ดีแทคเผยผลการศึกษาโดยร่วมกับ Wisesight ผู้ให้บริการวิเคราะห์ Big Data ในไทยศึกษา Social listening tool เรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ พบว่าการแกล้ง ล้อเลียน เหยียดยังคงเป็นเรื่องรูปลักษณ์ เพศวิถี และกระจุกตัวอยู่ในวงการการศึกษา ครูเองก็ยังคงขาดความเข้าใจและไม่มีวิธีการรับมือต่อปัญหา ขณะเดียวกัน ดีแทคยังผุดแคมเปญ #คำด่าไหนฝังใจที่สุด ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยดีแทค และ Wisesight รวบรวมข้อความต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, ฟอรั่ม และบล็อกข่าวในประเทศ ช่วงเดือน พ.ย. 2561 - ต.ค.2562 พบว่า โลกออนไลน์ของไทยประกอบด้วยข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ แกล้ง ล้อ และเหยียดราว 700,000 ข้อความหรือเฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาทีและมีการขยายความต่อผ่านการรีทวีต ไลค์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวทั้งสิ้นราว 20 ล้านรายการ ลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียของไทยนั้น 36.4% เป็นการบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ ตามด้วย 31.8% เป็นการบูลลี่ทางเพศวิถี และ 10.2% เป็นการบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ ส่วนที่เหลือเป็นการบูลลี่ด้านอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา บุคลิกลักษณะนิสัย รสนิยมความชอบ ฐานะทางการเงิน และครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการแกล้งกันทางออนไลน์นั้นส่วนมากพบในวงการ “การศึกษา” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับ “อนุบาล” ไปจนถึงระดับมัธยม โดยมีเพื่อนเป็นคนที่ปรากฏในข้อความที่พูดถึงการบูลลี่มากที่สุด ดีแทคยังระบุด้วยว่า ได้ร่วมมือกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หน่วยงานภาคประชาสังคมด้านสวัสดิภาพเด็ก เพื่อพัฒนาและอบรมหลักสูตร Gender diversity to stop cyberbullying พัฒนาจากองค์ความรู้วิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และลักษณะเพศ (Sexual Orientation, Gender Identity and Expression, and Sex Characteristics หรือ SOGIESC) ซึ่งเป็นแนวคิดในการอธิบายเพศสภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างทางเพศของแต่ละบุคคลให้เกิดทัศนคติที่เหมาะสมและนำไปสู่ทัศนคติและการแสดงออกที่เคารพต่อบุคคลอื่นในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วในหลายโรงเรียนของจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ที่มา - ข่าวประชาสัมพันธ์ Topics: DTACCyberbullyingThailand