"ส.อ.ท." ดันสร้างเชื่อมั่นต่างชาติ อุตฯรถชง 5 มาตรการฟื้นการผลิต ประธาน ส.อ.ท. ระบุภารกิจเร่งด่วนประเทศ "ฟื้นเชื่อมั่น" คู่ค้า-นักลงทุนต่างชาติ ให้มั่นใจสถานการณ์ในไทย หวั่นชวดออเดอร์ ตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มอุตฯยานยนต์ชง 5 ข้อเสนอฟื้นฟูภาคยานยนต์ด้านเอกชน ขานรับทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ คสช. "หม่อมอุ๋ย-ณรงค์ชัย-สมคิด" แจงเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเศรษฐกิจครบเครื่อง วานนี้ (28 พ.ค.) ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.นำคณะเข้าพบ ผู้บริหารเครือเนชั่น นำโดย นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานเครือเนชั่น โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าจะร่วมมือกัน ฟื้นความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศจากสถานการณ์เกิดขึ้น นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.กล่าวภายหลังนำทีมผู้บริหารเข้าพบผู้บริหารเครือเนชั่นว่า ตามแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ 7 ด้านที่เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น เห็นว่า แผนในระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การเรียกความเชื่อมั่นภาคธุรกิจให้กลับมา โดยเฉพาะกับคู่ค้าและภาคธุรกิจในต่างประเทศ ถึงความสามารถในการผลิต และการส่งมอบสินค้าตามความต้องการ (ออเดอร์) ในอนาคต ในช่วงที่ไทยกำลังแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ เช่น การจัดสัมมนาเชิญนักธุรกิจรายใหญ่จากต่างชาติ มาสะท้อนความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย เป็นต้น ประธานส.อ.ท. ยังกล่าวอีกว่า ส่วนแผนในระยะยาว เห็นว่าจะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม กฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มนวัตกรรมเพื่อสร้างประสิทธิภาพการแข่งขัน ในส่วนของภาคธุรกิจเองจะต้องสร้างความพร้อมด้านการบริหารจัดการ ให้ทันกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังต้องการขอความชัดเจนในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอแนะความเห็นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยส.อ.ท.ได้เสนอไปในแผนว่าควรจะมีการประชุมร่วมกรอ.เดือนละครั้ง เอกชนขานรับทีมเศรษฐกิจคสช. นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ แสดงความเห็นต่อทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ คสช.ว่า ถือว่าเลือกคนที่เหมาะสมแล้ว เพราะแต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์ในการทำงาน มีความรู้ความสามารถ โดยต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาประเทศให้เร็วที่สุด หากคิดแล้วไม่ลงมือทำก็ไม่มีประโยชน์อะไร ด้านนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลธนบุรี กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของคสช.ถือว่าเป็นที่น่าพอใจและยอมรับได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากล้วนเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีภูมิหลัง และประสบการณ์การทำงานที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ก็เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจในเชิงมหภาค ขณะที่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็เป็นผู้ที่มีความรู้ด้านความสามารถด้านเศรษฐกิจจุลภาค เขายังกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของคสช.ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศพึงพอใจในการทำงาน ด้วยการดูแลด้านปากท้องพื้นฐาน รวมถึงการกระจายรายได้ให้กับประชาชน เพื่อเปิดกว้างให้เข้าถึงทรัพยากร ส่วนคนชนชั้นกลาง หรือมนุษย์เงินเดือน ก็ควรช่วยเหลือในด้านของการลดภาษี ขณะที่ภาคเอกชนนั้นเก่งอยู่แล้ว ควรแก้ไขด้านการโปร่งใส ขจัดคอร์รัปชันเท่านั้นก็ทำให้ประเทศมีการปฏิรูป มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ด้านนายดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการด้านกลยุทธ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า โครงสร้างการทำงานของคนที่มาร่วมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาถือว่ารับได้ เพราะเป็นบุคคลที่มีผลงานและมีความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ “ในเบื้องต้นถือว่าคัดเลือกทีมงานได้เป็นที่ยอมรับต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ไทยมีภาพลักษณ์ดีขึ้น แต่ต้องพิจารณาว่าระหว่างทางจะมีกระบวนการทำงานอย่างไร" สหพัฒน์เชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจ นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดตั้งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจดังกล่าวซึ่งคัดเลือกบุคคลมาอย่างดี เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะร่วมมือกันทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องการให้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจปรับขั้นตอนการทำงานให้กระชับมากขึ้น ขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น การขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งใบ ร.ง.4 ใบ อย.ล้วนใช้เวลาเป็นปี รวมทั้งการหาทางลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้าน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจที่แต่งตั้งมา เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้จริง เนื่องจากเศรษฐกิจมีหลากหลายมิติมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน การเงิน ภาคธุรกิจรายใหญ่รายย่อย จึงต้องการคนที่มีประสบการณ์มองเห็นถึงปัญหาเชิงลึก และมองการณ์ไกลเข้ามาดูแลและดำเนินงาน ด้านนายโนบุชิ โคอิเกะ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การตลาด บริษัท คาเมดะ-เอสทีซี จำกัด บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น ในเครือคาเมดะ กล่าวว่า เข้าใจสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมาการเมืองไทยยืดเยื้อมานาน อาจจะมีบ้างที่บริษัทแม่ในญี่ปุ่นบางบริษัทไม่เข้าใจสถานการณ์ กลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้ จึงยึดตามการประกาศแจ้งเตือนของทางรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลัก ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ทางทีมที่ปรึกษาเร่งดำเนินการหรือหามาตรการก็คือ การกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่ค้างอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอกว่า 6-7 แสนล้านบาท นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ในโอกาสนี้ต้องการให้แก้ไขโครงสร้างกฎหมาย ภาษีที่ซ้ำซ้อนในภาคธุรกิจ ปัญหาแรงงาน และระบบการศึกษาเพื่อเตรียมคนไว้รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง กล่าวว่า ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของคสช.ล้วนเป็นกูรูด้านเศรษฐกิจ ที่ภาคเอกชนและนักธุรกิจให้การยอมรับทุกคน โดยสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจต้องเร่งดำเนินการคือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะเติบโตขึ้น จากปัจจุบันที่ขาดความเชื่อมั่นและดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหดตัวลง 5ข้อเสนอค่ายรถฟื้นอุตฯยานยนต์ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการหารือของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเสนอแนะต่อภาครัฐฟื้นฟูอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ที่ประชุมได้เตรียมสรุปข้อเสนอแนะ 5 ข้อ เพื่อเสนอต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 1. ให้ภาครัฐเร่งการอนุมัติโครงการอีโค คาร์ เฟส 2 เพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจและเริ่มลงทุนได้ ซึ่งที่ผ่านมามีค่ายรถยนต์รวม 10 ราย ยื่นขอรับการส่งเสริมไว้ 2. การแก้กฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนของรถกระบะ ตามพ.ร.บ.ขนส่งทางบก ตามที่ภาคเอกชนเสนอให้แก้ไข น้ำหนักของรถกระบะ จากน้ำหนักรถเปล่า 1,600 กิโลกรัม เป็น 2,200 กิโลกรัม 3.เรื่องความชัดเจนของทิศทางนโยบายพลังงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถต้องใช้เวลานานในการวางแผนล่วงหน้า นโยบายด้านพลังงานยานยนต์ ต้องชัดเจนและมีความต่อเนื่องมากกว่าที่ผ่านมา 4.เอกชนเป็นห่วงเรื่อง ความสามารถของท่าเรือ ในการรองรับการส่งออกซึ่งรถยนต์ใช้ท่าเรือ แหลมฉบับ เป็นช่องทางหลักโดยแนะให้ภาครัฐเตรียมขยายท่าเรือเพื่อรับปริมาณส่งออกรถเกิน 1 ล้านคัน และ 5.เอกชนเสนอให้มีการฟื้นคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคเอกชน สภาอุตฯ ยานยนต์ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ขึ้นมาใหม่เพื่อร่วมกันคิดต่อยอด กลยุทธ์สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หลังจากที่คณะกรรมการชุดนี้เคยวางยุทธศาสตร์ อีโค คาร์ 1 สำเร็จมาแล้วก่อนจะถูกยกเลิกไป จาม่าชี้การเมืองไม่กระทบผู้ผลิตรถญี่ปุ่น นายฟูมิฮิโกะ อิเกะ ประธานบริษัทฮอนด้า มอเตอร์ และประธานสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น (จาม่า) กล่าวว่าธุรกิจในไทยของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ไม่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากนักหลังจากมีการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และความต้องการลงทุนในไทยก็ยังมีอยู่อย่างแข็งแกร่ง "ไทยเป็นแหล่งที่บริษัทต่างๆ สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่มีความเสี่ยงมากนักต่อเศรษฐกิจ" นายฟูมิฮิโกะกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ในวาระเข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น นายอิเกะ กล่าวว่า ยอดขายรถในไทยที่ลดลงตั้งแต่เดือนพ.ค. 2556 ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากผลกระทบของโครงการรถคันแรกที่สิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2555 มากกว่าที่จะเนื่องจากมาจากความวุ่นวายทางการเมือง แม้ว่ามีปัญหาทางการเมืองและยอดขายในประเทศลดลง แต่นายอิเกะกล่าวว่าบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางการส่งออก ไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะแม้บริษัทต่างๆ ลงทุนในอินโดนีเซียกับอินเดียมากขึ้น แต่ไทยยังได้เปรียบในแง่ของเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่งซึ่งมีการจัดวางหรือสร้างเสริมมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อีกทั้งไทยยังมีนโยบายส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในไทย และบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นได้ย้ายการดำเนินงานจากญี่ปุ่นมาไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าแรงสูงและเงินเยนแข็งค่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่ากำลังจับตาดูเหตุการณ์แต่โรงงานทั้ง 3 แห่งของโตโยต้าในไทย ดำเนินงานตามปกติ นายโนบุโยริ โคไดระ รองประธานโตโยต้า กล่าวว่าบริษัทกำลังจับตาดูสถานการณ์ในไทย แต่ไทยประเทศเป็นฐานที่สำคัญมากสำหรับบริษัท ซึ่งในระยะยาวเขาคิดว่าประเทศตลาดเกิดใหม่มีความต้องการมากขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น ขณะที่ในระหว่างนี้ก็อาจมีความผันผวนบ้าง ด้าน นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ไม่ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน โดยล่าสุด วันที่ 11 มิ.ย. 2557 นี้ นิสสัน มอเตอร์ มีแผนแนะนำรถยนต์กระบะ รุ่นนาวาร่า โฉมใหม่ ครั้งแรกในโลก (World Premiere) ที่ประเทศไทย ซึ่งนิสสันกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตกระบะเพื่อส่งออกทั่วโลก Tags : ส.อ.ท. • ความเชื่อมั่นต่างชาติ • ภารกิจ • คสช • สภาอุตสาหกรรม