จากมาตรการจัดเก็บภาษีบริการดิจิทัลใหม่ (Digital Services Tax หรือ DST) ที่รัฐบาลอังกฤษเสนอให้สหภาพยุโรปเก็บเพิ่ม บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อย่าง Google, Apple และ Amazon เริ่มสื่อสารกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ว่าจะขึ้นค่าธรรมเนียมเพิ่มเช่นกัน มาตรการจัดเก็บภาษีดิจิทัลมาจากประเด็นว่าบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เข้ามาสร้างรายได้จากประชาชนยุโรปได้มหาศาล แต่ยุโรปสามารถจัดเก็บภาษีน้อยนิด เพราะเก็บได้เฉพาะภาษีรายได้นิติบุคคลเท่านั้น (แถมบริษัทเหล่านี้ยังมีกลเม็ดในการเลี่ยงภาษีนี้อีกหลายทาง เช่น การตั้งบริษัทในประเทศที่ภาษีต่ำๆ อย่างไอร์แลนด์) ทำให้ในปี 2018 รัฐบาลอังกฤษ จึงได้เสนอให้จัดเก็บภาษีบริการดิจิทัลเพิ่ม โดยเป็นการเพิ่มภาษีจากรายได้ใดๆ ที่เกิดจากบริการดิจิทัลในยุโรป (เช่น ค้นหา, โซเชียลมีเดียและการค้าออนไลน์) และเป็นการเก็บเพิ่มเติมนอกเหนือจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียอยู่แล้ว ภาพการประชุมสภาคองเกรส ไต่สวนบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ประเด็นผูกขาด แต่ละประเทศมีมาตรการเก็บภาษีบริการดิจิทัลเพิ่มไม่เท่ากัน และบังคับใช้ในช่วงเวลาต่างกัน อย่างภาษีบริการดิจิทัลของฝรั่งเศสเก็บเพิ่ม 3% มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา, อิตาลีเก็บเพิ่ม 3% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม, ตุรกีเก็บเพิ่มที่ 7.5% บังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม, อังกฤษเก็บ 2% เริ่มในเดือนเมษายน สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นบริษัทเหล่านี้ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าหรือคู่ค้าเพิ่มเติม จึงอาจมองได้ว่าเป็นการผลักภาระภาษีไปที่ลูกค้าอีกที Google แจ้งกับลูกค้าผู้ลงโฆษณาว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 เป็นต้นไป จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับโฆษณาที่แสดงบน Google และ YouTube เนื่องจากต้องจ่ายภาษีดิจิทัลในตุรกีและออสเตรีย 5% และในอังกฤษ 2% Amazon ก็เพิ่มค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ขายในอังกฤษอีก 2% เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น โดยมีผลในวันที่ 1 กันยายน Apple มีประกาศ เปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์บน App Store ในบางประเทศที่เคาะจัดเก็บภาษีเพิ่ม อย่างอังกฤษ เพิ่ม 2%, อิตาลีกับฝรั่งเศส เพิ่ม 3%, ตุรกีเพิ่ม 7.5% ที่มา - Business Insider , The Verge Topics: EUTaxGoogleAppleAmazon