ในงาน Microsoft Ignite 2020 เมื่อคืนนี้ ไมโครซอฟท์ประกาศรีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย (แบบเสียเงิน) ที่กระจัดกระจายใหม่หมด โดยจุดกลุ่มให้เหลือ 2 แบรนด์คือ Microsoft 365 Defender สำหรับฝั่งไคลเอนต์ และ Azure Defender สำหรับฝั่งเซิร์ฟเวอร์ โดยใช้ร่วมกับบริการเก็บข้อมูลความปลอดภัย Azure Sentinel ที่เปิดตัวไปก่อนแล้ว Microsoft 365 Defender เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มตรวจจับภัยคุกคาม หรือที่มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Extended Detection and Response (XDR) ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ย่อยทั้งหมด 4 ตัว Microsoft 365 Defender (เดิมคือ Microsoft Threat Protection) Microsoft Defender for Endpoint (เดิมคือ Microsoft Defender Advanced Threat Protection) Microsoft Defender for Office 365 (เดิมคือ Office 365 Advanced Threat Protection) Microsoft Defender for Identity (เดิมคือ Azure Advanced Threat Protection) การใช้แบรนด์ Microsoft Defender ที่อยู่บนไคลเอนต์มายาวนาน (มีเฉพาะบนวินโดวส์ที่ยังเรียก Windows Defender) คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ของใหม่ที่ประกาศมาพร้อมกันคือ Microsoft Defender for Endpoint ตอนนี้รองรับ Android, iOS และอัพเกรดฟีเจอร์ให้เวอร์ชัน macOS เพิ่มเติม หน้าตาแดชบอร์ดของ Microsoft 365 Defender Azure Defender เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่ม XDR ของฝั่งเซิร์ฟเวอร์ ที่ใช้แบรนด์ Azure เพื่อให้สื่อถึงความเป็นเซิร์ฟเวอร์ เดิมทีไมโครซอฟท์ใช้ชื่อว่า Azure Security Center แต่ล่าสุดเปลี่ยนมาใช้คำว่า "Defender" ให้เหมือนกันทั้งหมด Azure Defender มีผลิตภัณฑ์ย่อยในเครือ 3 ตัว Azure Defender for Servers (เดิมคือ Azure Security Center Standard Edition) Azure Defender for IoT (เดิมคือ Azure Security Center for IoT) Azure Defender for SQL (เดิมคือ Advanced Threat Protection for SQL) หน้าตาแดชบอร์ดของ Azure Defender Azure Sentinel นอกจากผลิตภัณฑ์กลุ่ม XDR ที่ใช้แบรนด์ Defender แล้ว ไมโครซอฟท์ยังมีผลิตภัณฑ์สายความปลอดภัยอีกกลุ่ม ที่เน้นเรื่องการจัดการข้อมูลความปลอดภัย ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า Security Information and Event Management (SIEM) ในชื่อแบรนด์ Azure Sentinel เปิดตัวเมื่อกลางปี 2019 Azure Sentinel ไม่ได้ถูกรีแบรนด์ใหม่ในรอบนี้ แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในชุดความปลอดภัยที่ใช้คู่กับ Microsoft Defender อย่างแนบแน่นเช่นกัน หน้าตาแดชบอร์ดของ Azure Sentinel คลิปอธิบายแบรนด์ใหม่ของสายความปลอดภัยไมโครซอฟท์ ที่มา - Microsoft Security Topics: Windows DefenderMicrosoftSecurityMicrosoft AzureEnterprise