จนถึงตอนนี้ Facebook ถูกบอยคอตจากแบรนด์สินค้าร่วม 900 แบรนด์ แล้ว จากปัญหา Hate Speech โดยชนวนสำคัญมาจากท่าทีของ Facebook ที่นิ่งเฉยต่อโพสต์สนับสนุนความรุนแรงและคุกคามประชาชนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการชักชวนแบรนด์ให้บอยคอตคือกลุ่มสิทธิพลเมือง เช่น NAACP, Anti-Defamation League รวมตัวกันสร้างแคมเปญ #StopHateForProfit ล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของ Facebook อย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก, Sheryl Sandberg (COO), Chris Cox (CPO), Nick Clegg (รองประธานฝ่ายการสื่อสาร) ก็ได้เข้าพูดคุยกับกลุ่มผู้สร้างแคมเปญแล้วผ่านการประชุมออนไลน์ ทางกลุ่มสิทธิพลเมืองแถลงการณ์ความคืบหน้าการพูดคุยว่ายังคงผิดหวังต่อท่าทีของ Facebook และยังคงไม่ได้รับความมั่นใจว่า Facebook จะแก้ปัญหาและทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มสิทธิฯ และจากการประชุมนี้ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากการแสดงออกในเชิงประชาสัมพันธ์ (Photo by Alex Wong/Getty Images) ข้อเรียกร้องสำคัญของกลุมสิทธิฯ เช่น ว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิพลเมืองเพื่อมาประเมินนโยบายด้านการเลือกปฏิบัติ, อคติและความเกลียดชัง รวมถึงมีการตรวจสอบจากหน่วยงานอิสระภายนอกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง Facebook ก็บอกว่ามีแผนการจัดการเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารใดๆ ออกมาแน่ชัด กลุ่มสิทธิฯ อ้างอิงข้อมูลจากสหประชาชาติด้วยว่า Facebook มีบทบาทสำคัญในการสร้างคามเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา มีการซื้อโฆษณาที่สนับสนุนการลดทอนความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัย, คนผิวสี และทิ้งท้ายการแถลงการณ์ว่า การบอยคอต Facebook จะยังมีอยู่ต่อไป จนกว่า Facebook จะสามารถตอบสนองข้อเรียกร้องอย่างจริงจัง เป็นเวลาร่วมเดือนแล้ว ที่ Facebook เจอแรงกดดันจากสังคมมหาศาล โดยมีต้นเหตุสำคัญจากโพสต์ของทรัมป์ ซึ่งทวิตเตอร์ได้ติดป้ายกำกับว่าโพสต์นั้นมีความรุนแรง แต่ Facebook กลับนิ่งเฉย ส่งผลให้พนักงานรวมตัวกันประท้วงออนไลน์ นำมาสู่การบอยคอตของแบรนด์สินค้า ระงับการใช้เงินซื้อพื้นที่โฆษณาใน Facebook จนFacebook ต้องออกมาแถลงการณ์ว่า บริษัทไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยจากความเกลียดชัง ที่มา - NYT, Free Press Topics: Facebookhate speech