โฆสิตย้ำดบ.2%เหมาะฟื้นศก.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 25 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "โฆสิต" มองดอกเบี้ยเหมาะสมสนับสนุนการฟื้นตัว ชี้แนวโน้มศก.โตลดลง ทีดีอาร์ไอระบุ ดอกเบี้ยสูง ไม่หนุนเติบโต

    การหารือของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในรอบที่ผ่านมา เริ่มมีเสียงคิดต่าง 1 เสียงเสนอให้ลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อีก 6 เสียงยืนยันให้คงดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิม สอดคล้องกับมุมมองของนายแบงก์ที่ประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม

    เช่นเดียวกับมุมมองของ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นดอกเบี้ยนโยบาย ตนมองว่าดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายว่ามีความพอใจกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันหรือไม่

    "เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับมุมมองว่า ใครมองอย่างไร สำหรับผมเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เริ่มมีให้เห็นแล้ว และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวได้ ส่วนทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป ต้องพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐด้วย"นายโฆสิต กล่าว

    นายโฆสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา มีการชะลอตัวลง โดยก่อนช่วง 30 ปี ก่อนปี 2540 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่สูงถึง 7% ต่อปี แต่พอหลังจากปี 2540 เป็นต้นมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลือเพียง 3% ทำให้เราต้องหาสาเหตุของการเติบโตเศรษฐกิจที่ลดลง

    เช่นเดียวกับการส่งออกที่ปี 2556 ชะลอตัวลง โดยหลายฝ่ายให้เหตุผลถึงการหดตัวลงของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ 2557 การเติบโตของการส่งออก ยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น และเมื่อพิจารณาการส่งออกจากต้นปีถึงเดือนก.ย. มีการปรับตัวลดลงถึงขั้นติดลบ สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว สะท้อนให้เห็นถึงการมีปัญหาด้านโครงสร้างการส่งออก

    ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทย จะยิ่งเผชิญความท้ายในอนาคต ในการเข้าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ประชากรจะมีอายุยืนขึ้น ทางรอดของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ การเก็บออมเงินและการลงทุน ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น ทำให้ในอนาคตรัฐบาล ต้องหาเงินทุนในการให้สวัสดิการกับประชาชนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้เพียง 17% ของจีดีพีเท่านั้น

    ด้านนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยในการสัมมนาวิชาการประจำปี2557 ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า: สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ของทีดีอาร์ไอว่า ปัจจุบันแหล่งการระดมทุนด้านภาคการเงินมีเสถียรภาพที่ดีมาก และเป็นจุดเด่นของเศรษฐกิจไทย แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า สถาบันการเงินมีการคิดดอกเบี้ยที่สูง และอาจไม่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

    "ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งมาก ถือเป็นจุดเด่นของเศรษฐกิจไทยในมหภาค ผลมาจากวิกฤติการเงินปี 2540 ที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เน้นความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีความแข็งแกร่งมาก แต่หากพิจารณาจะพบว่า ต้นทุนดอกเบี้ยของประเทศไทยมีค่อนข้างสูงมาก ทำให้เป็นที่น่าสนใจว่าดอกเบี้ยระดับดังกล่าวสนับสนุนการลงทุนหรือไม่"นางเดือนเด่น กล่าว

    ทั้งนี้ประเทศไทยมีปัญหาในการจัดการแหล่งเงินทุนที่มีความเหมาะสม โดยพิจารณาได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารของรัฐวิสาหกิจมีจำนวนสูงมาก อย่างในธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีแบงก์ มีเอ็นพีแอลสูงถึง 31.9% ขณะที่ธนาคารอิสลามอยู่ที่ 29.2% ส่วนทางกับภาคเอกชนที่มีจำนวนเอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งยกระดับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีขึ้น

    Tags : โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ • ทีดีอาร์ไอ • เศรษฐกิจ • ดอกเบี้ย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้