ปัจจัยเสี่ยง'เดิม'ท้าทายเศรษฐกิจปีหน้า

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 21 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    (รายงาน) ปัจจัยเสี่ยง'เดิม'ท้าทายศก.ปีหน้า ค่าเงินป่วน-ส่งออกชะลอ-บริโภคไม่ฟื้น

    การเสวนา"ตามติดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2558" จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)วานนี้(20 พ.ย.) ซึ่งประเด็นที่กังวลยังเป็นปัจจัย"เสี่ยง"ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งตลาดส่งออก ราคาน้ำมันและการใช้จ่ายงบลงทุนภาครัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    นายเจน นำชัยศิริ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่าจากยอด 9 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกยังคงติดลบ ทำให้คาดหวังไตรมาสสุดท้ายได้ยาก จึงมองว่าปีนี้มีโอกาสติดลบสูง แต่ในปีหน้า ส่งออกน่าจะดีขึ้น

    ด้านตลาดต่างประเทศยังคงน่าเป็นห่วง เพราะมีเพียงที่สหรัฐฯประเทศเดียวที่ฟื้นตัว ส.อ.ท.จึงมองว่ารัฐบาลควรเริ่มเจาะตลาดใหม่ บริกส์ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เพราะเป็นตลาดใหม่ที่เติบโตสูงมาก รวมทั้งควรเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับยุโรปให้เสร็จภายใน 1 ปี เพราะปีหน้าไทยจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีเกือบทั้งหมด

    "หากภายใน 1 ปีไม่มีข้อตกลงเอฟทีเอยุโรปเข้ามาช่วยจะทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งแทน แล้วไทยจะแย่งตลาดกลับคืนมาได้ลำบาก"

    อุตสาหกรรมดาวรุ่งที่มีโอกาสในปีหน้าคือ สินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น ของตกแต่งบ้าน อาหารเสริม เครื่องสำอาง สมุนไพร เพื่อต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก พลังงานทดแทน และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งวัสดุก่อสร้างควรไปพม่าเป็นหลัก เพราะมีความต้องการสูงมาก

    ส่วนปัจจัยเสี่ยงปีหน้าจะมีความเสี่ยงด้านการเงิน ดังนั้นผู้ประกอบการอย่าใช้เงินกู้มาก เพราะลดแรงกดดันด้านต้นทุนและระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าผันผวน รวมทั้งควรออกไปทำการตลาดเชิงรุก บุกออกไปหาลูกค้าต่างประเทศ และพิจารณาการผลิตของตัวเองว่าส่วนใดล้าสมัยและตลาดไม่ต้องการให้ยุบทิ้ง และลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร ผลิตสินค้าส่วนที่ตลาดต้องการ จะทำให้ใช้กำลังผลิตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอุตสาหกรรมใช้กำลังผลิตเพียง 60%

    "ผู้ประกอบการจะต้องจับตาคู่แข่งขันต่างประเทศ ในการทำกรอบข้อการค้าเขตเสรีต่างๆ อาทิ เวียดนามเข้าร่วมกลุ่มทีพีพีที่มีสหรัฐฯเป็นตัวนำ ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของเวียดนามในตลาดเหล่านี้สูงกว่าไทย ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพื่อลดความเสียเปรียบด้านการแข่งขัน"นายเจนกล่าว

    นายเจน มองว่าในปีหน้า มีปัจจัยบวกหลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปประเทศจะทำให้กฎกติกาดีขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และหากยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาดีอีกครั้ง นอกจากนี้ผลกระทบจากมาตรการประชานิยม เช่น บ้านหลังแรก รถคันแรก ทำให้ยอดซื้อสินค้าบ้านและรถยนต์เข้าสู่ระบบปกติ

    สศค.มั่นใจปีหน้าศก.โตได้4.1%

    นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มั่นใจปีหน้าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4.1% จากปีนี้ที่คาดอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1.4% โดยเฉลี่ยสองปี เศรษฐกิจไทยโตประมาณ 3% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่น่าจะโตได้ 4.5%

    ทั้งนี้ สิ่งที่อยากเห็นในปีหน้าคือ อยากให้รัฐบาลเริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้าขายระหว่างชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาส

    "หากรัฐมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ อาจมีโอกาสที่เราจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยปี 2558 โตได้มากกว่า 4%" นายเอกนิติกล่าว

    บริโภคเอกชนต่ำจากหนี้ครัวเรือน

    นายเอกนิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 ยังมีความเสี่ยงจากการบริโภคภาคเอกชนที่คาดจะโตได้ 3% จากเดิมคาดอยู่ที่ 4% เนื่องจากเป็นห่วงระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ปัจจุบันอัตราการเติบโตจะชะลอลง แต่ประชาชนก็ยังมีภาระผ่อนชำระหนี้ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงตามไปด้วย

    ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจนถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3/2557 โดยขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกนับจากต้นปีที่ติดลบมาโดยตลอด เนื่องจากสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกเมื่อปี 2556 ซึ่งกระตุ้นความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศได้ถึง 1.2 ล้านคัน ก่อนตลาดรถยนต์จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติช่วงเดือนก.ย.2557 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องจนถึงปี 2558 ที่คาดว่ากำลังซื้อจะเป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงปีละ 8 แสนคัน

    นอกจากนี้ เชื่อว่าจะมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คงค้างมาจากปีงบประมาณ 2557 จากเป้าหมายการเบิกจ่ายที่คาดไว้อยู่ที่ 89% ของงบลงทุน 2.5 ล้านล้านบาท ช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

    แนวโน้มราคาน้ำมันร่วงถึงกลางปีหน้า

    นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และหนึ่งในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดต่ำลงถึงกลางปีหน้า โดยราคาตลาดเวสท์เท็กซัสจะต่ำสุดที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่มีราคาประมาณ 75-79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    ขณะที่เบรนท์จะมีราคาประมาณ 75-77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะกำลังการผลิตน้ำมันสูงเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้น ประกอบกับกลุ่มประเทศโอเปกเองก็ผลิตน้ำมันเกินโควตาต่อเนื่องประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลง

    ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ โอเปกจะประชุมถึงแนวทางการผลิตน้ำมัน ว่าจะลดกำลังการผลิตลงหรือไม่ แต่คาดว่าการลดกำลังการผลิตของโอเปกจะไม่มีผลต่อราคาน้ำมันมากนัก แต่จะส่งผลดีในด้านจิตวิทยาเท่านั้น

    สำหรับราคาน้ำมันในประเทศจะลดลงอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และอีกปัจจัยหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันของภาครัฐ แต่อาจจะไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันลดลงทั้งหมด คาดว่าจะมีผลเพียงเบนซินและแก๊สโซฮอล์เท่านั้น

    ไทยเสี่ยงสุดด้านความมั่นคงพลังงาน

    นอกจากนี้ทบวงพลังงานสากล หรือ ไออีเอ ยังประเมินอีกว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานมากที่สุดในอาเซียน และมีความเสี่ยงสูงในการพึ่งพาพลังงานนำเข้ามากที่สุด โดยอีกในปี 2578 หรืออีก 22 ปีข้างหน้าประเมินว่าไทยมีความต้องการพลังงานมากขึ้น 80%

    "ในอนาคตหากไทยไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และจะส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านในราคาสูง ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันทางการค้า"

    Tags : ส.อ.ท. • อุตสาหกรรม • เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ • มนูญ ศิริวรรณ • เจน นำชัยศิริ • เศรษฐกิจ • ปฏิรูป • บริโภค

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้