(รายงาน) เปิดตลาดเกษตร 77 จังหวัด ตัดตอนพ่อค้าคนกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกมอบหมายภารกิจจากรัฐบาลในการกระตุ้นกำลังซื้อ เพิ่มรายได้ภาคเกษตร ที่ชะลอตัวอย่างหนักทั้งในแง่ราคา โดยเฉพาะการถูกพ่อค้าคนกลางคอยกดราคาส่งผลให้รายได้เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้มีแนวคิดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรขึ้นในทุกจังหวัดให้เกษตรกรพบผู้ซื้อโดยตรงเพื่อตัดตอนพ่อค้าคนกลางให้ได้ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ประสานผู้ว่าราชการและเอกชนในจังหวัด จัดหาทำเลที่ตั้งตลาดสินเค้าเกษตร จังหวัดละ 1 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดภายในปี 2557 วันที่ 28 พ.ย.2557 จะคิกออฟ นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง อำนาจเจริญ นครนายก มุกดาหาร แล ะอุตรดิตถ์ โดยจะเพิ่มเป็น 18 จังหวัดในสิ้นเดือนพ.ย. ครอบคลุม 77 จังหวัดภายในสิ้นปี 2557 ตลาดสินค้าเกษตร จะเป็นตัวกลางให้เกษตรกรนำผลผลิตสินค้าเกษตรมาขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง มีทั้งในกลุ่มพืช ประมง และปศุสัตว์ ของเกษตรกร โดยสินค้าที่ขายในตลาดสินค้าเกษตรจะมีจุดแข็งคือ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผ่านการรับรองในกระบวนการผลิตต่างๆ เช่น การผลิตการเกษตรที่ดี (GAP) การแปรรูปที่ดี (GMP) สินค้า Q สินค้าที่ปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กระทรวงเกษตรฯ จะมีการติดตามประเมินโครงการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งข้อมูลสินค้าที่เกษตรกรนำมาจัดจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตั้งตลาดเกษตรกร ตัวเลขการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้า รสนิยมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อปรับปรุงพัฒนาในด้านการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาดในแต่ละพื้นที่ “เชื่อว่าหลังจากมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ตลาดสินค้าเกษตร จะเป็นช่องทางให้กับผู้ผลิต ได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้ราคาสินค้าจะถูกกว่าสินค้าในซุเปอร์มาเก็ตแน่นอน หรือ แม้ว่าราคาสินค้าจะสูงกว่าตลาดทั่วไปแต่ผู้บริโภคจะได้สินค้าเกษตรเกรดพรีเมียมกลับไปบริโภคอย่างแน่นอน”นายปีติพงศ์ กล่าว ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ กลับไม่แตกต่างกับสินค้าผลผลิตทางการเกษตรทั่วๆ ไป เนื่องจากไม่มีแหล่งระบายผลผลิต ไม่มีสถานที่พบปะกันโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้ซื้อสินค้า ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องราคา ทำให้เกษตรกรได้สัดส่วนของผลกำไรไม่มากนัก จึงไม่เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น หรือมีผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ ทั้งในด้านบรรจุภัณฑ์หรือลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น สำหรับพื้นที่ดำเนินการตลาดเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ ได้วางเป้าหมายที่จะดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 จังหวัดละ 1 แห่งก่อนในเบื้องต้น เพื่อนำมาประเมินผลและปรับปรุงให้สามารถขยายผลไปตั้งตลาดเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ จุดที่ตั้งตลาดเกษตรกร ทุกจังหวัดจะกำหนดพื้นที่ตลาดในแหล่งชุมชนเมือง หรือสถานที่ราชการในเมืองที่มีความสะดวกในการซื้อขาย มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และเปิดขายอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ในระยะแรก เพื่อดึงดูดคนในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นคนชั้นกลางและมีฐานะดีที่สนใจช่วยเหลือเกษตรกร หรือมีรสนิยมสินค้าที่สะอาด สวยงาม ปลอดภัย ต้องการสัมผัสกับสิ่งแปลกใหม่ ให้มาเยี่ยมชมหรือซื้อผลผลิตจากเกษตรกร นายพินิจ เจริญเร็ว หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัด ราชบุรี กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีได้ดำเนินการนำร่องทดสอบการเปิดตลาดสินค้าเกษตรแล้ว 3 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 วัน มีร้านเข้าร่วมขายประมาณ 35-40 ร้าน มีการตอบรับจากผู้ซื้อผู้ขายเป็นอย่างดี ส่งผลให้มียอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 6 หมื่นบาทในสัปดาห์แรก และขยับเพิ่มเป็น 1 แสนบาทในสัปดาห์ที่ 3 จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคาดว่า ตลาดสินค้าเกษตรแห่งแรกของราชบุรี จะสามารถสร้างให้มีเงินสะพัดจำนวนประมาณ 4 แสนบาท/เดือน “การเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพื่อเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าของเกษตรกร ไปยังผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะนี้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการบริหารตลาด เพราะมีเกษตรกรให้ความสนใจที่จะนำสินค้ามาขายในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากพื้นที่ตลาดค่อนข้างจำกัด จึงต้องมีการคัดเลือกเพื่อไม่ให้สินค้าซ้ำกัน และสินค้าที่มีมาตรฐาน การผลิตการเกษตรที่ดี (GAP) หรือมีมาตรฐานตัว Q ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมองว่า ตลาดสินค้าเกษตรของราชบุรี ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมาก จึงเตรียมเปิดตลาดในอำเภอจอมบึงเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อเป็นการกระจายรายได้ และสร้างในเงินทุนหมุนเวียนในท่องท่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรต่อไป”นายพินิจ กล่าว นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ตลาดสินค้าเกษตรจะเป็นตัวกลางในการกระจายสินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร เชื่อมระหว่างเกษตรกรในชุมชนไปถึงมือผู้บริโภค โดยไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง โดยปกติราคาที่พ่อค้าคนกลางจะบวกเพิ่ม หลังจากรับสินค้าเกษตรมาจากเกษตรกร จะเป็นค่าขนส่งบวกกำไร จะเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไปคำนวณ สมมติว่า ในส่วนของพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ในส่วนนี้หากนำมาขายผ่านตลาดสินค้าผู้บริโภคจะซื้อสินค้าได้ราคาถูกลง ทำให้เกษตรกรขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ผู้ซื้อได้กินของดีราคาถูกลง เพราะตัดราคาของพ่อค้าคนกลางออก Tags : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ • นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา • พ่อค้าคนกลาง • นายพินิจ เจริญเร็ว