เทคโนโลยี Deep Tech อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (robotics)เริ่มได้รับความสนใจและมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่บริษัทสายนี้ยังถือว่ามีค่อนข้างน้อยในไทย และข่าวความก้าวหน้าต่างๆ กลับมาจากบริษัทต่างประเทศแทบทั้งหมด บริษัท AI and Robotics Venture (ARV) เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปตท. สผ. (PTTEP) เติบโตขึ้นมาจากการเป็นเพียงชมรมหุ่นยนต์เล็ก ๆ ในบริษัท ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นบริษัทลูกเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนวงการ AI/Robotics และตอนนี้ก็มีผลงานที่จับต้องได้ มีการใช้งานจริงออกมาให้เห็นกันแล้ว ARV กำลังมองหานักพัฒนาและวิศวกรมาร่วมงานจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายของการเป็นผู้นำด้าน AI/Robotics ในประเทศไทย จุดเริ่มต้นจากชมรมสู่การสปินออฟบริษัทลูก ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไปของ ARV เล่าถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท ว่าเริ่มขึ้นเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว จากการรวมตัวของพนักงาน ปตท. สผ. หลากหลายฝ่าย ที่ส่วนใหญ่มีแบ็คกราวด์เป็นวิศวกร และต้องการหาเทคโนโลยีมาเพื่อช่วยงานภายในบริษัท ก่อนจัดตั้งขึ้นเป็นหนึ่งในชมรมของ ปตท. สผ. ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กิจกรรมช่วงแรก ๆ ของชมรมแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการชวนพนักงานที่สนใจเรื่องหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือไม่ มาทำกิจกรรมร่วมกันในเวลาว่าง เช่น การเขียนแอป พัฒนาซอฟต์แวร์หรือประกอบโดรน อีกด้านคืองานวิจัยและพัฒนาที่ออกแบบหุ่นยนต์มาช่วยแก้ปัญหาให้ ปตท. สผ. โปรเจ็คแรก ๆ ของชมรมคือการนำโดรนมาช่วยงานภายในองค์กร ก่อนจะกลายเป็นโปรเจ็คพัฒนา "โดรนตรวจสอบเพื่อซ่อมบำรุงปล่องเผาเชื้อเพลิงส่วนเกิน" (Flare Stack) ที่ทีมงานช่วยกันพัฒนาขึ้นมาจากศูนย์ ไม่ได้นำโดรนยี่ห้อไหนมาดัดแปลงเลยแม้แต่น้อย การตรวจสอบเพื่อซ่อมบำรุงปล่องเผาเชื้อเพลิงส่วนเกิน เดิมมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์และช่างกล้องมาบินวนรอบปล่องเพื่อถ่ายรูป เมื่อมีโปรเจ็คโดรนนี้เกิดขึ้น จึงช่วยลดต้นทุนการบำรุงรักษาของ ปตท. สผ. ได้มาก แถมยังสามารถขยายไปให้บริการเชิงพาณิชย์กับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ปตท. และพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ สำหรับตรวจสอบตึกอาคารสูง หรือการตรวจสอบเสาสัญญาณโทรคมนาคม เป็นต้น อีกโปรเจ็คที่เริ่มต้นช่วงใกล้ ๆ กันคือการพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจสอบซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ ที่พัฒนาร่วมกับภาควิชาวิศวคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังส่งไปแข่งขันในรายการ RoboSub รายการแข่งขันหุ่นยนต์ใต้น้ำระดับสากล หุ่นยนต์ตัวนี้เข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ จากเดิมที่หุ่นต้องใช้รีโมทควบคุม ทำให้ต้องมีเรือให้คนนั่งไปด้วย ต้องใช้เรือสำรวจที่มีสเปคสูงและค่าใช้จ่ายสูง แต่การทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการใช้เรือสำรวจที่มีสเปคสูงลงได้ เพราะขับหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถเคลื่อนตัวเองไปตามท่อ แยกแยะวัตถุ เก็บข้อมูลท่อว่าเสื่อมสภาพไปมากน้อยแค่ไหนด้วยซอฟต์แวร์แบบ machine learning และ deep learning (ML/DL) ด้วยตัวเอง ทำให้นับได้ว่าเป็นหุ่นสำรวจท่อใต้น้ำแบบอัตโนมัติตัวแรกของโลก จากความสำเร็จของโปรเจ็คโดรน และความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ใต้น้ำ ทำให้เมื่อปี 2018 ชมรมหุ่นยนต์ได้รับความสนใจจากผู้บริหารของ ปตท. สผ. ที่เริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ ชมรมหุ่นยนต์ถูกจัดตั้งแยกออกมาเป็นบริษัทลูกที่มี ปตท. สผ. ถือหุ้นทั้งหมดในชื่อบริษัท AI and Robotics Venture (ARV) เมื่อประมาณกลางปี 2019 นอกจากโดรนตรวจสอบซ่อมบำรุงและหุ่นยนต์ใต้น้ำที่สมบูรณ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกโปรเจ็คที่เป็นตัวชูโรงของ ARV ที่กำลังพัฒนาร่วมกับสตาร์ทอัพของนอร์เวย์คือหุ่นยนต์ซ่อมท่อใต้ทะเลตัวแรกของโลก พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนการส่งนักประดาน้ำลงไปซ่อม ตอนนี้การพัฒนาคืบหน้าไปราว 90-95% และกำลังทดสอบอยู่ที่นอร์เวย์ โดยถ้าไม่ติดโควิดไปเสียก่อน ก็น่าจะนำมาทดสอบในอ่าวไทยแล้ว ไม่ใช่แค่บริษัทหุ่นยนต์ แต่เป็นแพลตฟอร์มเพื่อวิจัย พัฒนาและลงทุน ดร.ธนา บอกว่าเป้าหมายของ ARV ไม่ใช่แค่บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์อย่างเดียว แต่มองตัวเองเป็นหน่วยงานลงทุน (venture arm) ของ ปตท. สผ. ที่จะสร้างแพลตฟอร์มและมองหาธุรกิจใหม่ด้าน AI/Robotics ให้กับ ปตท. สผ. ในระยะยาวด้วย แนวทางของ ARV คือตั้งบริษัทลูกแยกออกมาเพื่อดูแลธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ตอนนี้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทลูกของไทยคม เพื่อดูแลธุรกิจเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น การทำโดรนพ่นยา พ่นปุ๋ย เพื่อให้บริการแบบ sharing economy เอาไว้แล้ว โดยในปี2020นี้ ARV มีแผนจะตั้งบริษัทลูกเพิ่มอีก 3-4 บริษัท เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจจากโซลูชันที่ตอนนี้ ARV มีอยู่ในมือได้แก่ โดรนสำหรับงานตรวจสอบ (multi-purpose inspection octocopter) โดรนแปรอักษร (swarm drones) ยานยนต์ใต้น้ำบังคับระยะไกล (Observation class Remotely Operated Underwater Vehicle - OBS-ROV) หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea FLowline Control and Repair Robot - SFCR) หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspectgion-class Autonomous Underwater Vehicle - IAUV) มัลติโดรนเพื่อสนับสนุนภารกิจดับเพลิง (Multi-Firefighting Drones) เป้าหมายของ ARV ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าคือจะต้องเป็นผู้นำด้าน AI/Robotics ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ดร. ธนา มองว่ามูลค่าทางธุรกิจของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะทุกอุตสาหกรรมต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปช่วย ดังนั้น ARV มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นธุรกิจ New S-Curve ให้กับ ปตท. สผ. ได้ในท้ายที่สุด วัฒนธรรมองค์กร ARV เพิ่งตั้งได้ไม่นาน วัฒนธรรมองค์กรหลายอย่างยังอยู่ในกระบวนการสร้างและปรับตัว ซึ่ง ปตท. สผ. ในฐานะบริษัทแม่ก็ให้อิสระ และพร้อมเปิดรับหากอยากปรับอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร ตอนนี้ ARV มีวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อนข้าง flat เปิดให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ สนับสนุนการลองผิดลองถูก เพราะธุรกิจในลักษณะนี้ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ แต่ที่สำคัญคือต้องล้มเร็วลุกเร็ว ต้องมีวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ (entrepreneur) เพราะต้องมองหาและรีบคว้าโอกาสที่เข้ามาอยู่ตลอด ในแต่ละทีมย่อย เช่น ทีมซอฟต์แวร์ก็มีวัฒนธรรมหรือกระบวนการทำงานย่อยของตัวเอง ด้วยการเอา Agile มาใช้แบบ 100% ข้อดีของการเป็นบริษัทลูกของ ปตท. สผ. คือ ARV มีทั้งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม อุปกรณ์และเวิร์คช็อปที่ครบครัน มีพื้นที่จริงสำหรับทดลองและ use case สำหรับแก้ปัญหาจริง จากทั้งปัญหาภายใน ปตท. สผ. เองหรือเครือข่ายพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง มองหาพนักงานแบบไหน ARV กำลังมองหาพนักงานคนรุ่นใหม่ที่เก่ง มี passion ที่อยากทำอะไรใหม่ ๆ และกล้าลองผิดลองถูกในสาย AI/Robotics และเป็นคนที่เปิดรับความเห็นต่างจากเพื่อนร่วมงาน ที่ตั้งออฟฟิศ ออฟฟิศ ARV ตั้งอยู่ที่อาคารภิรัช (Bhiraj Tower) ถนนสาทร ติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสุรศักดิ์ เสียงตอบรับจากพนักงาน จตุวัฒน์ เสงี่ยมพักตร์ UX/UI Designer ทำงานที่นี่เป็นที่แรก ทำมาราว 1 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เคยฝึกงานที่นี่มาก่อนด้วย เลือกมาทำงานที่นี่เพราะรู้สึกประทับใจตั้งแต่ตอนฝึกงาน รู้สึกว่าเนื้องานตอบโจทย์และได้ทำงานจริง ที่สำคัญคือเปิดให้แม้กระทั่งเด็กฝึกงานสามารถคิดและนำเสนอไอเดีย ประทับใจสภาพแวดล้อมในการทำงานและเพื่อนร่วมงาน เพราะทุกคนเก่ง ได้เรียนรู้ รวมถึงมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่คล้ายกัน ทำให้เข้ากันง่าย ทำงานเป็นครอบครัว และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมเร็วมาก คนที่จะเหมาะกับการทำงานที่นี่ จะต้องเป็นคนที่กล้าแสดงความเห็น และกล้าเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น ศิรวัชร ศกศวัตเมฆินทร์ Software Robotics Engineer เพิ่งมาทำงานที่นี่ได้ 4 เดือน ก่อนหน้านี้เคยทำสตาร์ทอัพสาย AI/Robotics มาก่อน ความแตกต่างของที่นี่ที่ชัดเจนเลยคือระบบการทำงานที่ดีกว่า และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ครบครันกว่า อย่างเช่นการมี workshop ให้ที่ออฟฟิศเลย คนที่เหมาะกับการทำงานที่นี่จะต้องชอบขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ ชอบท้าทายตัวเอง ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะหุ่นยนต์เป็นเหมือนศาสตร์แห่งศิลป์ (state-of-the-arts) การแปลงงานวิจัยในห้องแล็บ ให้ออกมาเป็นโปรดักจริงจะต้องใช้ความสร้างสรรค์ และต้อง improvise อยู่ตลอด กันดิศ วงศ์สุวรรณ Software Robotics Engineer ทำงานได้ราว 1 ปี ก่อนหน้านี้เคยทำกับบริษัทแบบ corporate ทำให้รู้สึกการทำงานที่นี่ค่อนข้างยืดหยุ่นกว่า ให้อิสระ ทำให้รู้สึกว่าการทำงานไม่เครียดและได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ ที่นี่ค่อนข้างสนับสนุนความคิดริเริ่ม (initiative) ไม่ได้จำเป็นต้องทำตามคำสั่งอย่างเดียว เมื่อคิดโปรเจ็คได้แล้วก็สามารถขอความเห็นไปจนถึงของบเพื่อทำได้ แถมมีอิสระในการทำงานด้วย การทำงานที่นี่ให้ความรู้สึกว่างานวิจัยไม่ได้ถูกเอาขึ้นหิ้ง เพราะ ARV มีงบในการทำ R&D และพยายามผลักดันให้งานวิจัยต่าง ๆ ออกมาเป็นรูปธรรมและออกสู่ตลาดได้จริงๆ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปดูตำแหน่งงานที่ ARV เปิดตัวได้ที่นี่ Topics: RoboticsArtificial IntelligenceBlognone Workplace