ผู้ค้าจักรยานเผยสัญญาณบวก ผู้บริโภคยอมรับ รู้จักมากขึ้น หวังส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ ดันรายได้ปีนี้โต 20% ผู้ค้าจักรยาน เผยสัญญาณบวก ผู้บริโภคยอมรับ รู้จักมากขึ้น คาดส่งผลดีในอนาคต หลังปี 2556 มูลค่าตลาดรวม 5,000 ล้านบาท ยอดขายโตต่อเนื่อง แต่ยังรอเวลาฟันธงตลาดรุ่งหรือไม่ ด้าน ททท. หวังส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศ ดันรายได้ปีนี้โต 20% ปัญหาสภาพการจราจรที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ผนวกกับกระแสการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สินค้าตัวหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ คือ รถจักรยาน ได้รับผลดีตามไปด้วย ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่ที่อยู่ในวงการมายาวนาน ก็ยังไม่ระบุชัดว่าอนาคตตลาดจะเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อว่ามีการส่งสัญญาณที่ดีออกมาจากผู้บริโภคขณะนี้ นางสาวจันทนา ติยะวัชรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จํากัด ผู้นำตลาดรถจักรยานกล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ตลาดรถจักรยานในปัจจุบัน ยังระบุไม่ได้ว่ามีขนาดที่น่าพอใจหรือไม่ แต่กล่าวได้ว่าเห็นพัฒนาการและการเติบโตแบบมีนัย ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพรวมตลาด สร้างการรับรู้ สร้างตลาดอนาคต "สิ่งที่น่าดีใจก็คือ การรับรู้ในเรื่องของจักรยาน และการยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ แต่จะไปหาซื้อมาใช้เลยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางคนอาจจะยอมรับและชื่นชอบในรถจักรยาน แต่ยังไม่พร้อมที่จะใช้งานในขณะนี้ แต่ก็ถือว่ากระแสนี้น่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจจักรยานในอนาคต" ส่วนของ แอลเอ กรุ๊ป ซึ่งมีสินค้าหลายยี่ห้อ ทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้า ซึ่งปัจจุบันกลุ่มครองตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยส่วนแบ่งประมาณ 60% มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 15-20% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นการบ่งบอกถึงกระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงต้นปีนี้ พบว่าตลาดเริ่มสะดุด เนื่องจากปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดในเมืองพบว่ายอดขายหดตัวลงไป 15-20% แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง ตลาดจะกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้งหนึ่ง สำหรับภาพรวมตลาดรถจักรยานขณะนี้ พบว่ามีผู้ทำตลาดเป็นจำนวนมาก และมีรายใหม่เข้ามาเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ พบว่ามีประมาณ 5-6 กลุ่ม โครงสร้างตลาดปัจจุบันมีตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงตลาดบน โดยตลาดใหญ่สุด คือ ตลาดแมส (MASS) มีราคาจำหน่ายในระดับประมาณ 1,000-30,000 บาท กลุ่มนี้มีสัดส่วนการขายประมาณ 60-70% และเป็นกลุ่มที่สินค้ามีความหลากหลายมากที่สุด ทั้งรถพับ รถใช้งานทั่วไป รถบีเอ็มเอ็กซ์ หรือ เสือหมอบ เป็นต้น ส่วนตลาดบน ระดับราคา 50,000- 200,000 บาท ก็ถือว่ามีผู้เล่นเป็นกลุ่มก้อน "ขณะที่ตลาดที่ราคาสูงกว่านั้นถึงระดับ 600,000 บาท ก็มีเช่นกัน แต่ค่อนข้างน้อย เป็นติ่ง เหมือนส่วนยอดสามเหลี่ยม" คนไทยนิยมจักรยานสหรัฐ-ยุโรป สำหรับความนิยมในตลาดรถจักรยานไทย ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อจากสหรัฐ และยุโรป โดยรถจากสหรัฐเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างจริงจังมากกว่า 10 ปี ตามด้วยยุโรป แต่การผลิตส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างจากประเทศจีนและไต้หวัน เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยก็ผลิตรถจักรยานเองเช่นกัน ทั้งการรับจ้างผลิต และผลิตยี่ห้อของตัวเอง เพื่อรองรับตลาดทั้งในประเทศและส่งออก โดยตลาดส่งออกหลักคือ ยุโรป ที่นิยมใช้รถจักรยานกันมาก ซึ่งส่วนของ แอลเอ กรุ๊ป ส่งไปยุโรปมากกว่า 95% ในระดับราคาคันละ 120-600 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,600-18,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีตลาดกลุ่มยี่ห้อรถยนต์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ผู้ผลิตรถจักรยานซื้อลิขสิทธิ์มาผลิต ซึ่งจะมีระดับราคาเหมือนตลาดทั่วไป กับกลุ่มที่เจ้าของยี่ห้อรถยนต์ผลิตเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายยุโรป จะมีจำนวนไม่มาก มียอดขายน้อย และมีราคาสูงในระดับหลายแสนบาท ตลาดจักรยาน 5 พันล้าน นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ผู้จัดงาน บางกอก ไบค์ 2014 กล่าวว่า ปัจจุบันรถจักรยานได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริโภคและผู้ทำตลาดเพิ่มขึ้น เห็นจากการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 พบว่ามีผู้จำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน 200 บูธ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมถึงมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน เข้าร่วม ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดผลดีในอนาคต คือ เกิดโอกาสทางธุรกิจ ที่มีการเชื่อมโยงการค้าขายหรือลงทุนระหว่างกัน ขณะที่ความนิยมในตลาดรถจักรยาน พบว่า เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเติบโตจากมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2556 โดยตลาดใหญ่คือตลาดแมส ที่มีสัดส่วน 75% ส่วนตลาดระดับบนมีสัดส่วน 25% สำหรับงานบางกอกไบค์ คาดว่าจะมีชมงาน 120,000 คน มีเงินสะพัดในงาน 140 ล้านบาท มากกว่างานครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนต.ค. ปีที่แล้ว ที่มีเงินหมุนเวียน 120 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่ามีผู้สนใจซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ทั้งรถจักรยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และพบว่า รถบางรุ่นสินค้าขาดตลาดตั้งแต่ช่วงต้นงาน เช่น จาวา เอ็กซ์ 1 รถพับได้ขนาดเล็ก ราคา 9,500 บาท ซึ่งสะดวกต่อการพกพา และเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟฟ้า หรือ ขสมก. จักรยาน-ท่องเที่ยว คู่เสริมธุรกิจ ด้าน นางวิไลวรรณ ทวิชศรี รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. กล่าวว่า ปัจจุบันความนิยมในตลาดรถจักรยานที่เพิ่มขึ้น มีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็มีส่วนส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวเช่นกัน ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ททท. พบว่า ปี 2556 มีผู้ขี่รถจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว 260,000 คน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อคนต่อวัน สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่ง ททท. เห็นถึงศักยภาพการท่องเที่ยวโดยรถจักรยาน จึงพยายามจะส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดเส้นทางท่องเที่ยวด้วยรถจักรยานเพิ่มขึ้น เช่น โครงการ "โซฟาร์ โซกรีน" ที่กำหนดเส้นทาง กรีน เวย์ 4 เส้นทางใหม่ในขณะนี้ และพยายามประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนมาร่วม ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ททท. คาดว่า ปีนี้ การท่องเที่ยวด้วยรถจักรยาน จะขยายตัว 20% เป็น 320,000 คน และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 15-20% และยังคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 15% อีกด้วย Tags : จักรยาน