บาทอ่อน'อุ้มส่งออกแค่ชั่วคราว

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "แบงก์ชาติ" ย้ำข้อเสนอกดเงินบาทอ่อนอุ้มส่งออก ช่วยการเติบโตแค่ระยะสั้น ยันที่ผ่านมารัฐไม่เคยขอให้ดูแลเรื่องนี้

    นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ข้อเสนอของบางหน่วยงานที่ต้องการให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาทไปในทางอ่อนค่า เพื่อผลักดันการส่งออกให้เติบโต กรณีนี้คงช่วยการส่งออกให้เติบโตได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน เพราะการจะทำให้ภาคการส่งออกกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องไปปรับโครงสร้างในภาคส่วนนี้ใหม่

    “เรื่องค่าเงินเราดูแลเป็นปกติอยู่แล้ว โดยพยายามให้มีเสถียรภาพ ส่วนเรื่องที่ต้องการเห็นเงินบาทอ่อนเพื่อสนับสนุนการส่งออกนั้น การใช้อัตราแลกเปลี่ยนในด้านนี้ มันช่วยได้แค่ชั่วคราว ปัญหาจริงๆ ต้องไปปรับที่โครงสร้างการส่งออก เพราะเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่า และยังไงๆ ก็หนีไม่พ้นที่เราต้องมาปรับโครงสร้างในส่วนนี้กัน”นางผ่องเพ็ญกล่าว

    รองผู้ว่าการธปท. ยังกล่าวด้วยว่า โดยปกติของผู้ประกอบการแล้ว การจะผลักดันให้ธุรกิจตัวเองสามารถส่งออกได้เยอะๆ เขาก็ต้องไปคิดในเรื่องของกลยุทธ์ การหาตลาด การปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ขณะที่ภาครัฐก็ควรสนับสนุนโดยดูว่าจะช่วยปรับโครงสร้างได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและได้เงินดอลลาร์ในปริมาณที่มากขึ้น

    “ถ้ามัวแต่ไปทำให้เงินบาทอ่อน อย่างนี้ก็คงไม่จำเป็นต้องไปปรับโครงสร้างการผลิตอะไร ซึ่งมันจะได้ผลแค่ระยะสั้นเท่านั้น แล้วยังไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเราด้วย สุดท้ายก็จะกลับมาเป็นปัญหาอยู่ดี”นางผ่องเพ็ญกล่าว

    ส่วนคำถามที่ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มาขอให้ธปท.ดูแลโดยทำให้เงินบาทอ่อนหรือไม่นั้น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยมาขอธปท.ในเรื่องนี้ เขาปล่อยให้เราทำงานอย่างเต็มที่ และทาง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจ ก็เข้าใจกระบวนการทำงาน รวมถึงหลักคิดของ ธปท. เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาจึงยังไม่เคยมีการพูดเรื่องนี้กัน

    “อย่าลืมว่า คนที่มองเงินบาทมีค่าต่ำไปหรือสูงไป มีเยอะในตลาด ทุกคนก็จะมองแฟร์แวร์ลู (มูลค่าที่เหมาะสม) ว่าอยู่ตรงไหน หากเราไปไกลกว่าแฟร์แวลู มันก็จะมีการดำเนินการในอีกด้าน (เก็งกำไร) ซึ่งก็คงอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเราควรไปทำอะไรที่มีประโยชน์กับเราในระยะยาวดีกว่า”นางผ่องเพ็ญกล่าว

    นอกจากนี้ นางผ่องเพ็ญ ยังกล่าวถึง ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงการเติบโตที่ 0.6% ว่า เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับการประเมินของธปท.ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบที่ผ่านมา (5พ.ย.)

    ส่วนกรณีที่ ธปท. ได้ออกมาส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้านี้ นางผ่องเพ็ญ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ย เพียงแต่ระบุถึงเงื่อนไขถึงการลดดอกเบี้ยว่า สามารถทำได้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอ่อนแรงกว่าที่ ธปท. ได้คาดการณ์เอาไว้เท่านั้น

    “ถ้าอ่านจากถ้อยแถลงของ กนง. จะเข้าใจดี ซึ่งเรารู้สึกว่าดอกเบี้ยปัจจุบันยังเพียงพอ และกระทรวงการคลังเองก็พยายามเร่งการลงทุน เขาก็พยายามเพิ่มอัตราการเบิกจ่าย หากเขาทำได้อย่างที่คาด ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไปได้ดี เราจึงอยากรอให้เครื่องมือตัวนี้เริ่มทำงานก่อน”นางผ่องเพ็ญกล่าว

    การลงทุนของภาครัฐ แม้จะมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่มากนัก แต่จะมีส่วนทำให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนตาม เช่น การสร้างรถไฟฟ้า ก็จะทำให้มีผู้ลงทุนในส่วนของคอนโดมิเนียม หรือการสร้างรถไฟรางคู่ ก็จะช่วยในเรื่องการก่อสร้างโรงงาน โกดังสินค้า ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมาก และภาคเอกชนก็รอที่จะลงทุนในส่วนนี้อยู่

    ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมาธปท.ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ย เพียงแต่ระบุถึงพื้นที่ของการลดดอกเบี้ยว่ายังสามารถทำได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขที่ทำให้ ธปท. จำเป็นต้องลด แต่ไม่ได้หมายความว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะการดำเนินนโยบายการเงิน จำเป็นต้องมองปัจจัยหลายด้านประกอบกัน

    “รูมมันมีอยู่ ถ้าเงื่อนไขเข้าเราถึงดำเนินการ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะดำเนินการ มันมีเงื่อนไขอยู่ ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และแนวโน้มยังเป็นไปแบบช่วงที่ผ่านมา แบบนี้ก็ยังมีรูมพอที่จะลดได้ และไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องลดด้อย เพราะยังเป็นเพียงเงื่อนไขที่ต้องมองต่อไปในอนาคตเช่นกัน คือ ถ้าเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับที่ประมาณการกันไว้ ความจำเป็นก็ไม่มี แต่ถ้าต่ำกว่าประมาณการ ก็ต้องมาดูองค์ประกอบอื่นๆ ประกอบด้วย”นายเมธีกล่าว

    สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจ สศช. ไตรมาส 3 ปี 2557 ที่มีอัตราการเติบโตเพียง 0.6% และทำให้ค่าเฉลี่ย 9 เดือนเติบโตประมาณ 0.2% นั้น หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีเติบโตได้ราว 1% ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องไม่ต่ำกว่า 3.5% ซึ่งเรื่องนี้ นายเมธี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลเร่งการลงทุน อีกทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็อยู่ในเกณฑ์ดี ปัจจัยเหล่านี้จึงน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีได้เช่นกัน

    ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น นายเมธี กล่าวว่า คงมีผลกระทบผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอยู่บ้าง แต่ผลกระทบเชื่อว่าไม่ได้มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตที่ไม่ได้สูงอยู่ก่อนหน้าแล้ว

    สำหรับการอ่อนค่าของเงินเยนนั้น คงมีผลกระทบกับไทยไม่มากนัก เนื่องจากภาคส่งออกไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับญี่ปุ่น คือ ต้องมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นมาผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้ความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินไม่ได้มากนัก

    Tags : ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ • แบงก์ชาติ • ค่าเงินบา • ส่งออก

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้