สศช.ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส3ยังไม่ฟื้น คาดทั้งปีโตไม่เกิน1.5% เหตุเบิกจ่ายงบ-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้ากว่าคาด หวังเห็นผลเต็มที่ปีหน้า ขณะบริโภค-ลงทุนยังไม่ฟื้นตัว ด้านนักเศรษฐศาสตร์ประเมินปีหน้ายังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ชี้ยังต้องมีมาตรการใหม่มากระตุ้น หนุนธปท.ลดดอกเบี้ย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3/2557 ในวันนี้ (17 พ.ย.) คาดว่าจะออกมาเป็นบวกเล็กน้อย ในขณะเดียวกันเตรียมปรับประมาณจีดีพีทั้งปี 2557 เป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวไม่เกิน 1.5% เมื่อต้นปีนี้ สศช.ได้ปรับลดประมาณการจีดีพี จาก 4.0-5.0% เหลือ 3.0-4.0% เนื่องจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจโลก แต่ต่อมาสศช.ได้ปรับลดประมาณการลงมาโดยตลอดทุกครั้งที่มีการแถลงจีดีพีรายไตรมาส โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ปรับลดจีดีพี เหลือ 1.5-2.0% แหล่งข่าวจากสศช.เปิดเผยว่าในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.ที่ผ่านมาถือว่าเศรษฐกิจของไทยได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นทำให้การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณที่มีการชะลอตัวมาจากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมทั้งการบริโภคเริ่มฟื้นตัว โดยเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 ถือว่ายังฟื้นตัวไม่มากนักโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยในไตรมาสที่ 3 มีเพียงเดือน ก.ย.เท่านั้นที่การส่งออกปรับตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยขณะที่ สศช.เคยคาดการณ์ว่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3.7% นอกจากนั้นเศรษฐกิจยังในช่วงไตรมาสสุดท้ายยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. - ธ.ค.) ไว้สูงถึง 31% ของงบประมาณทั้งหมดโดยมีเป้าหมายเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2558 ไม่ต่ำกว่า 91.3% รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการสำคัญๆ ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณในขณะนี้ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเงินบางส่วนที่เบิกจ่ายล่าช้าทำให้เกิดความล่าช้าในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ด้วย หวังมาตรการกระตุ้นส่งผลปีหน้า “เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ แต่ไม่ได้ในอัตราที่สูงอย่างที่มีการคาดการณ์ไว้เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่างโดยในการแถลงครั้งที่ผ่านมา สภาพัฒน์ให้กรอบการขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ไว้ที่ 1.5 - 2.0% เมื่อดูศักยภาพเศรษฐกิจในปีนี้แล้วการขยายตัวถึง 2% เป็นไปได้ยากแต่ 1.5% ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้แต่ในช่วงที่เหลืออีก 1 เดือนเศษก็ต้องมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐและการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจมีแรงส่งไปยังปีหน้าต่อไป”แหล่งข่าวกล่าว สำหรับการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจมาเป็นขยายตัวในระดับ 1.5% ยังอยู่ในกรอบที่ สศช.ได้คาดการณ์ไว้เมื่อการแถลงข่าวครั้งก่อนในวันที่ 18 ส.ค.ที่ 1.5 - 2.0% โดยเป็นกรอบการประมาณการเศรษฐกิจในระดับต่ำ ก่อนหน้านี้ สศช.ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2557 ลงแล้ว 3 ครั้งคือ จากเดิมคาดว่าอัตราขยายตัวในปี 2557จะอยู่ที่ 3 - 4% ต่อมาในการแถลงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ลดลงเหลือ 1.5-2.5% และปรับลดลงเหลือ 1.5 - 2.0% ในการแถลงเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่วนหน่วยงานอื่นมีการปรับลดลงเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ สำนักเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้เหลือ 1.4% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ 1.5% สำนักงบเผยไตรมาสแรกเบิกจ่ายแล้ว13% ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าขณะนี้การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2558 สามารถทำได้แล้ว 13% ซึ่งคาดว่าจากการเร่งรัดของหน่วยงานต่างๆ จะสามารถทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ที่ 31% ของการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้เคยมีมติเห็นชอบรายงานแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2558 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยให้หน่วยงานราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่ไตรมาสที่1 ของปีงบประมาณ 2558 สำหรับวงเงินเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่1 (ต.ค. - ธ.ค.) รวม 1,100,589.26 ล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 791,443.27 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 149,146 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งมาจากวงเงินลงทุนเหลือจ่ายจากงบประมาณ 2557 ซึ่งยังไม่ได้มีการผูกพันงบประมาณวงเงินอีก 1.6 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี2557 โดยผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตั้งแต่วันที่1-31ต.ค. 2557ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 3.67แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.08 แสนล้านบาท หรือสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ธปท.และสศช.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นิด้าหวังส่งออกฟื้นหนุนโตได้1.8% นายสันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวได้ที่ 1.5 - 1.8% ส่วนในปี 2558 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ถึง 5% ทั้งนี้ ตัวเลข 1.8% เป็นตัวเลขที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจนิด้าได้จัดทำไว้เมื่อ 2 เดือนก่อน โดยสถานการณ์ปัจจุบันตัวเลข 1.8% อาจดูว่าสูง หากดูจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่ยังล่าช้าและการลงทุนภาครัฐที่เม็ดเงินยังไม่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทจะอ่อนตัวและมีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะอ่อนตัวมากกว่า 32.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทย “ภาคการส่งออกของไทยในช่วงปลายปีนี้จะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง นอกจากนี้ภาคเอกชนก็จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ลดลงของผู้ประกอบการที่มีนัยสำคัญแต่ก็ต้องดูการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาลด้วยเพราะอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบในระยะต่อไป”นายสันติกล่าว นายสันติกล่าวต่อไปว่าเศรษฐกิจของไทยยังคงถูกกดดันด้วยกำลังซื้อของประชาชนซึ่งมีผลมาจากตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลให้กำลังซื้อลดลงและส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงด้วย ชี้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงปีหน้า นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปเศรษฐกิจยังเปราะบาง และมีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีหน้า เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจเพิ่มวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผลดังกล่าว ทำให้สหรัฐที่กำลังเติบโต ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูง อาจมีสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าช้าออกไปจากเดิมจากกลางปี 2558 เป็นปลายปี 2558 "เศรษฐกิจโลกช่วงที่เหลือของปีนี้ จนถึงปี 2558 เรายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่เข้มแข็ง ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อัดฉีดเงินเข้าระบบ ซึ่งเงินเหล่านี้จะไหลเข้าไปยังประเทศสหรัฐต่อเนื่อง" คาดปีหน้าศก.เติบโตเพียง3.7% นายปิยศักดิ์ กล่าวว่าจากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป แม้จะฟื้นตัว แต่เปราะบางมาก โดยปีนี้การส่งออกจะติดลบแน่นอนที่ระดับ 0.5% ขณะที่การลงทุนภาครัฐบาล ที่ชะงักงันไปในช่วงครึ่งปีแรก ยังออกมาไม่มากนัก การเบิกจ่ายช้ากว่ากำหนด จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 80% ของงบประมาณ เบิกจ่ายได้เพียง 60% เท่านั้น การอุปโภคยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ประชาชนเน้นอุปโภคสินค้าที่ไม่คงทน ในปี 2558 ทางธนาคารเกียรตินาคิน ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 3.7% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจเติบโตเพียง 3% เท่านั้น แต่จะได้เห็นการเติบโตที่โดดเด่นในครึ่งปีแรก ที่ระดับ 3-4 % จากฐานการเติบโตที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ แต่ในครึ่งปีหลังจะเจอกับความยากลำบาก เพราะเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มดีขึ้น อาจดึงให้เงินไหลออกจากประเทศไทย ทั้งนี้ ในปี 2558 เครื่องยนต์เดียวที่จะเข้ามาขับเคลื่อนคือการบริโภคอุปโภคในประเทศ ประชาชนจะหันกลับมาบริโภคสินค้าคงทนอีกครั้ง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ยังต้องลุ้น จากการอนุมัติโครงการรถยนต์อีโค่คาร์ เฟสที่ 2 ช่วยการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งสิ่งที่อยากจะเห็นเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วคือการเร่งการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐในโครงการลงทุนต่างๆ ชี้เศรษฐกิจไทยต้องมีมาตรการกระตุ้น นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังช้ากว่าที่คาด ต้องการกระตุ้นทั้งภาคการเงินและภาคการคลัง หากยังไม่มีนโยบายใหม่ๆ ออกมาช่วยการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอาจต่ำกว่า 4% "เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือปีนี้ จนถึงปีหน้า ผมยังมีมุมมองเป็นลบ เพราะการฟื้นตัวของเรายังไม่มีศักยภาพ อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำนวนมาก และยืดยาว ยังไม่มีการเชื่อมต่อ ไม่มีโครงการใหม่ๆ จึงต้องการกระตุ้นทั้งภาคการเงินและการคลัง จะหวังแต่การฟื้นตัวจากการส่งออกก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เพราะภาพเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร" คาดปรับเพิ่มดบ.ได้มากกว่า0.25% นายสมประวิณ กล่าวว่าภาคการคลัง มองว่าต้องเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน รูปแบบโครงการประชานิยมอาจจะทำได้ยาก แต่อาจใช้วิธีการออกโครงการขนาดเล็ก ใช้ระยะเวลาสั้น ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เงินส่งตรงไปยังประชาชนได้เร็วขึ้น ส่วนนโยบายการเงิน มองว่าเป็นเรื่องสำคัญและต้องการกระตุ้น เพราะเราเห็นสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัว เรามีที่ว่างมากพอที่จะใช้มาตรการดอกเบี้ยเข้ามาช่วย ทั้งนี้มาตรการดอกเบี้ย ช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเป็นเครื่องมือที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วที่สุด โดยการปรับลดดอกเบี้ยนั้น หากจะทำ สามารถทำได้ทันทีในการประชุมครั้งต่อไป เพราะสัญญาณเศรษฐกิจต่างๆ เอื้ออำนวยให้ใช้มาตรการดอกเบี้ย "มองว่าหากปรับลด 0.25 % อาจมีผลน้อย เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันสามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านั้น" Tags : สศช. • จีดีพี • ดอกเบี้ย • แหล่งข่าว • สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ • กระตุ้นเศรษฐกิจ • สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข • ปิยศักดิ์ มานะสันต์ • สมประวิณ มันประเสริฐ