บริษัทจดทะเบียน กำไรงวด 9 เดือนปีนี้ทรุด รับแรงกดดันเศรษฐกิจในประเทศชะลอยาวตั้งแต่ปลายปีก่อน เผยกลุ่มการเงิน-อุปโภคบริโภคมีกำไรงวด 9 เดือนลดลงมากกว่า 50% ขณะโบรกเกอร์เล็งปรับประมาณการกำไร ระบุหากไตรมาส 1 ปีหน้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น จ่อหั่นประมาณการกำไรทั้งปี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ประกาศผลประกอบการงวด 9 เดือน 2557 ส่วนใหญ่มีรายได้รวมและกำไรสุทธิปรับตัวลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน จากการรวบรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ งวด 9 เดือน 2557 ที่ประกาศออกมาแล้ว 234 บริษัท จากจำนวนบริษัททั้งหมด 549 บริษัท มีรายได้รวม 6,962,189 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 406,473 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน 2556 ที่มีรายได้รวมทั้งสิ้น 8,431,495 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 605,090 ล้านบาท สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 55 บริษัท จากทั้งหมด 105 บริษัท แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน 2557 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 42,394 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,225 ล้านบาท ลดลงจากงวด 9 เดือน 2556 ที่มีรายได้รวม 86,295 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,357 ล้านบาท จากการเปรียบเทียบข้อมูลรายอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิปรับตัวลดลงมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการเงิน ประกอบด้วย ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย โดยมีกำไรสุทธิรวม 45,696 ล้านบาท ลดลง 73.55% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 172,789 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมบริการ มีกำไรสุทธิในงวด 9 เดือน 2557 รวม 25,966 ล้านบาท ลดลง 61.69% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 67,774 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค ซึ่งมีกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 2557 รวม 45,696 ล้านบาท ลดลง 73.55% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 172,789 ล้านบาท ศก.ชะลอกดกำไรบจ.ทรุด นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 9 เดือนแรกปีนี้ รวมถึงในไตรมาส 3/2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนเป็นส่วนมาก สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเกิดจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กดดันเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ทั้งนี้อุตสาหกรรม ที่มีผลประกอบการลดลงค่อนข้างมาก จะเกี่ยวเนื่องกับกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก อาทิ กลุ่มอุปโภคบริโภค กลุ่มรถยนต์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มค้าปลีก ซึ่งล้วนมีฐานรายได้จากกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มเดียวกำไรไม่ลดลงเท่าที่ประมาณการ จากผลประกอบการงวด 9 เดือนที่ประกาศออกมา ไม่กระทบต่อมุมมองของฝ่ายวิจัยที่มีต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ เนื่องจากได้ประเมินความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศไว้แล้ว โดยประมาณการเดิมปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอาจปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2558 จากเดิมที่เคยประเมินไว้ ว่าจะมีกำไรต่อหุ้น 112 บาท และมีอัตราการเติบโตของกำไรรวมปีนี้ 14% "โดยรวมแล้วกำไรที่ออกมาไม่ทำให้ฝ่ายวิจัยต้องปรับประมาณการ เพราะเดิมก็มองว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่มีการเติบโตอยู่แล้ว อาจมีการปรับตัวเลขบ้างในกลุ่มที่กำไรงวด 9 เดือนลดลงหนักๆ และอาจจะมีผลไปถึงอัตราการเติบโตของกำไรในปีหน้า ซึ่งอาจจะขยับขึ้น แต่เป็นการขยับขึ้นเพราะฐานเดิมลดลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อตลาดทุนไทย" นายสุกิจ กล่าว เล็งปรับเป้ากำไรบจ.ไตรมาส1ปีหน้า นายสุกิจ กล่าวอีกว่า ในปี 2558 ยังต้องติดตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศต่อเนื่อง แต่มีความคาดหวังว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนควรเริ่มฟื้นในไตรมาส 1/2558 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่นโยบายรัฐควรสร้างการเติบโตเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ หากยังไม่เห็นการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2558 ฝ่ายวิจัยจะมีปรับเป้าหมายการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2558 ครั้งใหญ่ ด้านนักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยเตรียมลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนของปี 2557 และ 2558 ขณะนี้บริษัทจดทะเบียนทยอยรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/25557 แล้วกว่า 200 บริษัท ส่วนใหญ่จะทรงตัว หรือต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะในกลุ่มที่อิงเศรษฐกิจต่างประเทศ (global) ทั้งกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งคิดเป็น 30%ของกำไรทั้งตลาด โดยปรับลดลงราว 45% จากงวดก่อนหน้า สาเหตุเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการที่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวเกือบ 30% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และกลุ่มเดินเรือ ทั้งธุรกิจเดินเรือเทกอง และธุรกิจเรือคอนเทนเนอร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากฤดูมรสุม และจำนวนกองเรือใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ยกเว้นกลุ่มส่งออกอาหาร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผลดำเนินงานเติบโตจากฤดูกาลส่งออกตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มอิงเศรษฐกิจในประเทศ (domestic) ที่ผลประกอบการชะลอตัวคือ กลุ่มค้าส่ง-ปลีก, วัสดุก่อสร้าง และประกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีสัดส่วนราว 5% ของตลาด คาดอ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ขณะที่กลุ่มสื่อสารอาจทรงตัวจากงวดก่อนหน้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์น่าจะมีผลกำไรใกล้เคียงกับที่คาดการณ์จากการส่งมอบคอนโดฯ และมียอดโอนแนวราบ คาดหุ้นยืน1600จุดก่อนสิ้นปี ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส คาดว่างวดไตรมาส 3/2557 จะมีกำไรสุทธิ 2 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า และได้ปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2557 และ 2558 ลง จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท และ 9.83 แสนล้านบาท หรือ จากกำไรต่อหุ้นเดิมที่ 98.14 และ 110.47 บาท ตามลำดับ ลงราวเหลือ 8.44 แสนล้านบาท และ 9.76 แสนล้านบาท หรือ eps 93.4 บาท และ 108.09 บาท นักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า จากการตรวจสอบกำไรไตรมาส 3/2557 เทียบกับคาดการณ์ตลาด ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้การหั่นประมาณการกำไรลงจะกดดันราคาหุ้นปรับฐานต่อในสัปดาห์นี้ ดังนั้นการเทรดดิ้งสั้น เน้นตั้งรับ ขึ้นขายล็อกกำไรไปก่อน รอความชัดเจนการประกาศจีดีพีไตรมาส 3/2557 ของยุโรปและไทยก่อน ฝ่ายวิจัยยังมองดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะกลับมายืนเหนือ 1,600 จุด ก่อนสิ้นปี และคาดว่าจะวิ่งขึ้นทดสอบ 1,650-1,700 ภายในไตรมาส 1/2558 จากปัจจัยเรื่องการเร่งตัวของจีพีดีไทยในทุกไตรมาสสนับสนุน นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 เป็นต้นไป และปัจจัยเรื่องเม็ดเงินแอลทีเอฟ และอาร์เอ็มเอฟ ทยอยไหลเข้าราว 2.5-3 หมื่นลบ.ในช่วงที่เหลือของปี 2557 รวมถึงปัจจัยจากโอกาสผ่อนคลายมาตรการเงินเพิ่มเติมจากประเทศพัฒนาแล้วที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ Tags : กำลังซื้อ • ตลาดหลักทรัพย์ • สุกิจ อุดมศิริกุล • บริษัทจดทะเบียน • เศรษฐกิจ • ชะลอ