ตลาดหลักทรัพย์ออกเกณฑ์คุมหุ้นร้อนวันนี้ ด้าน "ประพันธ์" ระบุอาจกระทบบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไม่รุนแรง วันที่ 19 พ.ย.2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์จะมีการประชุมหารือเพื่อพิจารณาออกมาตรการเกณฑ์คุมหุ้นที่มีแรงเก็งกำไรมากเกินไปเพิ่มเติม โดยคาดว่าในที่ประชุมจะมีการพิจารณายืดระยะเวลาการซื้อขายในบัญชีแคชบาลานซ์ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ยอมรับว่ามาตรการคุมหุ้นร้อนแรงที่จะออกมาวันนี้ (19 พ.ย.) อาจส่งผลกระทบให้ระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น(ค่าพี/อี)ของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอปรับตัวลดลงไปบ้าง จากราคาหุ้นที่อาจได้รับผลกระทบ และอาจกระทบกับหุ้นไอพีโอที่จะเข้าทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอในวันนี้ แต่มองว่าจะกระทบไม่มากนัก และหากจะทำให้ระดับพี/อีของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอกลับสู่ภาวะปกติ อาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี "มาตรการคุมหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวของราคาร้อนแรงนั้น อาจส่งผลกระทบให้ระดับค่าพี/อีของตลาดหุ้นเอ็มเอไอปรับตัวลดลงไปบ้างจากราคาหรือผลจากการเก็งกำไรที่น้อยลง แต่มองว่าจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะผลประกอบการในระยะที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัวชัดเจน" นายประพันธ์กล่าวว่าปัจจุบันระดับค่าพี/อี ของตลาดหุ้นเอ็มเอไออยู่ที่ 72 เท่า ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 77 เท่า เป็นผลมาจากภาวะตลาดที่หุ้นปรับตัวลดลง ในมุมมองของเขา หากจะทำให้ระดับพี/อีกลับมาสู่ภาวะปกติ จะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี เพราะผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนในเอ็มเอไอ 1 ใน 4 ขาดทุน และการคิดคำนวณระดับพี/อีจะใช้ผลประกอบการย้อนหลัง 4 ไตรมาส ทำให้ผลประกอบการคาดทุน จะเป็นตัวถ่วงเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และหากเศรษฐกิจในปีหน้าฟื้นตัว ผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้น และกดดันให้ระดับพี/อีปรับตัวลดลงไปได้ ส่วนระดับพี/อีที่สูง ยังมีมุมที่ดีที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนเข้ามาระดมทุนมากขึ้น โดยทั้งปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทเข้าทำการจดทะเบียนทั้งสิ้น20 บริษัท สูงจากเป้าหมายที่เคยคาดไว้ 16 บริษัท และคาดว่าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หุ้นเข้าจดทะเบียนใหม่อยู่ที่ระดับ3-4 หมื่นล้านบาท และทำให้บริษัทที่จะเข้าระดมทุนทำราคาหุ้นที่จะขายให้กับนักลงทุนได้ค่อนข้างดี บางบริษัทประเมินราคาหุ้นที่ระดับพี/อี 40 เท่าแต่ยอมรับว่าหุ้นไอพีโอที่จะเข้าทำการจดทะเบียนวันแรก อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการที่จะออกมา เพราะส่วนหนึ่งของการซื้อขายหุ้นคืออารมณ์ของตลาด ซึ่งหากตลาดกังวลกับมาตรการดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีการประชุมร่วมกัน ในวันนี้ ซึ่งการประชุมรอบนี้มีวาระเรื่องการพิจารณา มาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรงเข้ามาหารือด้วย โดยนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ในฐานะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า มาตรการที่ออกมายืนยันว่า จะไม่เป็นลักษณะการเหวี่ยงแห หรือทำลายบรรยากาศการลงทุน แต่เป็นลักษณะให้นักลงทุนมีเวลาตัดสินใจรับข้อมูลข่าวสารมากกว่า “มาตรการทุกอย่างที่ออกมา เราจะต้องให้ยาที่ตรงกับโรค ต้องไม่ทำให้คนอื่นที่ไม่มีปัญหา มามีปัญหาไปด้วย จึงอยากให้นักลงทุนสบายใจในส่วนนี้ โดยมาตรการที่ออกมาจะไม่เป็นลักษณะการสกัดกั้น หรือเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน แต่จะเป็นลักษณะการเพิ่มความหนืดเพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตัดสินใจ” นางภัทธีรา กล่าว สำหรับกฎเกณฑ์เรื่องบัญชีซื้อขายด้วยเงินสด (แคชบาลานซ์) นั้น เนื่องจากกฎเกณฑ์นี้ตลาดหลักทรัพย์ได้นำมาใช้นานมากแล้ว จึงอาจมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในบางเรื่องเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะระยะข้างหน้าซึ่งจะมีหุ้นขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นมากขึ้นด้วย “ท่ามกลางที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังมีหุ้นเอสเอ็มอีเข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนหุ้นน้อย การเข้ามาซื้อขายที่รุนแรงอาจทำให้ราคาปรับเปลี่ยนไปเร็วขึ้น ดังนั้นเกณฑ์แคชบาลานซ์คงต้องมาดูกันว่า จะปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เช่นหุ้นที่เข้าเทิร์นโอเวอร์ลิสท์ (หุ้นที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง)อาจต้องให้วอร์แรนท์ (ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ) ของหุ้นนั้นเข้าเกณฑ์ดังกล่าวด้วย” นางภัทธีรากล่าว สำหรับเรื่องการขยายเวลาหุ้นที่เข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์นั้น คงเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะมีการพิจารณากันด้วย เพียงแต่การขยายเวลาอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากหุ้นที่เข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์ แต่หากมีนักลงทุนที่ต้องการซื้อขายและมีเงินสดจำนวนมาก นักลงทุนเหล่านี้ก็ไม่ได้สนใจเกณฑ์ดังกล่าวมากนัก เพราะเขาก็ยังซื้อขายอยู่ดี จึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการควบคุมวงเงินในการซื้อขายหุ้นร้อนแรงนั้น นางภัทธีรา กล่าวว่า เรื่องนี้สมาคมโบรกเกอร์ได้ประกาศใช้เป็นการภายในของสมาคมฯ แล้ว โดยใช้เป็นตัวอ้างอิงในการให้วงเงินซื้อขายสำหรับโบรกเกอร์ด้วยกันเอง “เรานำมาใช้เพื่อให้สมาชิกใช้เป็นไกด์ไลน์ โดยจะไม่ให้วงเงินซื้อขายที่มากเกินไปสำหรับหุ้นร้อนแรง เพราะเกรงว่าหากหุ้นวิ่งเกินพื้นฐานไปมาก เวลาปรับตัวลงมักจะลงมาอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่าลูกโป่งแตก ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อการชำระราคา คงต้องมีการปรับวงเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” นางภัทธีรา กล่าว ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังปรับตัวอยู่ในแดนบวกได้ โดยปิดการซื้อขายที่ 1,581.27 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่12.20 จุด มูลค่าการซื้อขาย 50,707.29 ล้านบาท หุ้นขนาดเล็กยังปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก แม้ในวันที่ 19 พ.ย. คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมีการประชุมกันเพื่อหารือมาตรการควบคุมหุ้นที่มีความร้อนแรง โดยหุ้นบริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ปิดการซื้อขายที่ 2.60 บาทต่อหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% บริษัท ปรีชากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRECHA ปิดการซื้อขายที่ 3.40 บาทต่อหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.77% บริษัท เคปเปล ไทย พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)หรือ KTP ปิดการซื้อขายที่ 2.76 บาทต่อหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.21% บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) ปิดการซื้อขายที่ 5.45 บาทต่อหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.75% Tags : ประพันธ์ เจริญประวัติ • ตลาดหลักทรัพย์ • มาตรการคุมหุ้นร้อน