยุทธศาสตร์ใหม่นี้ช่วยให้รัฐบาลลดภาระทางภาษีที่จะลดเว้นการจัดเก็บภาษีให้กับภาคเอกชนได้ 60% หากเทียบกับมาตรการตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเดิม"

    เอสเอ็มอียกเว้นภาษีเพิ่มอีก2ปี

    นางหิรัญญา กล่าวว่า ที่ประชุมฯบีโอไอยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้สามารถก้าวสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยจะเลือกเฉพาะ 38 ประเภทกิจการจากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี มาเป็นกิจการที่จะให้ส่งเสริมภายใต้มาตรการเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 2 ปีจากเกณฑ์ปกติ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และเพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนของกลุ่มเอสเอ็มอี

    "มาตรการกำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 - 31 ธ.ค. 2560"

    ส่งเสริมเขตศก.พิเศษ5พื้นที่

    นอกจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยโครงการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ ได้แก่ จ.ตาก จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.สงขลา จ.มุกดาหาร โดยหากเป็นกิจการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปีจากเกณฑ์ปกติ

    ส่วนกิจการที่อยู่ในรายชื่อกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามเขตพื้นที่จะได้สิทธิพิเศษเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และสามารถขอลดหย่อนภาษีนิติบุคคลอีก 50% เพิ่มอีก 5 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนที่สูงสุดใกล้เคียงกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

    อนุมัติอีโคคาร์เฟส2รวม3.4หมื่นล.

    นอกจากนี้ที่ประชุมฯบีโอไอยังได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุน รวม 23 โครงการ รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 79,217.2 ล้านบาท โดยมีโครงการที่อนุมัติ คือ โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO -CAR) อีโคคาร์เฟส 2 จำนวน 4 โครงการรวมวงเงิน 34,615.7 ล้านบาท ได้แก่ 1.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน เงินลงทุน 10,406 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ฉะเชิงเทรา

    2.บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด กำลังการผลิตปีละ 110,000 คัน เงินลงทุน 7,610 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จ.ระยอง 3.บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลปีละประมาณ 100,000 คัน เงินลงทุน 8,438.7 ล้านบาท ตั้งที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง และ 4.บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย ) จำกัด กำลังการผลิต 100,000 คัน เงินลงทุน 8,161 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี

    Tags : สนง. • ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ • ครม. • ไอทีซี • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล • ต่างชาติ • ภาษี • โจนส์ แลง ลาซาลล์ • รถยนต์ • หิรัญญา สุจินัย • อุตสาหกรรม

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้