"ไทยพาณิชย์" รุกต่างประเทศ ชูโมเดลพาร์ทเนอร์แบงก์ใหญ่ลุยอาเซียน ผนึกแบงก์มิซูโฮ แบงก์อันดับ 3 ของญี่ปุ่น นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า รูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารในปีหน้า จะเน้นการสร้างความร่วมมือกับธนาคารพันธมิตร เพื่อให้บริการลูกค้าในแต่ละกลุ่ม รวมถึงการขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วย เนื่องจากในโลกการเงินยุคใหม่การเข้าไปลงทุนตั้งธนาคาร หรือเปิดสาขาในต่างประเทศ ถือว่าเป็นรูปแบบการทำธุรกิจในยุคโบราณ ที่อาจจะไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ธนาคารจึงมองว่า รูปแบบการทำธุรกิจด้วยการจับมือกับธนาคารพันธมิตรในต่างประเทศ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าและธนาคารได้รวดเร็วกว่า โดยธนาคารจะเน้นการสร้างความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ในการให้บริการทางการเงินกับลูกค้า โดยจะไม่มีการเข้าไปลงทุนหรือถือหุ้นระหว่างกัน ล่าสุดธนาคารได้ร่วมมือกับธนาคาร มิซูโฮ จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ในการให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรกับฐานลูกค้านักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยอาศัยจุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์ ทางด้านความเชี่ยวชาญในการให้บริการลูกค้าขนาดใหญ่ รวมถึงเครือข่ายสาขากว่า 1,200 แห่ง ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงความต้องการของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ที่จะขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทั้ง 4 ประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะกัมพูชา และเวียดนาม ที่ธนาคารมีธนาคารร่วมทุน และธนาคารท้องถิ่นให้บริการอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันยังรองรับความต้องการของลูกค้าไทย ที่ต้องการขยายไปลงทุนในต่างประเทศด้วย เนื่องจากธนาคาร มิซูโฮ มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศกว่า 90 แห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงพม่าที่มิซูโฮเพิ่งได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารในพม่า ที่ลูกค้าไทยสามารถอาศัยเครือข่ายของมิซูโฮ ผ่านความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย และมิซูโฮยังมีแผนที่จะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุม 43 ประเทศทั่วโลก นางกรรณิกา กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารให้บริการลูกค้าญี่ปุ่นอยู่กว่า 600 ราย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขยายฐานลูกค้าญี่ปุ่นของธนาคาร ธนาคารตั้งเป้าในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด จากกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ขึ้นอีก 50% ผ่านทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการที่ครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ล่าสุดปีนี้ เราได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษมา เพื่อดูแลลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขยายฐานลูกค้าญี่ปุ่น "ยอมรับว่าในขณะนี้ ธนาคารยังมีสัดส่วนธุรกิจจากต่างประเทศน้อยมาก แต่นับจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการสร้างรายได้จากธุรกิจต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้น" นางกรรณิกา กล่าว ปัจจุบันนี้มีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ประเทศไทยมากกว่า 50,000 คน อีกทั้งมีบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า 3,000 บริษัท ซึ่งคิดเป็นอัตราการลงทุน FDI อันดับหนึ่งในประเทศไทย หรือ คิดเป็นสัดส่วน 40-50% โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น "ไทยพาณิชย์อยากรุกธุรกิจญี่ปุ่นจริงจัง ขณะที่มิซูโฮมีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกว่า 20 ปี มีฐานลูกค้ามากกว่า 70% ของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่น แต่สาขาในประเทศไม่พอรองรับลูกค้า ต่างคนต่างต้องการหาส่วนเติมเต็มทางธุรกิจที่สำคัญซึ่งกันและกัน ซึ่งความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามายังมีอยู่มาก โดยเฉพาะลูกค้าเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาเป็นซัพพลายเชนในประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนไทยที่ออกไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นมีเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทน" นางกรรณิกา กล่าว ด้านนายโนบุฮิเดะ ฮายาชิ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารมิซูโฮ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมถึงธุรกรรมทางการเงิน การค้าการลงทุนและธุรกรรมสำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีเครือข่ายครอบคลุม 1,173 สาขาและเอทีเอ็ม 9,142 จุดทั่วประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นภูมิศาสตร์สำคัญสำหรับฐานการผลิตในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ภายใต้ปริบทของเออีซีที่จะเริ่มต้นในปี 2558 Tags : กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ • ไทยพาณิชย์ • ต่างประเทศ • อาเซียน • แบงก์มิซูโฮ