จากกรณีที่ CNN รายงานว่าเฟซบุ๊กเตรียมฟ้องรัฐไทยเรื่องปิดกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส ฐานปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงในวันนี้ เชื่อว่า เฟซบุ๊กจะไม่ฟ้อง เพราะที่ผ่านมา มีคำสั่งศาลขอให้เฟซบุ๊กลบเนื้อหา 1,129 URL เฟซบุ๊กยอมลบให้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊กเข้าใจและเคารพกฎหมายไทย จากประเด็นที่เฟซบุ๊กแถลงการต่อไทยว่าคำสั่งลบกระทบสิทธิมนุษยชนและการแสดงออก พุทธิพงษ์บอกว่า ในเมื่อเราดำเนินการตามคำสั่งศาล ส่งจดหมายเตือนสองครั้ง ให้เวลาและโอกาสเฟซบุ๊กในการพิจารณา หลังจากนั้นก็ลบเนื้อหาทั้งหมด 1,129 URL แสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือกับเรา โดยกระบวนการของไทยคือ ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ พร้อมคำสั่งศาลขอให้ลบเนื้อหาออกภายใน 15 วัน โดยอ้างตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 27 ซึ่งมีโทษปรับ 200,000 บาท หรือวันละ 5,000 บาท โดยจะดำเนินการทั้งคดีทางอาญาและเปรียบเทียบปรับ (ใน CNN รายงานด้วยว่า เฟซบุ๊กจะถูกไทยดำเนินคดีอาญา หากไม่ลบเนื้อหาตามที่ไทยร้องขอ) รูปประกอบจาก ทวิตเตอร์ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เมื่อถูกถามว่าหากเฟซบุ๊กฟ้องขึ้นมาจริงๆ กระบวนการจะเป็นอย่างไรต่อไป พุทธิพงษ์บอกว่า ตัวเองยังไม่เห็นเอกสารจากเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ เห็นแต่ข่าวที่แชร์กัน หรือถ้ามีการฟ้องเกิดขึ้นจริง เราก็มีทีมกฎหมายที่จะศึกษาและสู้ไปตามกระบวนการยุติธรรมในไทย แต่ก็ยังคงย้ำความเชื่อเดิมที่ว่า การฟ้องร้องจะไม่เกิดขึ้น เพราะจากที่ยื่นเรื่องมา เฟซบุ๊ก, ยูทูบ, TikTok ก็ให้ความร่วมมือทั้งหมด พุทธิพงษ์ยังบอกด้วยว่า คนเข้าร่วมกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส มีหลายคนโดนดำเนินคดีไปแล้ว เป็นคนที่โพสต์เพราะถือว่าผิดในข้อกฎหมายที่ว่านำเข้าข้อมูลผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มีขึ้นศาลไปแล้วด้วย และในจำนวน 1,129 URL ก็มีกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่โพสรวมอยู่ด้วย แต่พุทธิพงษ์ไม่ได้บอกว่ามีกี่ราย ด้านแถลงการณ์จากเฟซบุ๊กที่ระบุว่าการแทรกแซงบริษัทจะบั่นทอนการลงทุน พุทธิพงษ์บอกว่า ก็เป็นสิทธิของบริษัทนั้น อีกเรื่องคือ เฟซบุ๊กมีการลงทุนทั่วโลกอยู่แล้ว การที่เขาจะลงทุนในไทยหรือไม่ เขาคงศึกษามาดีแล้ว ห้ามเข้าไม่ได้ว่าจะอยู่หรือไป แต่ถ้าอยู่ก็อยากให้ทำตามกฎหมายไทย ด้านกลุ่มใหม่ที่เปิดขึ้นมา คือ รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง พุทธิพงษ์บอกว่าก็จะดำเนินการตามกระบวนการเดิมคือส่งไปยังศาลและส่งจดหมายไปยังแพลตฟอร์มต่อไป Topics: ThailandFacebookLaw