ก.ล.ต.หนุนมาตรการคุมหุ้นร้อน คาดใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 สัปดาห์ มั่นใจไม่กระทบภาพรวมการลงทุน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เห็นด้วยกับแนวทางการออกมาตรการควบคุมหุ้นที่มีความร้อนแรงสูงทั้ง 3 มาตรการ ที่ตลาดหลักทรัพย์นำออกมาใช้ ซึ่งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะใช้ควบคุมหุ้นที่มีความร้อนแรงสูงได้ดี โดยตลาดหลักทรัพย์จะนำส่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาสู่การพิจารณาในสัปดาห์หน้า และ ก.ล.ต. อาจใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 1 สัปดาห์ "มาตรการควบคุมหุ้นที่มีความร้อนแรงของตลาดหลักทรัพย์ที่ออกมาถือว่าน่าพอใจ เพราะมีการดูแลแบบเฉพาะเจาะจงในหุ้นที่มีปัญหาจริงๆ ไม่ได้เหวี่ยงแหใช้กับหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ มีลำดับความหนักเบาของการดูแล นักลงทุนยังสามารถซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ จึงน่าจะไม่ได้กระทบกับภาพรวมของตลาด" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า มาตรการดูแลหุ้นที่มีความร้อนแรงที่ออกมานั้นเป็นสิ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์ ได้ร่วมกับทางก.ล.ต.และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยในการพิจารณาดังนั้น ก.ล.ต.จึงรู้ในรายละเอียดมาต่อเนื่อง ซึ่งหากตลาดหลักทรัพย์ส่งเรื่องดังกล่าวให้กับก.ล.ต.พิจารณา ทำให้ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นานมากนัก และคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางตลาดหลักทรัพย์ด้วยว่าต้องการให้มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อใด เพราะอาจต้องมีการปรับระบบการซื้อขายหรือการประชาสัมพันธ์กับนักลงทุนรับทราบซึ่งก.ล.ต.ก็พร้อมที่จะให้อนุมัติในวันดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการปรับเกณฑ์หุ้นที่มีการเปลี่ยนมือสูงหรือเทิร์นโอเวอร์ลิสท์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้นจากเดิมที่มีการกำหนดว่า หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จะติดเกณฑ์ดังกล่าวได้ไม่เกิน 5 หลักทรัพย์ ก.ล.ต.ได้ปรับไม่จำกัดจำนวนหุ้นที่ติดหลักเกณฑ์ดังกล่าวทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเพื่อสะท้อนกับสถานการณ์มากขึ้น นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยนับจาก 10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน บัญชีเพิ่มขึ้นจาก 2.4 แสนบัญชีเป็น 1 ล้านบัญชี การลงทุนผ่านกองทุนรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว โดยหลายฝ่ายมองว่าตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วยนักลงทุนรายบุคคลแต่หากพิจารณาในระยะเวลาที่ผ่านมา นักลงทุนเหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับตลาดมีภูมิคุ้มกันตัวเองมากขึ้น นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการควบคุมหุ้นที่มีความร้อนแรงนั้นอาจส่งผลกระทบกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันบ้าง แต่จะไม่มากนักเพราะในไตรมาส 4 การซื้อขายหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่และนักลงทุนต่างชาติก็ซื้อขายหุ้นขนาดใหญ่ แม้มาตรการจะไม่มีผลบังคับใช้ในทันที แต่ก็จะสามารถดูแลการเก็งกำไรในระยะสั้นได้ ในการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้การเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กลดลงแน่นอน แต่ในการจะบังคับใช้จริงในช่วงเดือนม.ค.2558 ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าภาวะตลาดในช่วงดังกล่าวยังจำเป็นต้องใช้มาตรการหรือไม่เพราะภาพตลาดในขณะนั้นอาจเปลี่ยนไปและอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวก็ได้ อย่างไรก็ตามภาพตลาดหุ้นไทย ในปี 2558 ดัชนีจะปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก โดยมีเป้าหมายที่ประมาณ 1,700 จุดหรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 5-10% ตามภาพของเศรษฐกิจไทยที่ไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนและอาจไม่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะนโยบายชุดปัจจุบันชัดเจนแล้วว่าจะมุ่งเน้นการปฏิรูปและจัดระบบประเทศเพื่อการเติบโตในระยะยาว และการทำประชานิยมชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีออกมาทำให้การเติบโตในปีหน้าจะเป็นไปอย่างจำกัด โดยคำแนะนำการลงทุนคือให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งในกลุ่มส่งออกและกลุ่มสาธารณูปโภค นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันถือว่าราคาไม่ถูสูง โดยในช่วงที่ผ่านมา ระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ไทยสูงกว่าอินโดนีเซีย เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียดูดีกว่าชัดเจน ดังนั้นภาพของตลาดหุ้นไทยในปีหน้าจะมีการปรับขึ้นไม่มากนัก โดยมองเป้าการหมายอยู่ที่ 1,650 จุด ในขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนจะอยู่ที่ 10-15% ส่วนการเติบโตของจีดีพีประเทศไทยจะอยู่ที่ 4% นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 108 บริษัทจาก 109 บริษัท (1 บริษัทยังไม่ส่งงบการเงิน) นำส่งงบการเงินไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 มียอดขายไตรมาส 3 อยู่ที่ 30,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.33% ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 7.67% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 20.92% เพิ่มขึ้นจาก 20.44% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 160.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 3 มี บจ.ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 77 บริษัท คิดเป็น 71% ของ บจ.ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด ทั้งนี้ จากการสำรวจผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในไตรมาส 3 นี้พบว่า 5 บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีกำไรสุทธิ 373 ล้านบาท บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) มีกำไรสุทธิ 182 ล้านบาท บริษัทไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) มีกำไรสุทธิ 112 ล้านบาท บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) มีกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น (IRCP) มีกำไรสุทธิ 79 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2557 บจ. mai มียอดขาย 90,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.76% ในขณะที่ต้นทุนขายโดยรวมเพิ่มขึ้น 8.68% ทำให้ยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ที่ 20.67% แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในระดับที่สูง ทำให้กำไรสุทธิรวมลดลงจาก 4,218 ล้านบาท เหลือ 4,193 ล้านบาท ลดลงประมาณ 0.58% Tags : วรพล โสคติยานุรักษ์ • ก.ล.ต • มาตรการคุมหุ้นร้อน • ตลาดหุ้น