ธปท.เผยสินเชื่อชะลอลง8ไตรมาสติด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    แบงก์ชาติเผยสินเชื่อไตรมาส 3 โต 5.6% ชะลอลง 8 ไตรมาสติดต่อกันหลังภาคธุรกิจหันระดมทุนผ่านหุ้นกู้-เพิ่มทุน


    นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ 5.6% โดยชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราการขยายตัวที่ 7.3% และยังถือเป็นการชะลอตัวลงติดต่อกัน 8 ไตรมาส

    สาเหตุที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลงติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ประกอบกับที่ผ่านมาธุรกิจขนาดใหญ่หันไประดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ หรือการเพิ่มทุน และได้นำเงินบางส่วนมาชำระคืนหนี้ธนาคารพาณิชย์ด้วย ทำให้สินเชื่อภาคธุรกิจไตรมาส 3 ปี 2557 มีอัตราการขยายตัวที่ 4.5% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ 6.6%

    “ช่วงหลังจะเห็นว่าธุรกิจโดยเฉพาะขนาดใหญ่ มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ ธุรกิจเหล่านี้ก็หันไปออกหุ้นกู้และเพิ่มทุนกันมากขึ้น เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์”นายจาตุรงค์กล่าว

    เขากล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลของธปท. โดยนับเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้คืนเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์มากกว่า 5 พันล้านบาทขึ้นไป พบว่ามีเม็ดเงินที่คืนรวมกันประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งถ้านับรวมเงินส่วนนี้เข้าไป ก็จะทำให้สินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์โตได้ราว 7.7% จาก5.6% ในปัจจุบัน

    นอกจากนี้การเติบโตของสินเชื่อครัวเรือนเองก็เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เร่งตัวขึ้นไปมาก โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ได้อานิสงส์จากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 8%ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราการขยายตัวที่ 8.8%

    สำหรับคุณภาพสินเชื่อนั้น พบว่าด้อยลงเล็กน้อย โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 3 ปี2557 อยู่ที่ประมาณ 2.34% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 2.28% อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลดังกล่าว นับเป็นการเพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน

    ส่วนสินเชื่อที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ (เอสเอ็ม) เพราะมียอดคงค้างมากกว่า 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน พบว่า มีอัตราการขยายตัวในทิศทางเดียวกัน โดยไตรมาส 3 ปี 2557 มีสัดส่วนอยู่ที่ 3.55% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 3.49%

    นายจาตุรงค์ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของทั้งเอ็นพีแอลและเอสเอ็ม ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อบัตรเครดิตมีการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 ปี 2557 เป็น 3.7% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่3.3% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลพบว่ามีเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 ปี 2557 อยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่ 2.6%

    “คุณภาพสินเชื่อถือว่าด้อยลงเล็กน้อย โดยเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือราว 3.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่งผลให้เอ็นพีแอลโดยรวม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.34% และเอ็นพีแอลสุทธิ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.18%” นายจาตุรงค์กล่าว

    อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของทั้งเอ็นพีแอลและเอสเอ็มดังกล่าว ไม่ได้น่ากังวลมากนัก เพราะถ้าดูฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์แล้วถือว่ายังมีความแข็งแกร่งอยู่มาก โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ 166.9%

    สำหรับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 3 ปี 2557 พบว่า มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 5.38 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากรายได้เงินปันผลที่ลดลงเป็นหลัก

    ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 2557 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิรวม 1.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท หรือ6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการควบคุมต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย โดยการเน้นเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ที่มีต้นทุนต่ำกว่า และมีการทยอยหมดอายุของเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูง ทำให้ส่วนต่างรายได้สุทธิ(NIM) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 2.6%

    นอกจากนี้ เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) ของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 3 ปี 2557 ยังเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรในงวดครึ่งปีแรกของปี 2557 และการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 เป็นสำคัญ ส่งผลให้บีไอเอสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 15.9% โดยมีอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 หรือ เทียร์1 อยู่ที่ 13.9% ในไตรมาส 3 ปี 2557 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 13%

    นายจาตุรงค์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปนั้น คงต้องขึ้นกับภาพรวมเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไตรมาส 4ของทุกปีถือเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อกันค่อนข้างมาก ซึ่งไตรมาส 4 ปีนี้ก็คงต้องรอดูว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และความต้องการสินเชื่อมีมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามดู เช่นเดียวกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล เพราะถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ก็มีโอกาสที่เอ็นพีแอลจะยังเพิ่มได้เช่นกัน

    สำหรับกรณีร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 20 ที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 ก.พ.2558 ซึ่งจะทำให้บุคคลที่ค้ำประกันเงินกู้ไม่ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบนั้น เรื่องนี้ ธปท.ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำข้อมูลมา เพื่อดูผลกระทบต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้นจะนำมาประเมินผลกระทบในภาพรวมอีกที

    “เราขอให้แต่ละแบงก์ไปประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน เพื่อนำมาเป็นข้อมูล หลังจากนั้นจึงจะนำมาประเมินในภาพรวม แต่อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเชื่อว่า คงทำให้การทำงานของแบงก์เปลี่ยนไป เขาเองก็คงต้องไปปรับกระบวนการทำงานกันใหม่” นายจาตุรงค์กล่าว

    Tags : จาตุรงค์ จันทรังษ์ • ธปท. • สินเชื่อ • ไตรมาส3

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้