นักเศรษฐศาสตร์-นักการเงินต่างชาติ คาดจีดีพีไทยปีหน้าปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4%หากรัฐเร่งเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาทักษะ คุณภาพแรงงาน เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงดอกเบี้ยขึ้นดันต้นทุนหนี้เอกชน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง เสี่ยงก่อภาวะช็อกคนไทยหยุดใช้จ่าย สร้างแรงกดดันเศรษฐกิจ มองการเมืองป่วนทำนโยบายรัฐไม่ต่อเนื่อง ขณะที่ประเมินจีดีพีไทยปีนี้โตเพียง 1% เหตุส่งออก - ท่องเที่ยวทรุด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 ยังคงอ่อนแอและขยายตัวได้ต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เพราะทั้งยูโรโซนกับญี่ปุ่นยังไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยเศรษฐกิจหดตัวได้อย่างแท้จริง จนทำให้องค์กรระดับโลกหลายแห่งพากันปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจไทยกับนักการเงินต่างชาติกลุ่มหนึ่งมองจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวต่ำตามเศรษฐกิจโลก นางเจนิส แวน เอ็กเคอเรน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้มุมมองในฐานะนายธนาคารต่างชาติที่อยู่ในไทยมานานเกือบ10 ปี ว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้ชะลอตัวลงมาก จีดีพีปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่งช่วงที่เหลือของปีนี้เธอมองอย่างระมัดระวัง เนื่องจากช่วงปีนี้จีดีพีไทยขยายตัวได้ไม่มาก "คิดว่าปีนี้ไม่ได้เลวร้าย แต่เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวทำได้ไม่ดีเหมือนเพื่อนบ้าน ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอทำให้แบงก์ต้องจับตาดูพอร์ตโฟลิโออย่างระมัดระวัง ดูเอ็นพีแอล (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) และหลายๆเรื่องตอนนี้ หนี้ครัวเรือนตอนนี้ทรงตัวมีพัฒนาการเชิงบวกก็จริง แต่ในระยะยาวเราต้องระมัดระวัง" ทั้งนี้ เห็นโอกาสรออยู่มากในปีหน้า และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ปานกลาง 4-5% จากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ ธ.โลกเล็งทบทวนจีดีพีไทย นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าในเดือนม.ค.ปีหน้า ทางธนาคารโลกจะทบทวนคาดการณ์จีดีพีไทยที่เคยให้ไว้ 1.5% ปีนี้และ 3.5%ปีหน้า และเชื่อว่าการบริโภคครัวเรือนจะค่อยๆฟื้นจากรายได้เกษตรกรและการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะจำกัดการขยายตัวของการบริโภค การส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่ำกว่า 5% ปีหน้า จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก การลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้น เมื่อรัฐบาลบริหารงานได้อย่างเต็มที่ใช้จ่ายงบประมาณได้มากขึ้น การลงทุนของเอกชนก็ฟื้นตัวตาม นายซาเกา แนะนำว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญ ลดความเหลื่อมล้ำ การปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและทักษะทรัพยากรบุคคลให้ดีขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพแรงงาน แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถแข่งขัน นอกจากนี้ การลดใช้พลังงานแบบเข้มข้น ด้วยการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ไม่เพียงแต่จะช่วยรายจ่ายของประเทศ แต่ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง หวังปีหน้าจีดีพีขยับ3.5-4% นายแอนดรู โคลคูฮูน หัวหน้าฝ่ายเรทติ้งประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้ง กล่าวว่า ฟิทช์อยู่ระหว่างการปรับคาดการณ์จีดีพีทั่วโลกรวมทั้งไทย ซึ่งเบื้องต้นการเติบโตของจีดีพีไทยปีนี้ดูจะอ่อนแอ ขยายตัวอยู่ที่ 1%หรือต่ำกว่านี้ ก่อนจะฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3.5%-4%ปีหน้า ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของธุรกิจที่กลับมามีเสถียรภาพ แต่ความเชื่อมั่นอยู่ระดับอ่อนแอ รวมถึงภาคครัวเรือนยังดิ้นรนอยู่กับปัญหาหนี้ระดับสูง การส่งออกไม่ค่อยสดใสเหมือนประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน นายโคลคูฮูน กล่าวว่า ไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยได้แข็งแกร่งขึ้นที่ระดับ 3% ได้หรือไม่ในอนาคตนั้น ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อสร้างความสามารถแข่งขันให้เศรษฐกิจ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ส่วน นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้จะโตประมาณ 1% และสามารถจะขยายตัวได้ 3.5% และอาจถึง 4% หากไทยมีพัฒนาการที่ดีทางเศรษฐกิจและสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพการเติบโตของประเทศได้ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการขนส่ง นวัตกรรม ไอทีและการวิจัยกับพัฒนา หรือ ทำอาร์แอนด์ดีให้มากขึ้น ทั้งนี้ ประเมินศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างมากถึง 66% จนน่าเป็นห่วง เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง 34% หรือหากเทียบค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงเดียวกันก็ลดลงเพียง 8% และเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งดึงดูดเอฟดีไอกับไทยก็มีค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงเพียง 21% นายแพสโค ระบุว่า การขาดเสถียรภาพทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำลายความสามารถแข่งขันของไทย การลงทุนของรัฐบาลก็ขาดความต่อเนื่อง ไม่มีการดำเนินงานและแผนงานในระยะยาวที่ประสานสอดคล้องกัน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังเป็นแรงกดดันไทย ที่ยังต้องอาศัยภาคการส่งออกที่คิดเป็นมูลค่ามากถึง 74%ของจีดีพีในปี 2556 ขณะที่อัตราการว่างงานยังต่ำที่ประมาณ 1% มีส่วนทำให้ค่าแรง 10 ปีที่ผ่านมาปรับขึ้นราว 50% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก สวนทางกับผลิตภาพ ไม่เพิ่มขึ้น ผู้บริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน เตือนว่าแม้ภาวะแวดล้อมเป็นบวกจากการเมืองเปลี่ยนแปลงจนมีเสถียรภาพ แต่จนถึงขณะนี้ต่างชาติยังไม่มั่นใจในรัฐบาลไทย100% ตัวเลขท่องเที่ยวดูเหมือนดีขึ้นหลังมีการฟอร์มรัฐบาลแล้ว แต่ตัวเลขยังไม่น่าพอใจและเป็นลบอยู่และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถใช้จ่ายของคนไทยยังมีข้อจำกัด ผลิตภาพยังไม่เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจเองมองแนวโน้มค่าจ้างงานเพิ่ม 50% สวนทางกับผลิตภาพที่เป็นปัญหาใหญ่ เตือนระวังภาวะเคยชินดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ นายพอล เอฟ กรูเอนวาลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ประจำเอเชีย แปซิฟิค สแตนด์ แอนด์ พัวร์ส หรือ เอสแอนด์พี ให้ความเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตไทยบนสมมุติฐานเป็นกลาง คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้อยู่ที่ 1.1% และ 4.2%ปีหน้า ก่อนเพิ่มเป็น 4.8%ในปี 2559 เขาเตือนว่า ความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการเติบโตของไทยและชาติเอเชียอื่นๆ ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยกำลังปรับขึ้น แต่ความเสี่ยงจริงๆอยู่ที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจคุ้นเคยกับภาวะดอกเบี้ยต่ำมานาน คาดการณ์ผิดพลาดเรื่องการปรับขึ้นของดอกเบี้ยในอนาคต อาจก่อภาวะตื่นตระหนกจนทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายชะลอตัวลง และกระหน่ำซ้ำเติมกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ นายร๊อลฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล ประธานสมาคมส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน กล่าวว่า เศรษฐกิจในหน้ายังคงเผชิญกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง แม้สหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวแล้วแต่ยังไม่รวดเร็วอย่างที่ทำให้ทั่วโลกเติบโต รวมถึงสหภาพยุโรปยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เช่นเดียวกันกับภาคการบริโภคภายในประเทศก็ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นเศรษฐกิจยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน สิ่งสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยเฉพาะด้านเงินลงทุนที่อาจจะเป็นอุปสรรค จึงต้องหามาตรการ เช่น การแสวงหาความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน “แม้จะมีการกำหนดออกมาถึงการลงทุนจากภาครัฐ แต่กระบวนการการประมูลและการลงทุนรวมถึงแหล่งที่มาของเงินยังไม่มีความชัดเจนแต่ไม่มั่นใจว่าจะใช้เวลายาวนานหรือไม่ เป็นสิ่งที่ยังเป็นข้อกังวลจากนักลงทุน” "แอคคอร์" เร่งรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นายแพทริค บาสเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ประจำแอคคอร์ ประเทศไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ กัมพูชา ลาว พม่า และฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้น นับเป็นเรื่องดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ในด้านการท่องเที่ยว ยังประเมินว่า หากสามารถนำงบประมาณมาปรับโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งสาธารณะให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว "เราหวังว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณมาปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ท่าอากาศยาน พัฒนาระบบการรถไฟ ระบบควบคุมการให้บริการของรถแท็กซี่ และระบบสาธารณูปโภคสำหรับการขนส่งโดยเรือ เป็นต้น โดยไม่ลืมหัวใจหลัก คือการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว" นอกจากนี้ ยังหวังด้วยว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำหรับการประชาสัมพันธ์และการจัดโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว Tags : ธนาคารกรุงศรี • ธนาคารโลก • อูลริค ซาเกา • ฟิทช์ เรทติ้ง • โครงสร้างพื้นฐาน • ททท. • นักเศรษฐศาสตร์ • ลงทุน • กูรู • จีดีพี