โครงการ Project Loon คืบหน้า ปล่อยบอลลูนได้วันละ 20 ลูก ลอยค้างได้นานกว่า 100 วัน

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 24 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ Project Loon ที่ Google ได้เลือกทำเลทดสอบอุปกรณ์ที่ออสเตรเลียโดยได้รับความร่วมมือจาก Telstra ในการทดสอบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตจริง ตอนนี้ Google ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการว่าทีมงานสามารถส่งบอลลูนขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศได้ถึงวันละ 20 ลูก และบอลลูนเหล่านั้นก็สามารถลอยค้างฟ้าได้นานขึ้นเป็น 100 วัน

    แนวทางที่สำคัญของโครงการ Project Loon นั้นก็คือการส่งบอลลูนขึ้นสู่ท้องฟ้าให้กระจายตัวเป็นวงแหวนรอบโลก ซึ่งประเมินจำนวนบอลลูนที่ต้องใช้มากถึง 7,000 ลูก ดังนั้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานส่งบอลลูนขึ้นฟ้าให้รวดเร็วขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จเร็วขึ้น โดยตอนนี้ทีมปฏิบัติการได้สร้างเครื่องเติมแก๊สอัตโนมัติช่วยย่นเวลาบรรจุแก๊สใส่บอลลูนได้ใน 5 นาที ทำให้สามารถปล่อยบอลลูนได้วันละ 20 ลูก

    ในแง่ของการปรับปรุงอุปกรณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับตอนเริ่มโครงการในปีที่แล้ว ตอนนั้นบอลลูนของ Google สามารถลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์แค่ราว 10 วันเท่านั้น ดังนั้นการที่อุปกรณ์ซึ่งได้รับการปรับปรุงสามารถทำงานบนชั้นบรรยากาศได้นานกว่าเดิมมากกว่า 10 เท่าจึงถือเป็นพัฒนาการสำคัญ (สถิติสูงสุดตอนนี้คือ 130 วัน) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของทีมงานให้ทนุถนอมบอลลูนก่อนทำการปล่อยยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า ทีมผลิตบอลลูนต้องสวมถุงเท้าขนปุยในระหว่างทำงานซึ่งต้องเดินเหยียบไปบนบอลลูนระหว่างการผลิต

    นับถึงตอนนี้การทดสอบของโครงการ Project Loon ได้ปล่อยบอลลูนเคลื่อนที่รวมเป็นระยะทางกว่า 3 ล้านกิโลเมตรแล้ว ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำให้ทีมโครงการสามารถพยากรณ์ทิศทางของกระแสลมบนบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างการปล่อยบอลลูนชุดหนึ่งให้เคลื่อนที่ไกลกว่า 9,000 กิโลเมตรนั้นพบว่ามันสามารถเดินทางไปถึงพิกัดทำการจากพื้นที่เป้าหมายเพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งความแม่นยำในการกำหนดจุดปล่อยบอลลูนเพื่อส่งมันไปยังพื้นที่เป้าหมายนี้จะช่วยให้ประสิทธิภาพการรับ-ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตระหว่างบอลลูนและภาคพื้นดินทำได้ดีขึ้น

    หวังว่าโครงการ Project Loon จะประสบความสำเร็จใช้งานได้จริงในอีกไม่ช้า

    ที่มา - +Project Loon

    [​IMG]

    Project Loon, Google
     

แบ่งปันหน้านี้