ผบ.ทอ. "พล.อ.อ.ประจิน" ลั่น งบปี 2558 ทันเบิกจ่าย 1 ต.ค. สำนักงบฯเสนอตีกรอบวงเงิน 2.55-2.6 ล้านล้าน พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงคมนาคม วานนี้ (28 พ.ค.) โดยยืนยันว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะสามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 อย่างแน่นอน ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้อธิบายถึงช่วงเวลาการจัดทำงบประมาณ โดยกำหนดกรอบการพิจารณา คือ 1.ในระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-9 มิ.ย.นี้ ทั้ง 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ จะต้องร่วมหารือถึงกรอบวงเงินงบประมาณ และโครงสร้างงบประมาณ 2.เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ สำนักงบประมาณจะต้องจัดทำยุทธศาสตร์จัดสรรงบ เพื่อเสนอให้ คสช. พิจารณาเห็นชอบ 3.จากนั้นให้ส่วนราชการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เสนอกลับมายังสำนักงบประมาณภายในวันที่ 27 มิ.ย. นี้ และ 4. เมื่อส่วนราชการเสนอขอตั้งงบประมาณมาแล้ว จะเป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณที่จะมาพิจารณาจัดสรรงบให้ เตรียมเสนอกรอบงบ 29 ก.ค. ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ได้พิจารณาจัดสรรงบไปแล้วใน 3 รายงานหลัก ได้แก่ 1.รายจ่ายประจำขั้นต่ำ 2.รายจ่ายภารกิจพื้นฐาน 3.รายจ่ายผูกพันตามสัญญา ซึ่งทั้ง 3 รายการนี้ ถือเป็นสัดส่วนต่องบประมาณรวมถึง 70% ส่วนที่เหลือจะเป็นรายจ่ายตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งจะต้องรอทางคสช.เป็นผู้กำหนด และนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี หรือคสช.พร้อมรายละเอียดในวันที่ 15 ก.ค.นี้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณแล้ว ทางสำนักงบประมาณจะจัดทำเป็นพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย เสนอให้คสช.หรือคณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 ก.ค.นี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติในวันที่ 7 ส.ค.-15 ก.ย.นี้ คาดนำเสนอทูลเกล้าฯ22ก.ย. ขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัตินี้ เมื่อไม่มีสภาผู้แทนฯ จึงไม่มีคณะกรรมาธิการ ดังนั้น ทางสำนักงบประมาณ จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองการจัดสรรงบประมาณให้เกิดความรอบคอบ จากนั้น ถึงจะเข้าวาระพิจารณาในขั้นตอนที่ 2 และ 3 ในวันที่ 17 ก.ย.และนำเสนอทูลเกล้าฯ ในวันที่ 22 ก.ย. เพื่อพร้อมประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ "กระบวนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายภายใต้ คสช. จะแตกต่างจากกรณีที่รัฐบาลตามปกติ เมื่อเราไม่มีรัฐบาลตามปกติ จึงจะไม่มีการแถลงนโยบาย การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และแผนในการบริหารแผ่นดินก็ไม่มี เพราะไม่มีสภาฯ ดังนั้น คสช.จึงจะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน เมื่อถึงเวลาที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ถ้ามีสภานิติบัญญัติ ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แต่ถ้าไม่มีก็จะมีประกาศบอกให้หัวหน้าคสช.ทำหน้าที่แทนสภานิติบัญญัติ" นายสมศักดิ์ กล่าว คาดรายได้ปีนี้หายไปแสนล้าน นายสมศักดิ์ กล่าวถึงรูปแบบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ด้วยว่า สำนักงบประมาณเห็นว่า ควรจัดทำเป็นงบประมาณแบบขาดดุลในอัตราที่ลดลงจากปีงบประมาณ 2557 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 โดยระดับการขาดดุลควรไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรวม 2.55-2.6 ล้านล้านบาท รายได้อยู่ที่ประมาณ 2.35 ล้านล้านบาท หากหลายฝ่ายเห็นว่า ควรทำงบขาดดุลเพิ่ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยสำนักงบประมาณเห็นว่า ควรที่จะนำมาจากรายได้มากกว่า หากในระหว่างปีงบ 2558 มีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ก็ให้จัดทำเป็นงบประมาณกลางปีแทน "การตั้งงบประมาณขึ้นอยู่กับรายได้ที่จัดเก็บในปี 2557 นี้ด้วย โดยปีนี้ คาดรายได้จะหายไปประมาณ 1 แสนล้านบาท จึงตั้งรายได้ปีหน้าไว้ที่ 2.35 ล้านล้านบาท ถ้าเรามีรายได้เพิ่ม ก็สามารถทำงบกลางปีเพิ่มขึ้นได้ แต่ถ้าตั้งงบขาดดุลไว้เพิ่มตั้งแต่ต้น ก็จะเป็นการก่อนหนี้เพิ่ม ซึ่งการจัดทำงบขาดดุลในระดับดังกล่าว เป็นไปตามเป้าหมายงบประมาณสมดุล ที่กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณได้เคยลงนามในข้อตกลงร่วมกันไว้ แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคสช." คาดมียอดเบิกจ่าย1.96แสนล้าน ยอดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2557 นั้น เขากล่าวว่า ขณะนี้ เบิกจ่ายได้แล้วประมาณ 61.34% ของวงเงิน 2.52 ล้านล้านบาท โดยงบรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 66.83% งบลงทุนเบิกจ่ายได้ 38.36% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่า มียอดการเบิกจ่ายที่ใกล้เคียงกัน เพราะเป้าหมายการเบิกจ่ายปีนี้สูงกว่าปีก่อน ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2557 นี้ สามารถทำได้ 80% โดยส่วนที่เหลือ 20% จะกันเป็นงบผูกพัน โดยมีวงเงินที่จะกันไปยังงบประมาณรายจ่ายปี 2558 เป็นวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับงบผูกพันในปีงบ 2556 ที่มาจ่ายในปีงบ 2557 คาดว่า จะเบิกจ่ายได้ใกล้เคียงเป้าหมาย โดยขณะนี้เบิกได้ประมาณ 1.44 แสนล้านบาท หรือ 61.71% ของงบผูกพันทั้งหมด และขณะนี้ ได้ทำสัญญางบลงทุนแล้ว รอการเบิกจ่ายอีก 5.16 หมื่นล้านบาท รวมแล้วจะมียอดเบิกจ่ายประมาณ 1.96 แสนล้านบาท พิจารณางบลงทุนตามยุทธศาสตร์ นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงงบลงทุน ที่จะมีการพิจารณาในปีงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ด้วยว่า ต้องรอดูนโยบายของคสช.เป็นหลัก โดยหลักการพิจารณางบลงทุน พิจารณาภายใต้หลักการที่มีความพร้อมในการลงทุนเป็นสำคัญ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนรถไฟรางคู่ จะพิจารณาในส่วนที่มีความพร้อม และไม่มีปัญหาเรื่องประชาพิจารณ์ หรือสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะมีการพิจารณางบลงทุนตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น รองรับเออีซี ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ดูแลผลผลิตการเกษตร หรือ ระบบป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น “ประจิน”ขอ2สัปดาห์ชี้ขาดเมกะโปรเจค พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม วานนี้ (28 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการใช้งบประมาณปี 2557 วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งได้ข้อสรุปว่างบประมาณที่ยังค้างจ่ายและงบผูกพันต่างๆ ในปี 2557 จะสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งหมดภายในเดือนก.ย. 2557 ส่วนงบประมาณปี 2558 วงเงินกว่า 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากงบประมาณปี 2557 นั้น จะต้องพิจารณารายละเอียด รวมทั้งความสามารถด้านงบประมาณของภาครัฐ ส่วนแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมนั้น พบว่าในภาพรวมมีทิศทางเดียวกับแนวทางของคสช. โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอรายละเอียดโครงการเร่งด่วนให้คสช.พิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติในสัปดาห์ต่อไป ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมยังคงจะดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคน โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 30 ล้านคน โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง รวมทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากนั้น "คสช.จะขอเวลา 2 สัปดาห์ในการศึกษารายละเอียดแนวทางดำเนินงาน แหล่งเงินลงทุน รวมทั้งปัญหาอุปสรรคของแต่ละโครงการ ก่อนสรุปแนวทางการดำเนินงานต่อไป" ส่วนโครงการลดค่าครองชีพของประชาชน ทั้งโครงการรถเมล์ฟรี และรถไฟฟรีเพื่อประชาชนนั้น จะเสนอให้คสช.พิจารณาว่าจะอนุมัติให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ พลอากาศเอกประจิน ยังกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่า จะพิจารณาหลังจากประชุมร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ส่วนการโยกย้ายข้าราชการประจำจะเป็นไปตามฤดูกาลตามปกติ คมนาคมชงเร่งด่วน40โครงการ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรอบคำขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2558 เสนอวงเงินรวม 388,765,.25 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านนโยบายและแผน 1,629.72 ล้านบาท ด้านการขนส่งทางถนน 248,410.10 ล้านบาท ด้านการขนส่งระบบราง 118,749.47 ล้านบาท ด้านการขนส่งทางน้ำ 14,987.05 ล้านบาท และการขนส่งทางอากาศ 4,988.92 ล้านบาท โครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วยโครงการทางถนน คือ แผนงานโครงการพัฒนาทางหลวงเร่งด่วน เช่น โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานเป็น 4 ช่องจราจร ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะเร่งด่วน โครงการก่อสร้างบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค โครงการทางพิเศษ เส้นพระราม 3 ของ กทพ. โครงการทางราง ประกอบด้วย การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 สายทาง การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ 5 โครงการ ระยะทาง 767 กิโลเมตร การก่อสร้างเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นทาง และการพัฒนาและเสริมประสิทธิภาพรถไฟไทย การปรับปรุงรางรถไฟและหมอนรองราง ระบบอาณัติสัญญาณ และจุดตัด โครงการทางอากาศ มีโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำของการบินไทย นโยบายการเร่งรัดขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็นปีละ 60 ล้านคน และการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็นปีละ 30 ล้านคน ด้านโครงการทางน้ำ ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือฝั่งทะเลอันดามัน หรือท่าเรือปากบาราเพื่อการขนส่งสินค้า การก่อสร้างท่าเรือสงขลา และ ชุมพร การก่อสร้างท่าเรือประหยัดพลังงานที่ จ.อ่างทอง การเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าแม่น้ำป่าสัก และการลงนามในสัญญาและอนุสัญญาต่างๆ ระหว่างประเทศ ที่เดิมต้องผ่านมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โครงการทางบกเพื่อการขนส่งคนและสินค้า ประกอบด้วย โครงการสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้า 16 แห่ง โครงการจัดหารถโดยสารเอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,183 คัน และ การก่อสร้างอู่จอดรถจำนวน 6 แห่ง ของ ขสมก. วงเงิน 221 ล้านบาท Tags : ผบ.ทอ. • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • คสช • งบประมาณ • สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ