"ไทยพาณิชย์" มองเอสเอ็มอีฟื้นตัวชัดเจนปลายปี 58 ดันสินเชื่อโตไม่ต่ำกว่า 10% หลังกำลังซื้อเริ่มฟื้น ธนาคารไทยพาณิชย์ มองธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะฟื้นตัวชัดเจนช่วงปลายปี 2558 โดยเริ่มฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ หลังกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศกลับมามากขึ้น รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น นายวิพล วรเสาหฤท ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปีหน้าไทยพาณิชย์ตั้งเป้ายอดการปล่อยสินเชื่อเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% หลังเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณด้านต่างๆ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้มาก ได้แก่ วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง การท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนปีนี้มองว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อจะไม่เติบโตขึ้นจากปีก่อน หรืออาจเติบโตได้เพียง 1% หลังเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก จากปัญหาทางการเมืองช่วงครึ่งปีแรก" นายวิพล กล่าว ปัจจุบันไทยพาณิชย์มีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี 300,000 ล้านบาท โดย 3-5 ปีข้างหน้าตั้งว่ายอดปล่อยสินเชื่อจะเติบโตขึ้นสองเท่าเป็น 600,000 ล้านบาท ตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งจะมีสัดส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของจีดีพีประเทศไทย จุดเด่นสำคัญของเอสเอ็มอี คือ ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่รวดเร็วกว่าบริษัทขนาดใหญ่ "แม้ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงไปมาก แต่สัดส่วนหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของพอร์ตสินเชื่อยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่กว่า 2% จากปีก่อนอยู่ที่ 2% ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่มีปัญหาและต้องปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารมองว่า ส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากเจ้าของกิจการมีวินัยทางการเงิน และร่วมมือวางแผนอย่างดีกับธนาคาร โดยปีที่ผ่านมาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ และการเกษตรเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหามากที่สุด" นายวิพล กล่าว สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการค้ำประกันฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.ปีหน้านั้น ไทยพาณิชย์ มองว่า จะกระทบกับเอสเอ็มอีโดยตรง เพราะสถาบันการเงินจะกังวลเรื่องการให้สินเชื่อมากขึ้น แต่กฎหมายใหม่นี้ เป็นเพียงอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจมีขั้นตอนยุ่งยากขึ้น แต่อนาคตจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยขณะนี้ไทยพาณิชย์เร่งให้นักกฎหมาย ทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง รวมถึงตรวจสอบผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น รวมถึงหนี้สินภาคครัวเรือนก็เริ่มปรับตัวลง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ หลังเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปลายปี 2556 "คาดว่าภาวะของการบริโภคภายในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนปีหน้าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นอีก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจะเติบโตได้มากในปีหน้าคือ ธุรกิจบริการซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะเป็นสินค้าขนาดเล็กที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้ดี" นายเจน กล่าว ขณะที่ปีหน้าสภาอุตสาหกรรม มีนโยบายที่จะส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีต่อไป ทั้งการจัดหาช่องทางจำหน่าย การพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมไปถึงส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสุดยอดสินค้าคุณภาพราคาโรงงานขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอีกด้วย ล่าสุดวานนี้ (24พ.ย.) ธนาคารไทยพาณิชย์ สานสัมพันธ์ ไทย-จีน จัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์นักธุรกิจกว่า 20 บริษัทชั้นนำจากมณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจผลิตยางล้อรถยนต์ และเครื่องจักรกล โดยธนาคารเตรียมความพร้อมในการให้บริการลูกค้าจีนที่ต้องการมาลงทุนในไทย ซึ่งได้ตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อดูแลลูกค้าธุรกิจจีนเฉพาะ เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแบบครบวงจร ตลอดจนข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงลึก เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน นับเป็นการสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจจีนในการมาลงทุนไทย นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลมณฑลชานตง ได้นำคณะนักธุรกิจชั้นนำในมณฑลชานตง มาศึกษาช่องทางการลงทุนและการค้าที่ไทยครั้งนี้ นอกจากทำเลที่ตั้งของไทยอันเป็นศูนย์กลางอาเซียนแล้ว ยังมีวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะยางพาราธรรมชาติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรต้นน้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่จีนเป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่ง ซึ่งธนาคารเชื่อว่าในอนาคตไทยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อจีน ในการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ซึ่งมีมูลค่ายอดขายกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และเป็นที่น่าสนใจว่ากว่าครึ่งกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง ธนาคารไทยพาณิชย์มีความตั้งใจและพร้อมให้บริการแก่นักธุรกิจจีน ที่จะมาลงทุน หรือทำการค้ากับไทยไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน การให้ข้อมูลธุรกิจเชิงลึก และแนะนำให้นักธุรกิจจีนร่วมมือกับนักธุรกิจไทย Tags : ไทยพาณิชย์ • เอสเอ็มอี • สินเชื่อ