ปตท. ตั้งงบลงทุน 4 ปี ประมาณ 2.39 แสนล้านบาท. ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เตรียมสรุปแผนขายหุ้นบางจากภายในปีนี้ นางสาวกัญญามาศ ฤทธิเดช เจ้าหน้าที่การเงินอาวุโส ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.(PTT) กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทจัดสรรงบลงทุนในช่วง 4 ปี (2558-2561) ประมาณ 2.39 แสนล้านบาท สำหรับการลงทุนของบริษัทร่วมลงทุนและบริษัทย่อย สำนักงานใหญ่รวมไปถึงสำนักงานย่อยต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้ลงทุนในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี เป็นต้น ทั้งนี้ หากแบ่งตามสัดส่วนการลงทุนตามประเภทธุรกิจ บริษัทจะใช้งบลงทุนสำหรับธุรกิจก๊าซ 42% สำหรับบริษัทร่วมทุนและบริษัทย่อย 38% ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 17% และงานวิจัยและพัฒนา 3% การลงทุนในปี 2557 บริษัทได้ทบทวนงบลงทุนลงเหลือ 55,497 ล้านบาท จากเดิมที่เคยกำหนดงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 86,948 ล้านบาท โดยส่วนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี, การควบรวมกิจการและการลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปี 2557 บริษัทอาจมีการประเมินลงทุนในปี 2558 อีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามกรอบการลงทุนระยะ 4 ปีข้างหน้าดังกล่าว ขณะเดียวกัน จะเร่งพิจารณาหาข้อสรุปเรื่องการขายการลงทุนในบริษัท บางจากปิโตรเลียม (BCP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 374.74 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 27.22% “เรื่องการขายหุ้นบางจากน่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ปัจจุบันบริษัท ปตท. ถือหุ้นอยู่ 27.22% มีต้นทุนอยู่ประมาณ 14.90 บาท ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจหลายรายเข้ามาติดต่อขอซื้อหุ้น” นางสาวกัญญามาศกล่าวเพิ่มว่า ความคืบหน้าในการนำบริษัทย่อย 2 บริษัท คือบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ผู้ประกอบโรงกลั่นน้ำมัน และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ภายในครึ่งแรกปี 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลบริษัทเพื่อยื่นแบบ (ไฟลิ่ง) กับสำนักงานก.ล.ต. ภาพรวมธุรกิจในงวด 9 เดือนแรก กลุ่มปตท. มีอีบิทด้าแต่ละสายธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน โดยธุรกิจก๊าซ มีอีบิทด้าเพิ่มขึ้น 36% ธุรกิจน้ำมันมีอีบิทด้าเพิ่มขึ้น 4% และธุรกิจค้าปลีก มีอีบิทด้าเพิ่มขึ้น 39% อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในสายธุรกิจก๊าซนั้น ก๊าซเอ็นจีวีมีอีบิทด้าที่ปรับลดลง 10% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก บริษัทยังไม่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐ เรื่องการปรับราคาพลังงานให้สะท้อนกับราคาในตลาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในไตรมาส 4/2557 อีบิทด้าของเอ็นจีวีจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นสอดรับกับนโยบายดังกล่าว นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่า ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงยืนยันมุมมองเชิงบวกต่อบริษัท ปตท. จากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่จะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ประโยชน์เพียงการปรับราคาเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อ ก.ก. ความชัดเจนการปรับราคาเอ็นจีวีสะท้อนต้นทุนที่ 16 บาทต่อ ก.ก. ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี และแอลพีจี รวมถึงโอกาสปรับราคาหน้าโรงแยกก๊าซให้สะท้อนต้นทุน คาดจะมีความชัดเจนภายในต้นปี 2558 แผนการปรับโครงสร้างของกลุ่มปตท. จะทยอยมีความชัดเจน เริ่มจากการขายสัดส่วนบริษัท บางจากปิโตรเลียมที่คาดจะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้ และการไอพีโอ ของ SPRC และ GPSC ที่จะมีความคืบหน้าในครึ่งแรกปี 2558 นักวิเคราะห์กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่อ่อนลงเป็นลบต่อกลุ่มพลังงาน ยกเว้น บริษัท ปตท.(PTT)โดยราคาน้ำมันที่อ่อนตัวส่งผลเชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมันทั้งขั้นต้นจากราคาขายที่ลดลง โรงกลั่นจากขาดทุนสต็อกน้ำมัน แม้อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้รับผลลบผ่านกำไรจากบริษัทในกลุ่มที่อ่อนตัว แต่ธุรกิจหลักมีความผันผวนต่ำกว่า ทั้งในส่วนของค่าผ่านท่อ และขายปลีกน้ำมันที่จะได้ประโยชน์จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันลดลง นอกจากนั้น การทยอยยกเลิกการอุดหนุนของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ยังเป็นผลบวกต่อปตท. หลังจากที่ผ่านมาเข้าไปแบกรับภาระชดเชยกว่า 30,000 ล้านบาทในปี 2556 “ในมุมมองของฝ่ายวิจัย ปตท.จึงเป็นบริษัทในธุรกิจน้ำมันเดียวในตลาดที่กลับได้ประโยชน์จากการอ่อนตัวของราคาน้ำมัน การปลดล็อกในครั้งนี้จะส่งผลบวกต่อผลประกอบการของ ปตท. ในระยะยาว โดยเฉพาะหลังราดน้ำมันกลับมาตึงตัวอีกครั้ง” Tags : กัญญามาศ ฤทธิเดช • ปตท. • ลงทุน • ขายหุ้น • บางจาก