โครงการ dtac Safe Internet ทำบทเรียนภูมิคุ้มดิจิทัลสู่เยาวชน เน้นเนื้อหาการกลั่นแกล้งออนไลน์, คัดกรองข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย เรียนออนไลน์ได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ห้องเรียนเด็กล้ำ ล่าสุดเพิ่มบทเรียนหลักสูตรใหม่ Data Privacy & Sexual Abuse เน้นการป้องกันความเป็นส่วนตัวในการใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศบนโลกออนไลน์ คำอธิบายหลักสูตรระบุว่า เรียนรู้เรื่องลักษณะของข้อมูลส่วนบุคคล ความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล และหากข้อมูลส่วนบุคคลหลุดไปยังผู้ไม่ประสงค์ดี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมทั้งเรียนรู้เรื่องราวการละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ ผลกระทบของเด็กที่โดนละเมิดหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และวิธีการป้องกันตัวเราไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการเก็บหลักฐานแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จากคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) เป็นวิทยากรในหลักสูตร เล่าภาพรวมของสถานการณ์ว่า จากสถิติของ TICAC ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการจับกุมดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 212 คดี มีผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 245 คน ซึ่งผู้ต้องหา 1 คน สร้างความเสียหายให้แก่เหยื่อได้ตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักพันคน พ.ต.อ.มรกต บอกด้วยว่า หนึ่งในรูปแบบการละเมิดทางเพศที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นมากที่สุดคือ Sextortion ใช้อำนาจที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายหนึ่ง บังคับ ข่มขู่หรือกรรโชกทางเพศ เพื่อหวังสิ่งตอบแทนที่อาจมาในรูปแบบของเงินหรือการผลิตสื่อทางเพศโดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการกระทำผิด ผู้กระทำจะเลือกเหยื่อบนโซเชียลมีเดีย เช่นแฟนเพจ จากนั้นเข้าไปสืบส่องดูความเคลื่อนไหวของเหยื่อที่ทิ้งร่องรอยไว้ผ่านการโพสต์โซเชียลมีเดีย เพื่อสืบดู “ความต้องการ” ของเหยื่อ ทำให้นักล่าสามารถเข้าถึงตัวและเข้าไปเติมเต็มความต้องการของเหยื่อได้ จากนั้นก็สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเหยื่อจนนำไปสู่กระบวนการละเมิด แอบถ่ายรูปลับและขู่ว่าจะปล่อยลงออนไลน์ ที่มา - -ข่าวประชาสัมพันธ์ Topics: dtacEducation