สศช.ประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5%มาจากการส่งออกขยายตัว4% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สําคัญจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนที่ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 การใช้จ่ายภาครัฐ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ในขณะที่ผลกระทบจากฐานปริมาณการผลิตและการจําหน่ายรถยนต์ที่สูงจะหมดไปและกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติมากขึ้น ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1. การปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2558 ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยหน่วยงานต่างๆ คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.0% ซึ่งจะทําให้การค้าโลกขยายตัวได้ดีขึ้นและเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2555 และ 2556 ซึ่งเศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ 3.0% และ 3.1% และส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเพียง 2.8% และ 3.0% ตามลําดับ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2556 จึงหดตัว 0.2% และคาดว่าจะไม่ขยายตัวในปี 2557 2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน ผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มลดลงตามลําดับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในด้านการท่องเที่ยว จํานวนประเทศที่แจ้งเตือนพลเมืองให้ระมัดระวังการเดินทางมายังประเทศไทยลดลงจาก 66 ประเทศในเดือนมิ.ย. 2557 เป็น 58 ประเทศในเดือนก.ย. 2557 ในขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลําดับ โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนต.ค. 2557 จํานวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัว 6.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2557 ในด้านการลงทุน มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือนส.ค. 2557 เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เมื่อรวมกับการเร่งรัดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่ได้อนุมัติไปแล้วนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย. ที่คาดว่าจะดําเนินการลงทุนได้ในปี 2558 มูลค่าประมาณ 380 พันล้านบาท และยังมีวงเงินรอการอนุมัติประมาณ 280 พันล้านบาท คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้น 3. การใช้จ่ายภาครัฐ ในปี 2557 การใช้จ่ายภาครัฐมีปัญหาที่สําคัญๆ หลายประการรวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศซึ่งส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายทั้งปีต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายลงทุน 4. การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก จะช่วยเพิ่มอํานาจซื้อของประชาชนและธุรกิจ และลดแรงกดดัน ด้านเงินเฟ้อซึ่งจะสนับสนุนให้สามารถดําเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่อง โดยการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบจากเฉลี่ย 108 ดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. เป็นเฉลี่ย 86.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนต.ค. 2557 หรือ 19.5% ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง โดยคาดว่าจะมีความต่อเนื่องถึงปี 2558 5. ผลกระทบจากฐานการขยายตัวที่สูงผิดปกติของปริมาณการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศจะหมดไปและปริมาณการผลิตและการจำหน่ายจะเข้าสู่แนวโน้มปกติในปี 2558 การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีสาเหตุสําคัญประการหนึ่งมาจากผลของฐานการจําหน่ายรถยนต์ที่สูงผิดปกติอันเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งได้ส่งผลให้การจําหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 700,000 - 800,000 คัน ในปี 2553 - 2554 เป็น 1.35 และ 1.2 ล้านคันในปี 2555 และ 2556 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ปริมาณการจําหน่ายรถยนต์นั่งอยู่ที่ 573,800 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 42.6% เป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้ปริมาณการผลิตรถยนต์รวมลดลง 23.3% อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจากฐานที่สูงดังกล่าวจะหมดไปภายในปี 2557 โดยคาดว่าทั้งปี 2557 จะมีปริมาณการจําหน่ายรถยนต์นั่งทั้งปีประมาณ 750,000 - 800,000 คัน ลดลง 35-40% จากปี 2556 ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณการจําหน่ายเฉลี่ยในปี 2553 - 2554 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วง 3.5 -4.5% เร่งขึ้นชัดเจนจาก 1.0% ในปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1.4-2.4% และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.3% ของจีดีพี องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวม ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 3.1% สูงกว่าการขยายตัว 1.2% ในปี 2557 โดยที่การบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.7% ในปี 2557 ตามการปรับตัวของปริมาณจําหน่ายรถยนต์นั่งเข้าสู่แนวโน้มปกติ และคาดว่ามีแนวโน้มจะขยายตัวในปี 2558 2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัว 1.9% ในปี 2557 และเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.8% เทียบกับการลดลง 1.0% ในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนตามทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ความชัดเจนของโครงการลงทุนของภาครัฐ และผลจากการเร่งรัดอนุมัติโครงการส่งเสริมลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัว 4.0% เทียบกับ 0.0% ในปี 2557 โดยปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 4.0% เร่งขึ้นจาก 0.9% ในปี 2557 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก 4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ คาดว่าจะขยายตัว 5.0% เทียบกับการหดตัว 6.5% โดยคาดว่าปริมาณการนําเข้าสินค้าจะขยายตัว 5.5% เพิ่มขึ้นจากการหดตัว 5.8% ในปี 2557 ตามการเร่งตัวขึ้นของการลงทุน การใช้จ่าย และการส่งออก 5) ดุลการค้า เกินดุลประมาณ 19.6 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากการเกินดุลประมาณ 20.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2557 เนื่องจากมูลค่าการนําเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับการฟื้นตัวของจํานวนนักท่องเที่ยวซึ่งจะทําให้ดุลบริการขาดดุลน้อยกว่าปี 2557 และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2558 เกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.3% ของจีดีพี 6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2558 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.4-2.4% ซึ่งมีโอกาสต่ำกว่า 2.1% ในปี 2557 ตามแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2557 และในปี 2558 ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นข้อจํากัดสําคัญที่ทําให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ขยายตัวต่ำ แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีและในปี 2558 ยังมีข้อจํากัดที่อาจทําให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสําคัญทั้งญี่ปุ่นและยุโรปยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงที่จะผันผวนได้ ภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร และการดําเนินโครงการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังต้องเร่งรัดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการปรับโครงสร้างภาคการผลิต Tags : สศช. • ประมาณการเศรษฐกิจ