KBTG บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย จัดงานเปิดตัว 6 เทคโนโลยีที่ช่วยให้คนสามารถปรับสู่วิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal เน้นลดการสัมผัสระหว่างมือและอุปกรณ์ หรือ Contactless Technology ความน่าสนใจคือ ทั้ง 6 เทคโนโลยี ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำธุรกรรมการเงินเท่านั้น แต่รวมไปถึงการดำรงชีวิตทั่วไปอย่างการซื้อเครื่องดื่ม, การเข้าออกสำนักงาน, การใช้งานล็อกเกอร์เก็บของที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้มือกดหรือสัมผัสอุปกรณ์ใดๆ คุณกระทิง หรือ เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัท KBTG ให้มุมมองต่อยุค New Normal หรือชีวิตหลัง COVID-19 ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ใช้งานที่เปิดบัญชีด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS โตขึ้น 16 เท่าภายในสองเดือน สิ่งนี้สะท้อนพฤติกรรมช่วงโรคระบาดได้เป็นอย่างดี เพราะโรคระบาด ปรับพฤติกรรมคนที่อาจใช้เวลาเป็นปีให้เหลือเพียงสองเดือนได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ 6 อย่างของ KBTG หรือ KBTG Contactless Technology หรือการที่เราไม่ต้องสัมผัสอุปกรณ์ และมันจะเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกันระหว่างผู้ใช้งานและผู้ให้บริการการเงินไปอย่างสิ้นเชิง ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ นักวิจัยและวิศวกร KBTG ได้พูดถึงความสามารถของ computer vision ว่า การที่คอมพิวเตอร์รับรู้ใบหน้าคนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้งแต่ 1990 แล้ว และปัญญาประดิษฐ์ก็ช่วยให้ตรวจจับได้แม่นยำถูกต้องมากขึ้น ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ไปได้ไกลกว่านั้น คือสามารถรับรู้ gesture หรือการนำทางจากมือมนุษย์ได้ ในอดีตเราต้องติดเซนเซอร์มากมายที่มือเพื่อให้คอมพิวเตอร์ตรวจจับท่าทาง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก สามารถใช้มือเปล่าไม่ต้องติดเซนเซอร์ควบคุมหน้าจอโดยไม่ต้องแตะมันได้ 6 เทคโนโลยีไร้สัมผัสจาก KBTG จำลองภาพอนาคต New Normal 1 Face Check-in สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับ New Normal คือใส่หน้ากากอนามัยจนเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้ใบหน้าในการยืนยันตัวตนเข้าสถานที่ต่างๆไม่ว่าจะด้วยการแลกบัตร สแกนหน้าเข้างาน เข้าที่พักอาศัย Face Check-in จึงช่วยตอบโจทย์คือสามารถสแกนตรวจสอบใบหน้าที่สามารถระบุตัวตนได้ แม้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ ไม่ต้องคอยถอดหน้ากากหรือใช้มือจับคีย์การ์ดเพื่อเข้าตึก ซึ่ง KBTG ได้ใช้งานระบบนี้แล้วที่ตึกสำนักงาน ตัวเทคโนโลยียังเน้นไปที่การใช้งานในการเข้า-ออกคอนโดที่พักอาศัย, เข้าตึกสำนักงาน ก่อนในระยะแรก นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอีกด้วย เพื่อรองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เรียกว่า New Normal ของสังคมไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 2 KLox หรือ Face Locker ตู้ล็อกเกอร์ที่ฉลาดและรู้จักตัวตนของผู้ใช้ KLox คือ บริการตู้ล็อกเกอร์เก็บของที่มีความพิเศษตรงที่สแกนใบหน้าผู้ใช้งาน ไม่ต้องใช้กุญแจล็อกเกอร์หรือจดจำรหัสผ่าน นอกจากนี้ยังรองรับการเรียนรู้ท่าทางของผู้ใช้งาน ทำให้เข้าใช้งานได้โดยไม่ต้องจับล็อกเกอร์เลย ซึ่งตอนนี้เปิดให้ใช้งานจริงแล้วที่อาคาร K+ สามย่าน ชั้น 1 ผู้พัฒนาตั้งเป้าว่าจะใช้ KLox ต่อยอดไปยังการใช้งานประเภทอื่น เช่น เป็นจุดรับสินค้าอีคอมเมิร์ซ, ใช้งานตามคอนโด และอีเว้นท์ต่างๆ 3 Eat by Black Canyon KBTG ร่วมกับ Black Canyon สร้างประสบการณ์ใหม่ในการออกไปรับประทานอาหารหรือเข้าคาเฟ่ข้างนอกโดยลูกค้าสามารถสั่งอาหารและชำระเงินผ่านตู้อัตโนมัติโดยไม่ต้องสื่อสารกับพนักงาน ซึ่งตู้ดังกล่าวถูกออกแบบให้ใช้ระบบ Contactless Menu ที่อาศัยความเคลื่อนไหวของมือในการสั่งการ จึงไม่จำเป็นต้องสัมผัสโดนหน้าจอ 4 Contactless Menu ระบบสั่งอาหารผ่านหน้าจอแทบเล็ตที่สามารถตรวจจับความเคลื่อนไหวของมือให้ลูกค้าทำรายการได้โดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ 5 Face Pay รูปแบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านการตรวจสอบสแกนใบหน้า เพื่อยืนยันการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้งาน 6 ReKeep บริการใบเสร็จรับเงินในรูปแบบดิจิทัลสำหรับร้านค้า ที่ให้ลูกค้าสามารถรับใบเสร็จในรูปแบบดิจิทัลผ่านการสแกน QR Code ช่วยลดการสัมผัส ลดการใช้กระดาษ เพราะกระดาษใบเสร็จส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการเป็นขยะอยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดใช้งานจริงแล้วที่ร้าน Black Canyon สาขา KBTG และเตรียมทดสอบการใช้งานที่สาขาสุขาภิบาล 2 สรุป ในงาน KBTG Contactless Technology ได้ ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ที่คนทั่วไปจะต้องเจอในยุคหลัง COVID-19 ทั้งการสแกนหน้าเข้าตึกไม่ต้องถอดหน้ากากอนามัย หรือการใช้ใบหน้ายืนยันตัวตนและจ่ายเงิน นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวยังถูกพัฒนาในระยะเวลาไม่กี่เดือน KBTG จึงถือเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ปรับตัวได้เร็ว สะท้อนวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อและสนับสนุนให้นักพัฒนาผลิต product ใหม่ออกได้เร็ว และใช้งานได้จริงโดยเริ่มใช้งานกันภายในองค์กรก่อน สอดคล้องกับ คอนเซปต์ Eat your own dog food หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ปละใช้กันเองในกลุ่มพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ KBTG ให้ความสำคัญมาโดยตลอด Topics: KBTGFacial RecognitionKasikorn BankAdvertorial