บทวิเคราะห์สงครามเกมยุคหน้า กลายเป็น PS5 vs Xbox Game Pass

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 3 สิงหาคม 2020.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สงครามเกมคอนโซลยุคที่เก้า (นับตามการแบ่งยุคของวิกิพีเดีย) กำลังจะเริ่มเปิดฉากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จากการเปิดตัวของสองคอนโซลสำคัญคือ PlayStation 5 และ Xbox Series X

    ตอนนี้เรารู้ข้อมูลสำคัญๆ เกือบทั้งหมดของคอนโซลทั้งสองค่ายแล้ว (เหลือแต่วันวางขายกับราคา) ส่วนซอฟต์แวร์เกม ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราก็เห็นไลน์อัพของทั้งสองค่ายเผยโฉมกันมาเยอะแล้วเช่นกัน

    สิ่งที่น่าสนใจในสงครามคอนโซลรอบนี้ มันอาจไม่ใช่การปะทะกันของคอนโซล 2 เครื่อง PS5 vs Xbox Series X แต่เป็นการปะทะกันระหว่าง 2 แนวคิดคือ PS5 vs Xbox Game Pass แทนต่างหาก

    [​IMG]

    PS5 ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย


    PS4 คือผู้ชนะสงครามคอนโซลยุคที่แปดอย่างไร้ข้อกังขา ด้วยยอดขายรวม 110 ล้านเครื่อง มากเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์คอนโซล (แพ้แค่ PS2 เท่านั้น)

    ยุทธศาสตร์ของ Sony เรียบง่ายแต่ทรงพลัง นั่นคือสร้างฮาร์ดแวร์คอนโซลที่มีประสิทธิภาพสูง (PS4 รุ่นแรกแรงกว่า Xbox One รุ่นแรก ที่ต้องแบ่งพลังไปประมวลผล Kinect) และพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเอ็กซ์คลูซีฟที่ดึงดูดผู้เล่นเข้าแพลตฟอร์ม โดยอาศัยสตูดิโอในสังกัด PlayStation Studios ของตัวเอง บวกกับเครือข่ายพาร์ทเนอร์ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นมายาวนาน

    พอมาถึงยุคของ PS5 ยุทธศาสตร์นี้ยังคงอยู่ เรายังเห็นคอนโซลที่ประสิทธิภาพสูง (แม้จะไม่ใช่สูงที่สุด) บวกกับไลน์อัพเกมเด่นๆ อย่าง Spider-Man: Miles Morales, Horizon Forbiden West หรือ Gran Turismo 7 ที่สร้างความว้าวให้บรรดาเกมเมอร์

    [​IMG]

    ยุทธศาสตร์ใหม่ Xbox ที่ไม่เน้นคอนโซล


    แต่ยุทธศาสตร์ของ Xbox ในรอบนี้กลับไปเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

    หลัง Xbox One พ่ายแพ้ในสงครามยุคที่แปดแบบหมดรูป เพราะวางแผนยุทธศาสตร์พลาดตั้งแต่แรกเปิดตัว (เครื่องแพงกว่า, แรงน้อยกว่า, เน้นความบันเทิงมากกว่าเกม, ย้ายแผ่นเกมข้ามเครื่องได้ยาก ฯลฯ) ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นไมโครซอฟท์ภายใต้การนำของ Phil Spencer ที่ขึ้นมาคุมทีม Xbox ในปี 2014 (หลัง Xbox One ออกขายหนึ่งปี) ปรับทิศทางของบริษัทไปจากเดิมหลายอย่าง เช่น

    • ตัด Kinect ออกจาก Xbox One (แก้ปัญหาเครื่องแพงกว่าคู่แข่ง)
    • ออก Xbox One X ที่แรงกว่า PS4 Pro (แก้ปัญหาภาพลักษณ์คอนโซลแรงน้อยกว่าคู่แข่ง) ซึ่งสืบทอดมาถึง Xbox Series X ที่พยายามชูจุดเด่นเรื่องคอนโซลที่ทรงพลังที่สุด
    • กว้านซื้อสตูดิโอพัฒนาเกมจำนวนมาก มาอยู่ใต้สังกัด Xbox Game Studios (แก้ปัญหาจุดอ่อนที่ขาดเกมเอ็กซ์คลูซีฟ)
    • ออกบริการเกมเหมาจ่าย Xbox Game Pass ในปี 2017
    • ออกบริการเกมสตรีมมิ่ง xCloud ในปี 2018
    • กลับมาสนใจธุรกิจเกมพีซี ดังจะเห็นได้จากการออก Xbox Game Pass for PC หรือการกลับมาออก Halo บนพีซี

    แผนการของไมโครซอฟท์มาขมวดปมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อเปิดตัวเกมใหม่บน Xbox Series X โดยยังคงแนวทางออกเกมบน Xbox One ด้วย และที่สำคัญคือเกมทั้งหมดจะเปิดให้เล่นบน Xbox Game Pass ตั้งแต่วันแรก (Day One)

    ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์รอบนี้จึงชัดเจนว่า ต้องการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในสมรภูมิคอนโซล จากสมการ "คอนโซลแรง+เกมเด่น" (ที่ตัวเองแพ้ในยกล่าสุด) มาเป็นแนวคิดใหม่ "เกมที่กลายเป็นบริการ" โดยมี Xbox Game Pass เป็นเรือธงแทน

    [​IMG]

    Xbox Game Pass คืออะไร


    ปัจจุบัน Xbox Game Pass ยังไม่เปิดบริการในไทย (ซึ่งคงไม่ต้องหวังอะไรมากเพราะขนาด Xbox ยังไม่วางขายเลย) ถ้าให้อธิบายแบบสรุปรวบรัด ต้องบอกว่ามันคือ "Netflix for Games" ที่ผู้เล่นจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน (ตอนนี้คือ 9.99 ดอลลาร์) เพื่อแลกกับสิทธิเล่นเกมในไลบรารีทั้งหมด (ประมาณ 100 เกม ที่จะเวียนเข้าออกตลอดเวลาเพื่อให้ไลบรารีสดใหม่)

    แนวคิดเรื่องบริการเหมาจ่าย (subscription) เพื่อเล่นเกมไม่ใช่ของใหม่ และคู่แข่งหลายๆ รายในอุตสาหกรรมเกมก็มีบริการลักษณะเดียวกัน (เช่น Origin Access/EA Access, Uplay+ หรือแม้แต่ PlayStation Now ที่เริ่มจากสตรีมมิ่งแต่ภายหลังก็หันมารองรับเกมแบบดาวน์โหลดด้วย)

    แต่สิ่งที่ทำให้ Xbox Game Pass โดดเด่นเหนือใคร และมียอดสมาชิกเกิน 10 ล้านรายแล้ว (เทียบกับ PS Now ที่มี 2.2 ล้านราย) คือไมโครซอฟท์แกะสมการ subscription ออกตั้งแต่แรก นำเกมทั้งหมดของตัวเองมาเปิดให้เล่นแบบ Day One ต่างจากบริการคู่แข่งที่มักมีแต่เกมเก่าเท่านั้น (เท่านั้นยังไม่พอ ช่วงหลังยังเจรจานำเกมของบริษัทอื่นมาให้เล่นแบบ Day One ด้วย ตัวอย่างล่าสุดคือ Destiny 2: Beyond Light ของ Bungie)

    แนวทางการดันเกมใหม่ๆ ดังๆ ที่สามารถขายราคา 60 ดอลลาร์ ฟันรายได้เน้นๆ ในช่วงเปิดตัว มาเปิดให้เล่นฟรีสำหรับสมาชิก Game Pass คงไม่สามารถทำได้หากไม่รวยพอ (เพราะเป็นการแย่งรายได้กันเองระหว่างขายแยก vs จ่ายสมาชิก) แต่ไมโครซอฟท์ดันเป็นบริษัทที่รวยมากพอ จึงสามารถสละรายได้ส่วนนี้ เพื่อมาเน้นการสร้างฐานสมาชิกให้ Game Pass อย่างจริงจัง

    เล่นเกมไม่ต้องซื้อคอนโซลก็ได้ เพราะเล่นจากที่ไหนก็ได้


    นอกจากการเปลี่ยนโมเดล "ซื้อเกมใหม่" มาเป็น "จ่ายค่าสมาชิกทุกเดือนเพื่อเล่นเกมใหม่" ที่เคียงคู่อุตสาหกรรมเกมมายาวนานหลายทศวรรษ ไมโครซอฟท์ยังพยายามเปลี่ยนมุมมองจากเรื่อง "เกมผูกกับคอนโซล" กลายมาเป็น "เกมเล่นจากที่ไหนก็ได้" ในอีกแกนหนึ่งด้วย

    สิ่งที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ ไมโครซอฟท์กลับมาสนใจตลาดเกมพีซีอีกครั้ง (หลังละเลยไปนานมาก) สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดคือการนำ Halo ในฐานะเกมเรือธงที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟของ Xbox มาลงพีซี (แถมขายบน Steam ด้วยอีกต่างหาก) และการขยาย Xbox Game Pass for PC สำหรับกลุ่มคนเล่นเกมพีซีด้วย (รายชื่อเกมไม่เหมือนกันกับบน Xbox One 100%)

    [​IMG]


    To celebrate the launch of Grounded in game preview, we challenged some of our favorite creators to build their tiniest computers yetwhat's that phrase about great things coming in small packages?#XGPPCTinyBuild: https://t.co/SM8PUVJaOC pic.twitter.com/i6NDSbUJ9Q

    — Xbox Game Pass For PC (@XboxGamePassPC) July 31, 2020

    ภาพด้านล่างอยู่บนหน้าเว็บของ Xbox Game Pass ถือเป็นภาพสะท้อนมุมมองของไมโครซอฟท์ได้ดี ว่าต้องการให้เกมของแพลตฟอร์มของตัวเองเล่นได้ทั้งบน Xbox One และพีซี (ถ้าเป็นเกมแบบขายแยก มี Xbox Play Anywhere ที่ซื้อทีเดียวแล้วเล่นได้ทั้งสองเครื่อง แต่พอเป็น Game Pass ก็เหมารวมเลย)

    [​IMG]

    แต่แผนการของไมโครซอฟท์ยังไปไกลกว่าพีซี ในปีนี้เราจะได้เห็น Xbox Series X เพิ่มเข้ามาเป็นคอนโซลอีกตัว และเทคโนโลยีการสตรีมเกม xCloud ที่ช่วยให้อุปกรณ์ที่พลังประมวลผลไม่มากนัก (สมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต) สามารถเข้าถึงเกมดังระดับ AAA แบบเดียวกับคอนโซลหรือพีซีด้วย

    [​IMG]

    เมื่อนำจิ๊กซอทุกชิ้นมาประกอบกัน เราจะเห็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของไมโครซอฟท์ ที่เน้นการเล่นเกมจากที่ไหนก็ได้ โดยมี Xbox Game Pass เป็นแกนกลาง แทนที่จะเป็น Xbox Series X

    ศักดิ์ฐานะของ Xbox Series X จึงถูกลดชั้นลงมาเหลือเพียงฮาร์ดแวร์ตัวหนึ่งในจักรวาลของไมโครซอฟท์เท่านั้น คอนโซลไม่ได้กลายเป็น "ตัวนำ" อีกต่อไป เพราะ "ประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีที่สุด" สามารถส่งผ่านไปถึงผู้ใช้ในช่องทางอื่นได้ (เช่น พีซีหรือสตรีมมิ่ง)

    [​IMG]

    เมื่อ Game Pass คือแกนกลาง


    ยุทธศาสตร์การผลักดัน Xbox Game Pass แบบสุดตัว แสดงให้เห็นชัดเจนจากงานแถลงข่าวเกม Xbox รอบล่าสุด (ที่ Halo Infinite โดนวิจารณ์หนักเรื่องกราฟิก) เราเห็นการอ้างอิงถึง Xbox Game Pass อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงท้ายคลิปเทรลเลอร์เกม หรือในหน้าเว็บไซต์รายละเอียดของเกม

    หากยึดเอาเกม Halo Infinite ที่เป็นเกมเรือธงของไมโครซอฟท์ในปี 2020 ท้ายคลิปจะเห็นโลโก้ Xbox Game Pass อยู่ในตำแหน่งแรกสุด อยู่ก่อน Xbox Series X ด้วยซ้ำ

    [​IMG]

    ถ้าลองเข้าไปดูในหน้าเว็บของ Halo Infinite สิ่งแรกที่เห็นคือข้อความว่า Coming to Xbox Game Pass ไม่มีพูดถึง Xbox Series X ในหน้าจอแรกด้วยซ้ำ

    [​IMG]

    [​IMG]

    ในขณะที่ Xbox Series X ถูกพูดถึงในแง่ว่า "Optimized for" เท่านั้น ประสบการณ์ที่ดีที่สุดของ Halo Infinite อยู่บน Xbox Series X แต่เล่นบนเครื่องอื่นได้เสมอ

    [​IMG]

    เมนูของเว็บไซต์ Xbox.com ก็สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ใหม่นี้ Game Pass อยู่เมนูแรกสุด ก่อนเมนู Games และ Devices

    [​IMG]

    ก้าวต่อไปที่ต้องจับตาคือการผนวก Xbox Live Gold เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Xbox Game Pass (เวอร์ชัน Ultimate ที่รวมพีซีและคอนโซล) ถ้าไมโครซอฟท์เดินเกมสำเร็จ มันจะกลายเป็น "บริการรายเดือน 15 ดอลลาร์" ที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก

    [​IMG]

    นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีหมากอื่นๆ รอให้เล่นอีกไม่น้อย เช่น Xbox Series S โค้ดเนม "Lockhart" ที่จะช่วยให้กำแพงการเข้าถึงคอนโซลยุคใหม่ถูกลงจากเดิม และโมเดล Xbox All Access จ่ายรายเดือนเริ่มต้นที่ 21.99 ดอลลาร์ ได้ทั้ง Xbox Game Pass ทุกเดือน จ่ายครบแล้วเอาเครื่องไปเลย หมากเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนเข้าถึง Game Pass ได้ง่ายขึ้นในระยะยาว

    ยุทธศาสตร์ไหนดีกว่ากัน ฮาร์ดแวร์+เกม vs บริการ


    ความเคลื่อนไหวของฝั่ง Xbox ชัดเจนว่าต้องการขยับพื้นฐานของวงการเกม จากฮาร์ดแวร์+ซอฟต์แวร์เกม มาเป็นเกมในฐานะบริการ ภายใต้ร่มของ Xbox Game Pass

    แรงขับเคลื่อนของไมโครซอฟท์อาจเริ่มมาจากความพ่ายแพ้ของ Xbox One จนต้องขยับหนี แต่มันอาจเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับยุคสมัย เพราะเทคโนโลยีเกมสตรีมมิ่งกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเกม ที่เคยต้องอิงกับการส่งผ่านประสบการณ์เล่นเกมด้วยฮาร์ดแวร์เฉพาะมาตลอด

    แต่ปี 2020 อาจเร็วไปสำหรับสตรีมมิ่งล้วนๆ 100% ดังที่เราเห็นได้จาก Google Stadia ยังลูกผีลูกคน แนวทางของไมโครซอฟท์ที่ยืดหยุ่น ให้อิสระ เล่นจากคอนโซลก็ได้ พีซีก็ดี สตรีมมิ่งก็ไม่ผิด จึงน่าดึงดูดกว่า Stadia ที่เป็นสตรีมมิ่งอย่างเดียว

    ปัญหาของไมโครซอฟท์ในตอนนี้เหลืออยู่ 2 อย่าง ได้แก่ เกมเอ็กซ์คลูซีฟยังไม่เยอะและน่าสนใจพอ (เมื่อเทียบกับฝั่งโซนี่) ตรงนี้ไมโครซอฟท์ก็รู้ตัวดี จึงกว้านซื้อสตูดิโอเกมเข้ามาในสังกัดหลายราย แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าผลงานจะออกดอกออกผล เมื่อเทียบกับฝั่งโซนี่ที่ลงทุนวางรากฐานในเรื่องนี้มายาวนาน

    ปัญหาอีกข้อแสดงให้เห็นชัดจากกรณีกราฟิกของ Halo Infinite ว่าการรองรับฮาร์ดแวร์หลากหลายรุ่น ทำให้ศักยภาพของเกมรุ่นใหม่ "ไปไม่สุด" เพราะฮาร์ดแวร์รุ่นเก่า (ในที่นี้คือ Xbox One) ฉุดรั้งเอาไว้ ในขณะที่เกมเอ็กซ์คลูซีฟของ PS5 อย่าง Horizon Forbidden West หรือ Ratchet & Clank ไม่มีปัญหานี้ เพราะสามารถโฟกัสไปที่ PS5 อย่างเดียวได้เลย

    ผมเชื่อว่าในช่วงแรกของคอนโซลยุคที่เก้า ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากคอนโซลรุ่นก่อนหน้า ปัจจัยที่มีบทบาทสูงคงเป็นเรื่องของเกมเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งตอนนี้ PS5 ได้เปรียบกว่าพอสมควร และคงไม่น่าแปลกใจนักหาก PS5 จะยังมียอดขายที่ดีกว่า Xbox Series X ในช่วงปีแรกๆ

    แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันจะเป็นการวัดกันระหว่างยุทธศาสตร์ "คอนโซลเรือธง" vs "เกมคือบริการ" ยอดขายของ Xbox Series X อาจไม่สำคัญที่สุดอีกแล้ว หากไมโครซอฟท์สามารถดันยอดสมาชิก Game Pass (ทั้งบนคอนโซลและพีซี) ให้ได้ถึง 100 ล้านรายแบบเดียวกับยอดขายของ PS4

    นั่นจะกลายเป็นว่า สงครามคอนโซลยุคใหม่จึงกลายเป็นการปะทะกันของ PS5 และ Game Pass แทน

    Topics: PS5Xbox Series XXboxGamesXbox Game PassSonyMicrosoftSpecial Report
     

แบ่งปันหน้านี้