เมื่อสองสัปดาห์ก่อนอินเทลจัดงาน Internet of Things Solutions Conference 2014 ในกรุงเทพฯ มีผู้บริหารเดินทางมาเพื่อบรรยายในงานนี้หลายคน ทาง Blognone มีโอกาสไปพบกับคุณ Gregg Berkeley หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Internet of Things (IoT) และเล่าถึงสิ่งที่อินเทลทำในธุรกิจนี้ Internet of Things ช่วยอะไรเรา ในการบรรยาย Gregg ระบุว่าเทคโนโลยี IoT จะเข้ามาทำงานสามส่วนในอุปกรณ์ที่เราเห็นทุกวันนี้ ได้แก่ มอนิเตอร์, ควบคุม, และวิเคราะห์ เขายกตัวอย่างระบบแอร์รวมของอาคารที่ปกติแล้วต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่เสมอ หากแอร์เสียไปสักวันหนึ่งความเสียหายก็อาจจะสูงมาก กรณีที่แย่ที่สุดมอเตอร์อาจจะไหม้มีควัน และอาคารถึงกับทำงานไม่ได้ ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นคือกรณีสนามบินชิคาโก ต้องหยุดให้บริการไปหนึ่งชั่วโมงเพียงเพราะระบบระบายอากาศเสียหาย สร้างความเสียหายทางธุจกิจได้มหาศาล ระบบ IoT สามารถช่วยให้ฝ่ายอาคารมอนิเตอร์การทำงานของมอเตอร์เครื่องปรับอาการ วิเคราะห์ว่ามันยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ กรณีที่มอเตอร์เริ่มมีปัญหามันอาจจะกินไฟมากขึ้นกว่าปกติ ฝ่ายอาคารจะมีข้อมูลเพื่อสั่งปิดมอเตอร์ตัวนั้นล่วงหน้าและหาอะไหล่มาเปลี่ยนในเวลาที่เหมาะสม ระบบจัดการอาคารที่ฉลาดจะช่วยให้การจัดการเป็นไปอย่างอัตโนมัติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุกวันนี้หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่จะต้องสั่งลิฟต์ทุกตัวให้ลงมายังชั้นล่าง พร้อมกับประกาศแจ้งเตือน IoT จะรวมระบบทั้งหมดเข้าเป็นระบบเดียวกัน สัญญาณแจ้งเตือนไฟไหม้จะเชื่อมต่อเข้ากับลิฟต์และระบบอื่นๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานะการณ์ได้เอง ในระบบขนาดใหญ่กว่าอาคาร เช่น ระดับเมือง เราอาจจะมอนิเตอร์การเดินทางของคน จัดการระบบขนส่ง หรือดูแลสภาพอากาศได้ด้วยข้อมูลที่มีการมอนิเตอร์ตลอดเวลา ความปลอดภัย การนำคอมพิวเตอร์เข้าไปมอนิเตอร์และควบคุมทุกส่วนของอาคารอาจจะสร้างประโยชน์ได้อย่างมาก แต่ประเด็นความปลอดภัยก็เป็นประเด็นสำคัญ การดูแลความปลอดภัยของระบบ IoT จะต้องประกอบไปด้วย การป้องกันตัวอุปกรณ์เอง, ป้องกันแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ให้ไม่ถูกแก้ไข, และป้องกันข้อมูลทั้งบนเครื่องและที่กำลังส่งกลับเซิร์ฟเวอร์ กระบวนการป้องกันที่สำคัญ คือ การอัพเดตซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์เหล่านี้ที่ต้องมีการจัดการบำรุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน ทางอินเทลเองมีชุดซอฟต์แวร์ของตัวเอง ทั้งในส่วนโอเพนซอร์ส และส่วนที่เป็นไลเซนส์ Moon Island ผมสอบถามเรื่องกระบวนการอัพเดตว่าระบบ IoT ที่ใช้โซลูชั่นของอินเทลจะเป็นอย่างไร Gregg ระบุว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้พร้อมสำหรับการอัพเดตจากระยะไกลอยู่แล้ว แต่ในกระบวนการจริงเนื่องจากอินเทลไม่ได้ขายสินค้าเหล่านี้โดยตรง แต่ไปพร้อมกับโซลูชั่นของพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ เมื่อมีอัพเดตออกมา ทางพาร์ตเนอร์ต้องทดสอบและปล่อยอัพเดตเหล่านี้เอง อินเทลกับ IoT ภาพลักษณ์ของอินเทลยังคงติดกับซีพียูประสิทธิภาพสูง แต่ Gregg ก็ยืนยันว่าอินเทลมีความได้เปรียบหลายอย่างในอุตสาหกรรม IoT เพราะสามารถซัพพอร์ตโซลูชั่นได้ตั้งแต่เกตเวย์ไปจนถึงคลาวด์ (Edge-to-Cloud) ตั้งแต่ความปลอดภัย, กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถเลือกได้ว่าจะนำข้อมูลส่วนไหนไปวิเคราะห์ที่เกตเวย์หรือบนคลาวด์, และระบบการจัดการที่ควบคุมได้ทั้งระบบ ในการบรรยายยกกรณีของ Daikin ที่ประกาศความร่วมมือกับอินเทลเมื่อปีที่แล้ว โดย Daikin จะใช้โซลูชั่นของอินเทลเป็นเกตเวย์ระบบมอนิเตอร์เครื่องปรับอากาศรวมในอาคาร เพื่อช่วยระบบซ่อมบำรุง เช่น ความเสียหายของพัดลมหรือมอเตอร์ ตลอดจนการเปลี่ยนไส้กรองโดยคำนวณตามเวลาใช้งานจริง เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศให้ดีขึ้น ผมถามถึงประเด็นราคาที่อินเทลยังคงขายสินค้าราคาค่อนข้างแพง (Edison ชุดพร้อมใช้งานน่าจะเริ่มต้นที่ 75 ดอลลาร์ไปแล้ว) Gregg ระบุว่าแม้ว่าคู่แข่งจะทำระบบที่ราคาต่ำมากๆ แต่โซลูชั่นของอินเทลก็ยังมีประสิทธิภาพสูงกว่า Intel, Internet of Things, Embedded