'สมคิด'ค้านกระตุ้นระยะสั้น หวั่นซ้ำรอยอดีต 'บรรยง'แนะปีหน้ารัฐมุ่งปฏิรูป-แก้คอร์รัปชัน มากกว่า'จีดีพี' "สมคิด"เผยเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว สร้างแรงกดดันรัฐบาลให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เตือนนโยบายระยะสั้น ส่งผลดีชั่วคราว แต่สร้างปัญหาระยะยาวเหมือนในอดีต ด้าน "บรรยง" ชี้ปีหน้าเดินหน้าปฏิรูป มั่นใจทำได้ในรัฐบาลนี้ แนะเร่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ขณะทียูเอฟแนะอย่าหวังส่งออกปีหน้า คาดเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ที่ปรึกษารัฐบาลและผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งสัญญาณแนวทางบริหารงานด้านเศรษฐกิจ โดยยอมรับว่ารัฐบาลเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่อย่าคาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นที่หวังผลระยะสั้นและในปีนี้นโยบายปฏิรูปและแก้ปัญหาคอร์รัปชัน อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่ารัฐบาลเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นระยะสั้น แต่มาตรการกระตุ้นดังกล่าวอาจซ้ำรอยในอดีตที่ก่อปัญหาระยะยาว "แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ เราจะพลิกฟื้นประเทศไทยให้กลับมาสดใส หรือจะกลับไปซ้ำรอยความผิดพลาดเหมือนในอดีต ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี ซึ่งตัวผมเอง เห็นถึงความห่วงใยของประชาชน ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัว และต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการออกมากระตุ้น" นายสมคิด กล่าว ในการสัมมนา " Looking Forward อนาคตประเทศไทยปี 58" จัดโดย นสพ.ประชาชาติธุรกิจ วานนี้ (19 พ.ย.) "ที่ผ่านมาผมเห็นถึงความห่วงใยของประชาชนจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองการเติบโตปี 2557และ 2558 ลดลง ทำให้มีแรงกดดันกับรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และต้องการให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผมต้องการให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และการใช้จ่ายใดๆ ควรสอดรับสอดคล้องกับวาระที่สำคัญกับการแก้ไขฟื้นฟูประเทศของเรา" นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า การเติบโตของประเทศไทย ต้องมาจากความสามารถของการพัฒนานวัตกรรมความเข้มแข็งทางผลผลิต ที่ช่วยให้ไทยแข่งกับคนอื่นได้ ไม่ใช่การเติบโตจากการอัดฉีด หรือปั๊มเงินเข้าระบบ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเพียงชั่วคราว (อ่านรายละเอียด น.2) ชี้ปีหน้าเน้นปฏิรูปมากกว่าจีดีพี ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด กล่าวว่า ปีหน้าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ควรจะให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องของการเติบโต เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศไทย ยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่มาก ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาคอร์รัปชัน ถ้าหากไม่เร่งแก้ปัญหาตั้งแต่ในขณะนี้ อาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตไม่มีความยั่งยืน และที่สำคัญในขณะนี้นับเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเร่งปฏิรูปในเรื่องที่อาจจะไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาปกติ อาทิ หน่วยงานราชการ หรือการจัดการโครงสร้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ “การปฏิรูปที่ดีควรจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เนื่องจากการปฏิรูปไม่สามารถจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ได้ ฉะนั้นหากภาครัฐต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงต้องยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา มักจะมีการคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก” นายบรรยง กล่าว ชี้กระแสต้านคอร์รัปชันขาดรูปธรรม นายบรรยง กล่าวว่าขณะนี้สังคมเริ่มมีการพูดถึงกระแสการต่อต้านคอร์รัปชันมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการรณรงค์ในขณะนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงผลที่เห็นได้ชัดว่าปัญหาการคอร์รัปชันนั้นลดน้อยลง “ในอดีตฟิลิปปินส์เคยล้มเหลวเนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันมาก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่อันดับการคอร์รัปชันของไทยดีกว่าฟิลิปปินส์อยู่พอสมควร แต่ในปัจจุบันอันดับการคอร์รัปชันของไทยอยู่ที่ 102 ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ที่อันดับ 92 ดังนั้น หากปล่อยให้ปัญหาคงอยู่ต่อไปอาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ภาครัฐควรจะมีการส่งเสริมให้มีองค์กรไม่แสวงหากำไรและจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และโดยส่วนตัวอยากเสนอให้มีการออกกฎเพื่อควบคุมการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ซึ่งปกติใช้งบประมาณ 8 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมการจัดงานต่างๆ แต่พบว่า 50% ที่ของงบประมาณที่ใช้ไปนั้นไม่เกิดประโยชน์” นายบรรยง กล่าว จี้เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาของไทยที่ควรจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน นอกจากโครงสร้างพื้นฐาน คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตต่อหัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวจะช่วยทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มมากขึ้นด้วย จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 12,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีในอนาคต คาดอีก5ปีเอเชียผงาดเศรษฐกิจโลก ในปี 2563 หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจของจีนจะมีมูลค่าแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก นอกจากนี้เศรษฐกิจของอินเดียและญี่ปุ่นก็จะเพิ่มเติบโตขึ้นอีกมาก ทำให้ภูมิเอเชียจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทน ฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่มอาเซียน “เชื่อว่าในอนาคตจีนต้องพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน อย่างที่สหรัฐพยายามผลักดันเศรษฐกิจของเม็กซิโก เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ และเชื่อว่าจะโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรับกับการเติบโตในอนาคต” นายศุภชัย กล่าว ในขณะที่ปัญหาการคอร์รัปชันนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรเร่งมือแก้ไขในปีหน้า ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้โดยง่าย ทำให้เกิดการตรวจสอบโดยภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น ทียูเอฟชี้เลิกหวังส่งออกโตสูง ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF กล่าวว่า การเติบโตของภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าอาจจะเติบโตได้ไม่ตามเป้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเติบโตได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป ส่วนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแม้จะมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน “ในอนาคตประเทศไทยอาจจะไม่สามารถหวังให้การส่งออกเติบโตสูงอย่างที่ผ่านมาได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และที่สำคัญประเทศไทยจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มิเช่นนั้นอาจจะต้องกลับไปแข่งขันด้านราคาเหมือนในอดีต และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมองว่าประเทศไทยยังมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่น้อยอยู่มาก ฉะนั้นหวังแค่ให้การส่งออกสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ก็ดีแล้ว” นายธีรพงศ์ กล่าว ทั้งนี้ ในอนาคตภาครัฐควรเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐมีการลงทุนด้านนี้น้อยมาก ทำให้หลายฝ่ายมองว่าที่ผ่านมาการส่งออกเติบโตสูงมากหากเทียบจากสัดส่วนของการเติบโตเศรษฐกิจ Tags : กระตุ้นเศรษฐกิจ • กดดัน • รัฐบาล • ไม่ฟื้น • คสช. • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ • จีดีพี • บรรยง พงษ์พานิช • คอร์รัปชัน • ศุภชัย เจียรวนนท์ • ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น