เอสเอ็มอีแบงก์ไกล่เกลี่ยหนี้

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 21 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เอสเอ็มอีแบงก์จับมือกรมบังคับคดีไกล่เกลี่ยลูกหนี้วงเงิน 7.8 พันล้านบาท "สาลินี" เร่งวางระบบปล่อยสินเชื่อรัดกุม

    นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่าแผนการแก้ปัญหาหนี้เสีย ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมมือ กรมบังคับคดี เพื่อไกล่เกลี่ยลูกหนี้รายย่อยตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจำนวน 1.1 หมื่นราย วงเงินรวม 7.83 พันล้านบาท เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ และช่วยลดเอ็นพีแอลของธนาคาร

    หนี้ดังกล่าวแยกเป็น หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย 1.04 หมื่นราย เงินต้น 4.06 พันล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกัน จำนวน 655 ราย เงินต้น 3.76 พันล้านบาท 3,768.27 ล้านบาท โดยธนาคารจะประสานงานกับกรมบังคับคดีเพื่อนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งขั้นต้นน่าจะเริ่มที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลภายในปีนี้ และขยายไปยังภูมิภาคต่างๆ ในปีหน้าต่อไป

    เมื่อกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยน่าจะทำให้ลูกหนี้มีความสบายใจมากขึ้น จะช่วย ให้ธนาคารและลูกหนี้มีโอกาสเจรจากัน ซึ่งหากสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ธนาคารจะไม่ต้องยึดทรัพย์ลูกหนี้ เป็นการให้โอกาสลูกหนี้สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในส่วนของธนาคารนอกจากจะลดเอ็นพีแอลแล้ว ยังช่วยลดทรัพย์สินรอการขายด้วย

    “ ลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย และเป็นลูกหนี้ตามนโยบายรัฐบาล แม้ว่าหนี้ในส่วนนี้ธนาคารจะสามารถไปขอชดเชยจากกระทรวงการคลังได้ แต่หากสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้ และเป็นนโยบายของกระทรวงการคลังที่ขอให้ธนาคารช่วยในส่วนนี้”

    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานอนุกรรมการกลั่นกรองแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่ต้องฟื้นฟูกิจการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้เข้าตรวจเยี่ยมและติดตามแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคาร โดยแบงก์ได้นำเสนอผลการสำรวจสถานกิจการ (ดีลดิลิเจนท์) และรายงานการทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยในส่วนของแผนการแก้ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และแผนการดำเนินงานต่อไป ไม่ได้มีข้อกังวลในเรื่องนี้ แต่ท่านอยากให้เพิ่มเติมในส่วนการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

    “ เรารู้สึกโล่งใจ ท่านไม่ได้ติดใจแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนแนวทางป้องกันปัญหาเอ็นพีแอล และการถูกแทรกแซงในอนาคตนั้น คงบอกไม่ได้ว่าจะป้องกันได้ 100% แต่ก็จะทำให้พร้อมที่สุด ด้วยการวางระบบการให้สินเชื่อที่โปร่งใส ปรับวงเงินให้กู้ให้น้อยลง และว่าจ้างบริษัทผู้สอบบัญชีอิสระมาเป็นผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อสร้างความโปร่งใส”

    นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า นอกจากความร่วมมือกับเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว กรมบังคับคดียังได้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยลูกหนี้ของธนาคารออมสิน และในเร็วๆ นี้จะร่วมไกล่เกลี่ยลูกหนี้บัตรเครดิตเคทีซี จำนวน 8 พันราย วงเงินประมาณ 1 พันล้านบาท และโตโยต้าลิสซิ่งประมาณ 300 ราย ส่วนใหญ่ ในการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภาคครัวเรือน สินเชื่อรายย่อย บัตรเครดิต และต่อไปจะเข้าไปไกล่เกลี่ยลูกหนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา อีกกว่า 1 แสนราย วงเงินรวมประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท

    โดยความร่วมมือครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้มแข็ง ซึ่งในปีที่ผ่านมากรมบังคับคดีสามารถช่วยไกล่เกลี่ยลูกหนี้ได้ประมาณ 87% คิดเป็นวงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท คาดว่าในปีนี้อัตราการไกล่เกลี่ยก็ไม่น่าจะน้อยกว่าที่ผ่านมา

    Tags : สาลินี วังตาล • เอสเอ็มอีแบงก์ • ลูกหนี้ • ไกล่เกลี่ย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้