'โฆสิต'ชี้หนี้ครัวเรือนฉุดกำลังซื้อ คาดปีหน้าโต3-4% ธปท.เตือนภาคผลิตไทยตกกระแส เลิกหวังส่งออกโต2หลัก หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลและภาคเอกชน ได้ตั้งความหวังว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้ตามปกติ หลังจากปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าประมาณการจากปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจโลก แต่นายธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าในปีหน้าอาจไม่สดใส เพราะมีหลายปัจจัยฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง อุตสาหกรรมไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ในงานสัมมนาตามติดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2558 จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ปี 2558 ประเมินอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยโต 3-4% เนื่องจากเทียบกับฐานปีนี้ที่ขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ เพราะยังมีแรงกดดันจากผลพวงของนโยบายประชานิยมที่ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นตัวฉุดกำลังซื้อในประเทศ จนเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น "ฤทธิ์ของประชานิยมยังมีแรงกดดันสูงมาก ส่วนตัวจึงมองว่าปี 2558 ทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่หวังว่าปี 2559 แรงกดดันจากประชานิยมจะอ่อนกำลังลง เพียงแต่เวลานี้ขออย่าให้มีการเติมประชานิยมที่ซ้ำเติมให้หนี้ครัวเรือนสูงเข้าไปอีก" นายโฆสิตกล่าว ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คงไม่เกิดประโยชน์ หากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกับตลาดโลก หลังจากการส่งออกไทยติดลบสวนทางกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ทำให้ไทยถดถอยจากประเทศที่เป็นฐานการผลิตเหลือเพียงประเทศหนึ่งในทางเลือกของนักลงทุนเป็นสัญญาณร้ายในอนาคต "ภาคเอกชนต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า พัฒนาตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน" จี้เอกชนเร่งเพิ่มขีดแข่งขันรับเออีซี สำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไปปี 2558 นั้น จะส่งผล 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1. อาเซียนจะเป็นแหล่งผลิตของโลก แต่ไทยมีความท้าทายคือ อดีตไทยเป็นเป้าหมายปลายทางรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในอนาคตไทยจะเป็นเพียงตัวเลือกการลงทุนในอาเซียน และแม่เหล็กรับการลงทุนไปอยู่ที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ 2. อาเซียนมีขนาดตลาดใหญ่ขึ้น เพราะมีประชากรรวมกันถึง 600 ล้านคน อุปสรรคทางภาษีหมดไปนานแล้ว แต่ที่ต้องจับตาคืออุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ความท้าทายของธุรกิจไทยคือ เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น ไทยจะแข่งขันได้ไหม ส่วนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยกับคู่แข่ง เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวเชื่อมระหว่างประเทศ เป็นของกลางที่ทุกประเทศในภูมิภาคได้ประโยชน์ทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงไม่ใช่แค่การออกไปหาตลาดเท่านั้น แต่จะต้องออกไปพัฒนาตลาด ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ ควบคุมต้นทุน รักษาคุณภาพสินค้าและบริการ และผลิตสิ่งที่จะขายได้ราคาที่สูงขึ้น ไม่ใช่แข่งทำของราคาถูกเท่านั้น ส่วนเรื่องที่ 3. ประชาคมอาเซียนจะสร้างโอกาสให้ออกไปลงทุนในภูมิภาคนี้ ให้อุตสาหกรรมไทยไปใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อนบ้าน ไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และสร้างซัพพลายเชน แม้ผู้ประกอบการไทยจะติดที่รักบ้านเมือง ไม่อยากออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ แต่โอกาสลงทุนในต่างประเทศจะช่วยลดแรงกดดันทั้งจากการขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ ค่าจ้างแรงงานที่สุด และข้อได้เปรียบทางการแข่งขันจากที่เคยได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป ที่กำลังจะหมดไป ธปท.ชี้เลิกหวังส่งออกโต2หลัก นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าคงไม่สามารถกลับมาเติบโตในเลข 2 หลักได้อีกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างการผลิตของไทยที่ไม่ตรงกับความต้องการของโลก "แบงก์ชาติมองว่า ภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป การเติบโตคงทำได้เต็มที่เพียง 4-5% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นมาตรฐานใหม่ (New Normal) ของการส่งออกไทย" อย่างไรก็ตามการจะผลักดันให้การส่งออกของไทยกลับมาเติบโตได้ในระดับเลข 2 หลักเหมือนอดีตนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของโลก และในเวลาเดียวกันถ้าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกกลับมาดีขึ้น ก็อาจทำให้การส่งออกไทยพลิกกลับมาได้เช่นกัน “แบงก์ชาติประเมินว่า ระยะข้างหน้าการส่งออกของไทยคงเติบโตได้เต็มที่ 4-5% ซึ่งเป็น new normal เราในระยะต่อไป เว้นแต่ว่าเราจะมีการลงทุนยกระดับเทคโนโลยี ปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของโลก หรือราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น อย่างนี้ก็อาจทำให้การส่งออกของไทยกลับมาดีขึ้นได้”นายดอนกล่าว ลุ้นเบิกจ่ายรัฐดึงศก.ไตรมาส4ฟื้น สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ธปท.ยังเชื่อว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตใกล้เคียงกับศักยภาพที่ 4-5% หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเติบโตถือว่าต่ำกว่าระดับศักยภาพไทย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การส่งออกของไทยถือเป็นตัวที่ทำให้ระดับศักยภาพของไทยปรับลดลง “เรายังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเริ่มเห็นการกระชากขึ้นมาภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ก็ได้ ถ้าการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐสามารถเร่งกลับขึ้นมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเบิกจ่ายค่อนข้างต่ำกว่าที่เราคาดเอาไว้”นายดอนกล่าว กนง.ห่วงการเติบโตเศรษฐกิจ นายดอน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท. คาดหวังว่าภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 91.4% ของวงเงินงบประมาณ แต่ปรากฏว่าทำได้จริงเพียง 89% เท่านั้น เพียงแต่เงินส่วนนี้ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในงบเบิกจ่าย ขอแค่มีการเร่งนำมาใช้ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นได้ สำหรับความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพการเงินในปีหน้านั้น ทางธปท.ยอมรับว่ายังมีความเป็นห่วงและติดตามดูในเรื่องนี้อยู่ แต่อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ได้ให้น้ำหนักกับความเสี่ยงในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่าความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความหวังที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้มากกว่า 1% ซึ่งถ้าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับดังกล่าว การเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4 ของปีจะต้องขยายตัวไม่น้อยกว่า 3.3-3.5% ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสถ้าภาครัฐสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ รัฐเล็งเพิ่มสัดส่วนงบลงทุน ด้านนายภาษี' class='anchor-link' target='_blank'>สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเปิดงานมหกรรมการลงทุนครบวงจรแห่งปี "SET in the City กรุงเทพมหานคร 2014" วานนี้(20 พ.ย.) ว่ารัฐบาลได้ปรับปรุงโครงสร้างภาษีต่างๆ ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร รวมถึง การปรับเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของกรมจัดเก็บ จะทำให้ยอดการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีกมาก “การที่ทำเรื่องเหล่านี้ ก็มองว่า ในงบประมาณปี 2559 คงจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มมากพอควร และ ถ้าตั้งใจทำต่อไป ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกในปี 2560 ฉะนั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลก็จะสามารถเพิ่มวงเงินงบประมาณได้มากพอควร และ อย่าตกใจถ้างบประมาณจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 18%”นายสมหมายกล่าว สำหรับการลงทุนภาครัฐนั้น นายสมหมายกล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามเพิ่มวงเงินลงทุนในงบประมาณให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำที่ 5.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับต่ำ หาช่องใช้ประโยชน์ทุนสำรอง นายสมหมาย กล่าวว่ารัฐบาลจะพยายามใช้ประโยชน์จากทุนสำรองระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะดำเนินการผ่านการนำเงินตราต่างประเทศไปซื้อสินค้าในต่างประเทศ “ประเทศเรามีความมั่นคงในด้านทุนสำรองระหว่างประเทศมากเกินไป รัฐบาลที่แล้วพยายามใช้เงินไปลงทุน แต่รัฐบาลนี้ ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราก็จะมีวิธีใช้เงินทุนสำรอง ผ่านการลงทุน ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีมาก และไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย”เขากล่าว ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) รายงานว่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 7 พ.ย. 2557 อยู่ที่ 1.59 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.25 ล้านล้านบาท ดึงกลับร่างแก้ไขกฎหมายตลาดทุน ด้านการส่งเสริมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น เขากล่าวว่า การพัฒนาตลาดทุนให้มีความก้าวหน้าถือเป็นเรื่องที่ดี แต่จะให้เติบโตอย่างรวดเร็วคงเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง คิดว่า การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นเรื่องสำคัญ แต่การเสริมให้มีความเข้มแข็งและทำให้มีบริษัทจดทะเบียนใหม่เข้ามา มีปัจจัยอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้น คือ เรื่องของกฎหมายที่ต้องมีการปรับปรุงรองรับ ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายกำกับดูแลตลาดทุนนั้น ขณะนี้ อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่า จะขอนำกลับมาพิจารณาในรายละเอียด เพราะเห็นว่ามีบางเรื่องที่ต้องเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเปิดตลาดให้กว้างเพื่อรองรับการลงทุนข้ามดินแดนถือเป็นเรื่องสำคัญ เล็งต่ออายุมาตรการภาษีแอลทีเอฟ ส่วนแนวนโยบายเกี่ยวกับการต่ออายุมาตรการทางภาษีให้กับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งจะหมดอายุในสิ้นปี 2559 นั้น เขากล่าวว่า จะสามารถได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใดในเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งจะต้องพิจารณาในรายละเอียดของหลักการและเหตุผล แต่เบื้องต้น ตนมองว่า ควรจะต้องต่ออายุมาตรการนี้ แต่ตอนนี้ยังให้รายละเอียดไม่ได้ "เรากำลังดูว่าจะต่ออายุหรือไม่ เพราะอะไร ทำไม หรือจะไม่ต่อทำไม หรือจะปรับปรุงเพราะเหตุใด แต่ตอนนี้ยังไม่ขอตอบอะไรมาก ซึ่งจะมีความชัดเจนได้ในเดือนมีนาคม 2558"นายสมหมาย กล่าว Tags : โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ • ธนาคารกรุงเทพ • เศรษฐกิจไทย • ธปท. • เออีซี • ส่งออก • แบงก์ชาติ • ไตรมาส • กนง. • ดอน นาครทรรพ • สมหมาย ภาษี • แอลทีเอฟ • ภาษี