"ศุภชัย" เตือนเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง เหตุสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นยังมีปัญหา เตือนไทยเร่งยกระดับอุตสาหกรรม นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังคงมีปัญหาทางเศรษฐกิจ แม้จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพคล่องนั้น ยังเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินอย่างตรงจุดหรือไม่ "ยังเป็นที่ตั้งคำถามว่าเงินที่อัดฉีดลงไปแล้วเกิดการจ้างงานจริงหรือไม่ เพราะเราจะเห็นได้ว่า ตอนนี้เงินมีอยู่เต็มไปหมดทั่วโลก แต่ไม่มีการลงทุน เงินพวกนั้นกลับไปซื้อตราสารหนี้กับธนาคารกลางสหรัฐ" นายศุภชัย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ หลายคนมองว่าเริ่มฟื้นตัว โดยดูจากตัวเลขการว่างงานที่ลดลงจาก ปี 2551 ที่ 9.8 % มาอยู่ที่ 5.8 % ในปัจจุบัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ระดับการว่างงานดังกล่าวเป็นระดับปกติของสหรัฐ ไม่ได้ลดลงอย่างที่หลายคนให้ความหมาย แต่ในทางกลับกันการจ้างงานของสหรัฐมีเพียง 60% เท่านั้น จากอดีตที่ 70-80 % ประชาชนส่วนหนึ่งเลิกที่จะลงทะเบียนของานทำกับทางการเพราะมองว่าลงทะเบียนไปก็ไม่มีความหมาย อีกทั้งสหรัฐยังมีความเสี่ยงที่จะชัดดาวน์ในรอบที่ 2 หากไม่สามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะที่จะครบอายุในปีหน้า ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะถดถอยมามากกว่า 20 ปี ทุกคนคาดหวังกับนโยบาย อาเบะโนมิกส์ มาตรการธนู 3 ดอก แต่เป็นสิ่งที่คาดหวังได้ยาก เศรษฐกิจญี่ปุ่นเหมือนเดินไปข้างหน้า 3 ก้าว ถอยหลัง 2 ก้าว ประชากรมีแต่ผุ้สูงอายุทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ยาก สิ่งเดียวที่จะคาดหวังได้คือเศรษฐกิจจีนแม้จะมีฟองสบู่ แต่ยังสามารถควบคุมได้ สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมีประชากรสัดส่วนกว่า 40% เป็นเกษตรกรรม โดยในจำนวน 40% นั้นเป็นเกษตรกรรม 14 % อยู่ในอุตสาหกรรม และอีก 46 % เป็นภาคบริการ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่เน้นเกษตรกรรม แต่ผลิตภาพต่ำมากมีการสร้างรายได้เพียง 27,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมจะสร้างรายได้ที่ 350,000 บาท ต่อคนต่อปี และภาคบริการที่ 150,000 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งการที่ไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมทำให้ตัวเลขการว่างงานที่ 0.9 % นั้นอาจไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะเรามีประชากรที่ว่างงานแฝงเยอะมาก ไทยยังมีตัวเลขการว่างงานนอกฤดูกาลสูง ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ไทยยังมีการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ไม่ดีพอ ทางออกของปัญหานี้คือเราต้องยกระดับให้เป็น สังคมอุตสาหกรรม หรือภาคบริการมากขึ้น โดยใช้แรงงานขั้นต่ำเป็นตัวผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่สูง จะทำให้การจ้างงานของเรามีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ต่อหัวต่อคนให้เพิ่มขึ้นได้ และต้องยกระดับให้สังคมไทยเป็นสังคมของเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาประเทศไทย เพราะไทยมีจุดเด่น 3 ประการ ค่าแรงถูก ที่ดินถูก ค่าไฟถูก แต่ปัจจุบันไทยจะใช้จุดเด่นนี้ไม่ได้อีกต่อไป เราต้องหาจุดเด่นอื่นๆเพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาลงทุน Tags : ศุภชัย พานิชภักดิ์ • เศรษฐกิจ • สหรัฐ • ยุโรป • ญี่ปุ่น