ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกร่วงหนัก "ลดกะทำงาน-โอที" ระบุยังไม่วิกฤติถึงขั้น "ปลดแรงงาน" เหตุส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ เชื่อเป็นปัญหาระยะสั้น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ในวันที่ยอดผลิตและยอดขายปรับตัวแรงจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ต้องปรับลดเวลาการทำงานของแรงงานลง นายปราโมทย์ พงษ์ทอง ประธาน บริษัท วิเชียรไดนามิคอินดัสตรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานภาคชิ้นส่วนยานยนต์ และแรงงานรับจ้างผลิต หรือโออีเอ็มว่า ขณะนี้ภาคยานยนต์ไทยและชิ้นส่วนฯ ยังไม่มีข่าวเรื่องของการลดคนงาน แม้ตลาดรถยนต์จะทรุดตัวลงมากในไตรมาสแรก เนื่องจากแรงงานมีฝีมือหายาก ดังนั้นโรงงานยานยนต์และชิ้นส่วนต่างๆ จึงพยายามจะรักษาแรงงานเหล่านี้ไว้ ลดกะทำงาน-ลดโอที ไม่ลดคน โดยประเมินว่า กำลังการผลิตที่ลดลงช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้จำนวนแรงงานลดลง แต่ยอมรับมีการลดกะการทำงาน และลดการทำงานล่วงเวลา (Over Time) ที่เคยทำเต็มที่ลง เมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการเร่งการผลิตเต็มพิกัด คือ การทำงาน 2 กะ (1 กะ 8 ชั่วโมงทำงาน) ทำงานล่วงเวลาเต็มที่ (Full Over Time) และรับช่วงการผลิตเต็มที่ (Full Sub Contract) นอกจากนี้กำลังการผลิตที่ลดลงส่วนใหญ่ ยังเป็นในส่วนของการรับช่วงการผลิต ดังนั้น คนงานในโรงงานผลิตขณะนี้มีอยู่ราว 1 แสนคน ยังไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นการลดโอทีจากทำเต็มที่ เหลือเพียงโอทีปกติ และหากต้องการลดผลผลิตลงอีกจะลดกะการทำงาน ถือว่าในการจัดการแรงงาน ของภาคยานยนต์ไทยมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง ยานยนต์ชะลอการผลิต "ปีเศษ" ด้านแหล่งข่าวจากสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) เปิดเผยว่า การชะลอการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ดำเนินมาปีเศษ โดยได้ลดกะการทำงานและลดโอทีลง ก่อนหน้านี้ โรงงานบางแห่ง ได้เร่งการผลิตจำนวนมาก ทำให้มีการจ้างงาน แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไลน์การผลิต โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง แต่ปัจจุบันโรงงานเหล่านั้น ได้ยกเลิกการจ้างงานชาวต่างชาติทั้งหมดแล้ว "ขณะนี้สหพันธ์ฯกำลังศึกษาว่า ช่วงที่แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในภาคยานยนต์เพิ่มขึ้นแล้ว แรงงานคนไทยเหล่านั้นย้ายหรือหายไปจากระบบได้อย่างไร เมื่อความต้องการแรงงานของภาคยานยนต์ยังคงมีอยู่สูง ซึ่งการปรับตัวของตสาหกรรมในแง่หนึ่ง มีผลดีเพราะก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมยานยนต์ มีความวิตกเรื่องการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก" ระบุความต้องการแรงงานไม่ลดลง แหล่งข่าวยังกล่าวว่า ภาคแรงงานยานยนต์ เป็นภาคที่มีผลการตอบแทนที่ดีและเชื่อว่า เป็นการชะลอของตลาดในประเทศช่วงสั้นๆ ประเมินจากโครงการใหญ่ๆ ของบริษัทรถยนต์ ขณะนี้มีโรงงานใหม่ เกิดขึ้นทำให้ต้องเตรียมคนงานเข้าสู่ระบบ เช่น โรงงานฮอนด้า ออโตโมบิล ที่จังหวัดปราจีนบุรี โรงงาน นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ถนนบางนา -ตราด กม.21 ขณะที่อุตสาหกรรมสนับสนุนอีกหลายสายงาน มีการลงทุนเพื่อรองรับการผลิตรวมถึงการย้ายฐานการผลิตของบริษัทชิ้นส่วนจากจีน ออสเตรเลีย ที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย “ไทยยังถือเป็นประเทศเป้าหมายในแง่ของการลงทุนภาคยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลียนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ทยอยปิดตัวลง และมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ หลังจากปี 2555 ไทยได้เฉลิมฉลองยอดการผลิตมากกว่า 2 ล้านคันทั่วประเทศ และปี 2556 ไทยก็มียอดการผลิตราวๆ 2 ล้านคัน ซึ่ง 2 ล้านคันเป็นจุดคุ้มทุน ที่จะดึงดูดผู้สนใจลงทุนทางด้านนี้มากขึ้น" ส่วนปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คาดว่า จะผลิตได้ 2 ล้านคัน (แบ่งเป็น ในประเทศ 50:50 ส่งออก) ประกอบกับ อีโค คาร์ เฟส 2 จะเริ่มได้อีก 2 ปีข้างหน้า ทำให้กำลังการผลิตรถยนต์จะเพิ่มอีกในอนาคต ด้าน ศาสตราภิชาน รศ. แล ดิลกวิทยรัตน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน เสวนาพิเศษ เรื่อง ยานยนต์ผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงานมีผลหรือไม่ จัดโดย สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า แม้อุตสาหกรรมยานยนต์จะลดโอที ลดการผลิต แต่ผู้ผลิตก็ยังกังวลเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน และกังวลเรื่องผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ระดับค่าแรงของปริญญาตรีจะต้องปรับโครงสร้างตามขึ้นด้วยแจงข้อพิพาทแรงงานยังมีอยู่ รายงานข่าว เปิดเผยว่า ข้อพิพาทแรงงานของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในพื้นที่ผลิต เช่น นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงมีอยู่ แต่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยผลการเจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทแรงงาน ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง บริษัทสยามมิชลิน จำกัด จังหวัดชลบุรีว่า สามารถหาข้อยุติได้แล้ว โดยลูกจ้างยอมรับเงินตอบแทนพิเศษประจำปี และเตรียมกลับไปรายงานตัวที่บริษัท หลังประท้วงหยุดงานมาเป็นเวลา 50 วัน สำหรับปริมาณคนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ปัจจุบันจากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พบว่า ส่วนโรงงานผลิตมีคนงาน 1 แสนคน ขณะที่ภาคชิ้นส่วนยานยนต์ มีคนงาน 4.5 แสนคน และ แรงงานในอุตสาหกรรมสนับสนุน (ซัพพอร์ต) มีประมาณ 1 แสนคน เมื่อรวมในภาคบริการขายอีก 2 แสนคน เท่ากับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีคนงานรวม 8.5 แสนคน ผลิตรถยนต์ไตรมาสแรกลด 28.28% ก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดการผลิตรถยนต์ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ว่า มีจำนวน 517,492 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 28.28% เพราะไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก และจากกำลังซื้อลดลง ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกไตรมาสแรกรวม 287,795 คัน เท่ากับ 55.61% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.63% ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา ผลิตได้ 78,615 คัน เท่ากับ 43.35% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมี.ค. ของปีก่อน 50.99% และเดือนม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมา ผลิตได้ 229,697 คัน เท่ากับ 44.39% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนม.ค.-มี.ค. ของปีก่อน 47.26% เพราะไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถคันแรกแล้ว และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัว นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายอดขายในประเทศต่ำกว่าที่คาดไว้ 30% ทำให้ยากที่จะไปถึงเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ส่วนการส่งออกมั่นใจจะเป็นไปตามเป้า 1.2 ล้านคัน โดยเฉพาะยอดการส่งออกรถยนต์อีโคคาร์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โรงแรมโยกพนง.ไปทำงานตจว. ด้านนางกมลวรรณ วิปุลากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป กล่าวว่า ช่วงที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ทำให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลง มีการเสนอให้พนักงานไปทำงานที่โรงแรมในต่างจังหวัดที่อยู่ในเครือข่ายของเอราวัณ กรุ๊ป ชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการปลดคนงาน เพราะที่ผ่านมาโรงแรม 8 แห่งที่มี อยู่ในจุดหมายท่องเที่ยวอื่นๆ ยังมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ดี ทั้ง ภูเก็ต สมุย กระบี่ และหัวหิน นอกจากนั้นส่วนหนึ่งยังสามารถใช้เครือข่ายเชนโรงแรมที่บริษัทเลือกเข้ามารับบริหาร ส่งพนักงานไปทำงานต่างประเทศ ขณะที่ไทยยังมีปัญหาการเมืองด้วย ทั้งนี้ โรงแรม 8 แห่งในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้รับผลกระทบทุกที่ สังเกตจากโซนที่ตั้งห่างออกไปจากย่านชุมนุม เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงมีลูกค้านักท่องเที่ยวหนาแน่นเช่นเดิม ทำให้ยังคงอัตราจ้างประจำไว้ตามปกติ ยกเว้นบางแห่งอาจงดจ้างงานพนักงานชั่วคราวไปก่อน Tags : อุตสาหกรรมรถยนต์ • แรงงาน • ยอดขาย • โอที