ชาติสมาชิกจี20 เริ่มประชุมวันแรกที่บริสเบน เน้นถกหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 2% อนุมัติกฎระเบียบใหม่จัดการกับธนาคารขนาดใหญ่กรณีเกิดวิกฤติ ขณะที่ "โอบามา" เรียกร้องชาติสมาชิกทำงานหนักขึ้นเพื่อสร้างตำแหน่งงานเพิ่ม ด้าน กนง.เตรียมพิจารณาเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ หากเข้า 4 หลักเกณฑ์พร้อมพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงิน "ประสาร" ระบุ เห็นสัญญาณภาครัฐเบิกจ่ายดีขึ้น เอื้อเศรษฐกิจฟื้นต่อ ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือจี20 เริ่มประชุมร่วมกันเป็นเวลา 2 วันแล้วเมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย โดยที่ประชุมจะผลักดันให้มีการรับรอง "แผนปฏิบัติการบริสเบน" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมของกลุ่มประเทศจี20 ให้เพิ่มเป็นมากกว่า 2% ภายในปี 2581 ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนแรง จุดสนใจของการประชุมจึงอยู่ที่ว่า ประเทศสมาชิกจี20 ทุกประเทศ ซึ่งมีขนาดจีดีพีรวมกันกว่า 80% ของจีดีพีโลก จะสามารถบรรลุข้อตกลงว่าด้วยวิธีการส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้อย่างราบรื่นหรือไม่ โดยสหรัฐเรียกร้องว่าการกระตุ้นการคลังเป็นเรื่องจำเป็น แต่บางประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่ายสาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 คาดว่าบรรดาผู้นำจะหารือถึงการต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และการอนุมัติกฎระเบียบใหม่ ในการจัดการรับมือกับปัญหาการเงินของบรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่เมื่อเกิดวิกฤติ โดยไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ การประชุมของบรรดาผู้นำจี20 มีขึ้นหนึ่งเดือนหลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งลดลง 0.2% จากประมาณการเมื่อเดือน ก.ค. โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความกังวลที่ว่ายูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด สมาชิกจี20 ตกลงกันก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับยุทธ์ศาสตร์ที่คาดว่าจะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มเพิ่มขึ้น 1.8% ต่อปี แต่ในการประชุมที่บริสเบน บรรดาผู้นำจะผลักดันให้มีการรับรองยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจีดีพีรวมของกลุ่มเป็นอีก 2% "โอบามา"จี้ร่วมสร้างงานกระตุ้น ศก.โต ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์นอกรอบเรียกร้องบรรดาผู้นำจากกลุ่มประเทศจี20 ให้ทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสร้างตำแหน่งงาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม พร้อมทั้งระบุว่าสหรัฐไม่สามารถแบกรับภาระในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกได้เพียงลำพังได้ ข้อเรียกร้องของผู้นำสหรัฐมีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในยุโรป จีน และญี่ปุ่น นายโอบามา ระบุว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐทำให้คนหวนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากกว่าชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ รวมกัน และในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อัตราว่างงานในสหรัฐปรับตัวลงเหลือ 5.8% ถือเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.2551 แต่สหรัฐก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการจ้างงานได้เพียงลำพังได้ บรรดาผู้นำชาติอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก มีกำหนดที่จะให้คำมั่นร่วมกันในการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่บริสเบนครั้งนี้ว่า จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมกันให้ได้อย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านแผนปฏิรูปนโยบายด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานใหม่หลายล้านตำแหน่ง "ปูติน"สะสมทองรับมือสงครามเศรษฐกิจ สภาทองคำโลก ออกรายงานล่าสุด ระบุว่า ธนาคารกลางของรัสเซียได้เพิ่มปริมาณทองคำแท่งสำรองในช่วงไตรมาสที่สาม โดยเป็นการฉวยโอกาสในช่วงที่ราคาทองคำกำลังอยู่ในช่วงขาลง จึงเป็นไปได้ว่าการเร่งสต็อกทองคำแท่งของรัสเซียในครั้งนี้ เป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ในการทำสงครามเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อและยาวนานกับบรรดาชาติตะวันตก การวิจัยล่าสุดของสภาทองคำโลก ระบุว่า ทำเนียบเครมลิม สั่งการให้สต็อกทองคำแท่งจำนวน 55 ตัน ซึ่งมากกว่าชาติใดๆ ในช่วง 3 เดือน ซึ่งสิ้นสุดในเดือน ก.ย. ขณะที่ราคาทองคำกำลังอ่อนตัว ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีปูติน มีทองคำแท่งอยู่ในสต็อกมากเป็น 3 เท่า หรือประมาณ 1,150 ตัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้รัสเซียมีอาวุธที่ทรงอำนาจมาชดเชยค่าเงินรูเบิลที่อ่อนตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการถูกมาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นของสหรัฐและเหล่าชาติพันธมิตรในยุโรป อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ดิ่งตัวลง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของรัสเซียที่รายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซมีสัดส่วนถึง 45% ของรายรับทั้งหมดของรัฐบาลรัสเซีย ในบรรดาผู้ซื้อทองคำรายใหญ่รองจากรัสเซีย คือ กลุ่มประเทศอิสระที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต หรือซีไอเอส นำโดยคาซัคสถาน และอาเซอร์ไบจัน ในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ บรรดาธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ต่างซื้อทองคำรวมกันคิดเป็นปริมาณ 93 ตัน ซึ่งสภาทองคำ บอกว่า เป็นผลมาจากความความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความพยายามที่จะหันไปสำรองทองคำแท่งแทนดอลลาร์สหรัฐ และภายในสิ้นปีนี้บรรดาธนาคารกลางต่างๆ จะพยายามสำรองทองคำเพิ่มอีก 500 ตัน ธปท.ชี้พร้อมคลายนโยบายการเงินเพิ่ม วันเดียวกัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังติดตามข้อมูลเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด หากตัวเลขเศรษฐกิจที่จะรายงานออกมาในระยะถัดไปไม่เข้าเงื่อนไขของ กนง.ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาจเป็นไปได้ที่ต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่สิ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีกว่าคือนโยบายการคลัง เขากล่าวว่า กนง.จะติดตามตัวเลขของเศรษฐกิจในระยะต่อไปว่าจะออกมาตามที่คาดไว้หรือไม่ โดยสัปดาห์หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปีนี้ หากมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงและผิดจากที่มองไว้ อาจพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ แต่นโยบายการเงินอาจจะไม่ใช่การลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว และการกระตุ้นเศรษฐกิจดีที่สุดคือการใช้นโยบายการคลัง ซึ่งหลังจากที่ส่งสัญญาณดังกล่าวออกไป เริ่มเห็นสัญญาณดีการเบิกจ่ายด้านการคลังเริ่มมากขึ้น คลังเบิกจ่ายงบดีเอื้อ ศก.ฟื้น นายประสาร กล่าวต่อว่า ตอนนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่สูงมากนัก เปรียบเหมือนคนป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลแล้วหัดเดิน โดยที่ผ่านมาไตรมาสที่ 1 ติดลบ 0.6% ไตรมาสที่ 2 บวก 0.1% และในไตรมาสที่ 3 เท่าที่ติดตามประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าคาดไว้ แต่น่าจะเป็นบวกมากกว่า 0.1% แน่นอน แสดงให้เห็นว่ายังมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยในการประชุมกนง.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 1 ให้การคงอัตราดอกเบี้ย 2% ซึ่งเงื่อนไขที่ กนง.จะพิจารณาเศรษฐกิจในระยะถัดไปมีเหตุผล 4 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องแรกนโยบายการเงินผ่อนคลายช่วยประคองเศรษฐกิจเพียงพอหรือไม่ เรื่องที่สองความขัดแย้งทางการเมืองมีความผ่อนคลายไประดับหนึ่ง และนโยบายทางการคลังเริ่มชัดเจน นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะนโยบายการคลังจะช่วยกระตุ้นและฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ดีตามที่คาดการณ์ เรื่องที่สาม กนง.จะรักษาพื้นที่นโยบายการเงินเพียงพอในยามจำเป็น และสุดท้ายคาดการณ์ตลาดการเงินมองว่า กนง.ควรคงดอกเบี้ยไว้ก่อน ถ้ายังเป็นไปตามนี้ก็ยังคงดอกเบี้ยไว้ได้ เตือนลดดอกเบี้ยไม่ได้แปลว่าคนจะกู้ ส่วนการจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม มีผลดีกับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า ต้องดูว่านโยบายการเงินเป็นอุปสรรคการฟื้นตัวหรือไม่ ถ้าเป็นอุปสรรคอาจผ่อนคลายเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาจากการถามนักธุรกิจ พวกเขามองว่านโยบายการเงินผ่อนคลายพอสมควร และนโยบายการคลังน่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า "การลดดอกเบี้ย คนจะกู้เพิ่มหรือไม่นั้น จะดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบ ดังนั้นนโยบายการเงินอาจแก้ไม่ตรงจุด เพราะข้อจำกัดไม่ใช่แค่อุปสงค์อย่างเดียว อาจเป็นข้อจำกัดในด้านอุปทานด้วย ทั้งสินค้าเกษตรที่ราคาปรับลดลง และการส่งออกต่างประเทศสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจไม่ตรงความต้องการ ดังนั้นนักธุรกิจจะกู้เงินไปทำไมถ้าเขาไม่สามารถขายของได้ ซึ่งนโยบายการคลังไปดูการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น นโยบายการคลังอาจได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะกลางต้องมีการแก้ปัญหาด้านพื้นฐานทั้งคุณภาพการผลิตและด้านแรงงาน" ปรับกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อเริ่มใช้ปีหน้า สำหรับการเปลี่ยนกรอบการคาดการณ์เงินเฟ้อจากปัจจุบันที่ใช้เงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเงินเฟ้อทั่วไปนั้น นายประสาร กล่าวว่า ธปท.ได้เสนอไปยังรัฐมนตรีคลังแล้ว ซึ่งในขั้นตอนต่อไปคือเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคาดว่าจะสามารถใช้ได้จริงในต้นปี 2558 ที่ผ่านมาการใช้เงินเฟ้อพื้นฐานประสบความสำเร็จดี แต่การใช้เงินเฟ้อทั่วไปที่เอาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันกับอาหารเข้ามาร่วมพิจารณานั้น จะช่วยให้การคาดการณ์ทำได้ดีขึ้น สื่อสารกับประชาชนได้ง่าย และอธิบายความโปร่งใสทำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ธปท.ก็รู้จุดอ่อนในเรื่องนี้ เพราะหากใช้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อรายไตรมาสเหมือนที่ผ่านมา อาจทำให้เกิดการแกว่งตัวมากเกินไป ธปท.จึงใช้ค่าเฉลี่ยรายปีจะทำให้ผันผวนน้อยลง แต่ใช่ว่าธปท.จะใช้เครื่องมือใดเครื่องมือเดียวแต่จะใช้ควบคู่กัน กระนั้น ธปท.มีแนวคิดจะปรับเปลี่ยนนิยามการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลกับสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ให้มีหลักเกณฑ์เดียวกันเพื่อสะดวกในการกู้ยืมเงิน โดยที่ผ่านมาสินเชื่อส่วนบุคคลมีวงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ ซึ่งมีการเขียนประโยคหนึ่งว่า "ไม่ใช้เพื่อการประกอบธุรกิจ" ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างพิจารณากันถึงการตัดประโยคการห้ามประกอบธุรกิจได้หรือไม่ เพื่อช่วยให้เงื่อนไขนั้นง่ายขึ้น เพราะในการทำธุรกิจให้มีการบริหารเงินทุนได้ดีขึ้น คนทำธุรกิจจะสามารถบริหารเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาได้ ซึ่งในการปรับกฎเกณฑ์นั้น ทางธปท.สามารถดำเนินการได้เองโดยใช้วิธีการออกประกาศก็ทำได้ทันที อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น Tags : จี20 • ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • ธปท. • สภาทองคำโลก • บารัก โอบามา • เศรษฐกิจโลก • กนง.