ในปี 2018 ไมโครซอฟท์เปลี่ยนตัวหัวหน้าทีม Minecraft ใหม่ ดัน Helen Chiang ขึ้นมาแทน Matt Booty หัวหน้าทีมคนเดิมที่ได้โปรโมทไปคุม Microsoft Studios โดย Chiang ถือเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกในอุตสาหกรรมเกมที่ก้าวขึ้นมาถึงระดับผู้นำบริษัทได้ อุตสาหกรรมเกมยังเป็นวงการที่มีผู้หญิงน้อย บริษัทเกมมีผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แถมยังมีประเด็นการคุกคามเพศ-ความไม่เท่าเทียมทางเพศสูงมากด้วย การขึ้นมาถึงระดับนี้ได้ของ Helen จึงไม่ธรรมดา บทความนี้จะพาไปรู้จัก Helen ให้มากขึ้น ตั้งแต่บทบาทในไมโครซอฟท์ (Xbox), มุมมองต่อความหลากหลายในองค์กร และวิสัยทัศน์เรื่องเกมในอนาคต ภาพจาก Getty Images Helen คลุกคลีในวงการเกมมายาวนาน Helen Chiang สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสองสาขา คือ วิศวกรรมชีวการแพทย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก Johns Hopkins University และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Wharton School ของ University of Pennsylvania Helen ทำงานที่ไมโครซอฟท์มายาวนานตั้งแต่ปี 2005 เริ่มต้นด้วยการเป็นนักศึกษาฝึกงาน และเข้ามาทำงานฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ Xbox ตั้งแต่ปี 2009 โดยใช้เวลาอยู่กับทีม Xbox นานถึง 9 ปี บทบาทของ Helen ในทีม Xbox ช่วงแรกคืองานด้านออนไลน์ ได้แก่ พัฒนาประสบการณ์ลูกค้า Xbox LIVE บริการออนไลน์สำหรับการเล่นมัลติเพลเยอร์, ดันยอดขายดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม Xbox ฯลฯ ต่อมาในปี 2011 เธอขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน (Chief of Staff) ของ Microsoft Studios ซึ่งเป็นสตูดิโอผลิตเกมสำคัญๆ ของไมโครซอฟท์อย่าง Halo, Gears of War, Kinect Sports, Fable, Age of Empires และ Forza Motorsport หัวหน้าทีม Minecraft ต้องทำอะไรบ้าง หลังไมโครซอฟท์ซื้อกิจการ Mojang ในปี 2014 เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลกลยุทธ์ธุรกิจขอ Minecraft ในตำแหน่ง Senior Director ก่อนขึ้นมารับตำแหน่งหัวหน้าทีม Minecraft อย่างเป็นทางการในปี 2018 หน้าที่หลักของ Helen ใน Minecraft คือขับเคลื่อนการเติบโตของ Minecraft ในแง่ฟีเจอร์ใหม่ๆ และการใช้งาน เน้นขยายให้เกมเข้าถึงผู้เล่นได้ในอุปกรณ์ที่หลากหลาย Helen บอกว่าตั้งแต่มารับหน้าที่หัวหน้าทีม Minecraft เธอใช้เวลาไปกับการคิดหาวิธีว่าจะนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ มาพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ให้ครีเอเตอร์สร้างสรรค์งานผ่าน Minecraft ได้อย่างไร เธอยังต้องทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์และคนเล่นเกมโดยตรง และรับผิดชอบเกมใหม่ๆ อย่าง Minecraft Earth ที่ผสาน AR กับรูปแบบดั้งเดิมของ Minecraft ไว้ด้วยกัน บทสัมภาษณ์ของ Helen ในเว็บไซต์ Popsugar ตอนต้นปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอรับตำแหน่งใหม่ๆ บอกว่า เป้าหมายหลักไม่ใช่การเปลี่ยนแปลง Minecraft แต่เน้นขยายศักยภาพของเกมให้เข้าถึงผู้เล่นมากขึ้นมากกว่า อย่างแรกคือการขยายฐานผู้เล่น Minecraft เวอร์ชั่น Bedrock ด้วยการออกเวอร์ชัน Nintendo Switch, ออกอัพเดตเสริม Aquatic การสำรวจโลกใต้ทะเล และการพัฒนาเอนจินกราฟิกใหม่ เธอยังพยายามเชื่อมผู้เล่น Minecraft ทั้งหมดบนอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ในชุมชนเดียวกันเพื่อให้สามารถเล่นเกมด้วยกันได้ (cross play), การเปิด Marketplace ให้ผู้เล่นซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งที่สร้างขึ้น และยังมีแผนขยายจำนวนผู้เล่นเกมให้มากที่สุด นับถึงวันนี้ Minecraft มีอายุ 11 ปี ถือเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมียอดขายแตะ 200 ล้านชุด และตัวเลขผู้เล่นจริงต่อเดือน 126 ล้านคนแล้ว มุมมองต่อความหลากหลายในองค์กร Helen บอกว่าทีมงาน Minecraft มีสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชายในระดับเท่าๆ กัน ถือว่ามีความสมดุลทางเพศมากกว่าบริษัทเกมอื่นที่มักมีแต่ผู้ชาย นั่นเป็นเพราะบริษัทให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ Helen ยกตัวอย่างตอนที่ออกเลโก้ลาย Minecraft มีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่าเลโก้ของ Minecraft เหมาะกับเด็กผู้ชายมากกว่าหรือไม่ ควรจะอยู่ในแผนกของเล่นเด็กผู้ชายรึเปล่า เรื่องนี้ Helen ยืนยันกับพาร์ทเนอร์ร้านขายของเล่นว่าเลโก้ของ Minecraft เหมาะกับคนทุกเพศจริงๆ และเลโก้ควรจะมีแค่เลโก้ ไม่ถูกแบ่งแยกเป็นเลโก้สำหรับผู้หญิง หรือเลโก้สำหรับเด็กผู้ชาย Minecraft เองก็ใช้แนวคิดนี้ในการบริหารงานเช่นกัน นอกจากการเป็นหนึ่งในผู้บริหารหญิงไม่กี่รายในอุตสาหกรรมเกม เธอยังเป็นแม่คนด้วย ซึ่งเธอพบว่าการมีลูกคือหนึ่งในปัจจัยที่ผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ ด้วยภาระทั้งการต้องเลี้ยงลูกหรือเป็นแม่บ้าน จากประสบการณ์ของเธอเอง เคยได้พบผู้หญิงที่มีความสามารถที่อยากกลับเข้าไปทำงานอีกครั้งหลังลูกโตแล้ว ตัวเธอเองก็เคยลางานเลี้ยงดูบุตร และเข้าใจเรื่องนี้ดี กลยุทธ์หนึ่งที่เธอใช้ในการรับสมัครพนักงานเข้าร่วมทีมคือ พยายามส่งเสริมฝ่ายสรรหาบุคลากรให้โทรไปคุยกับคนสมัครงานบ้าง อย่าพึ่งพาแต่การอ่านเอกสารสมัครงานอย่างเดียว เพราะในประวัติของผู้สมัครผู้หญิงบางรายมีช่วงที่ไม่ได้ทำงานนานๆ ซึ่งเป็นเพราะหยุดไปเลี้ยงลูก ทำให้ใบสมัครนั้นอาจถูกปัดตกได้ง่าย องค์กรอาจเสียโอกาสในการได้บุคคลเก่งๆ เข้ามาร่วมงาน วิสัยทัศน์ที่มีต่อการพัฒนาเกม Helen เคยเขียนบทความเกี่ยวกับอนาคตของเกมลงในเว็บไซต์ Quartz บอกว่าโลกของเกมในตอนนี้คือเรื่องของการเล่นข้ามแพลตฟอร์ม (cross play) ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เกมวิวัฒนาการจากความบันเทิงส่วนตัว มาเป็นการเล่นด้วยกันหลายๆ คน จากเดิม ผู้เล่นเคยมีปฏิสัมพันธ์กับระบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว เกมก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นการเล่นด้วยกันคนจริงๆ ผ่านคอนโซลรุ่นแรกๆ อย่าง Sega SG-1000, Atari 7800 ที่ผู้เล่นสามารถชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกันที่บ้านได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเกมได้พัฒนาวิธีการเพื่อยกระดับประสบการณ์ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เราสามารถเล่นเกมกับใครก็ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต และวิวัฒนาการล่าสุดของเกมในตอนนี้ คือการเล่นเกมเดียวกันด้วยกันข้ามแพลตฟอร์ม ผู้เล่นคาดหวังว่าจะเล่นเกมได้ทุกที่ทุกเวลา เล่นบนอุปกรณ์ที่พวกเขาเลือก ไม่สำคัญว่ากำลังนั่งอยู่บนรถบัสและเล่นเกมบน Nintendo Switch หรือนอนอยู่บนโซฟาที่บ้านและเล่นบน Xbox ดังนั้น การที่เกมสามารถเล่นได้ทุกแพลตฟอร์มจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ มาตรฐานใหม่นี้จะช่วยลดกำแพงของการพัฒนาเกม จะเกิดความร่วมมืออย่างเปิดเผยภายในชุมชนคนพัฒนาเกม ลดอุปสรรคในการปรับปรุงเกมข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งจะช่วยเร่งศักยภาพของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเกมในอนาคต ที่มา - Quartz 1, 2, Popsugar, Magzter Topics: MinecraftMicrosoftGamesXbox