ยอดขายรถ3เดือนแรกร่วง47%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 12 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ผลกระทบการเมือง ฉุดลงทุนภาครัฐ-เชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดขายรถ3เดือนแรกร่วง47% คาดยอดผลิตชะลอถึงไตรมาส 2 ขณะส่งออกยังโตจากเศรษฐกิจโลกฟื้น

    ส.อ.ท.ยอดผลิตรถยนต์ไตรมาสแรก 5.17 แสนคัน ลดลง 28%

    ค่ายรถทรุดหนัก ความเชื่อมั่นลด-ไร้รัฐบาล กระทบยอดขายในประเทศไตรมาสแรก ร่วงหนัก 47.26% ส.อ.ท.คาดต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 รับยอดขายในประเทศปีนี้หลุดเป้า 1.2 ล้านคัน ด้านส่งออกยังโตได้ ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนรถ รับอานิสงส์ตลาดต่างประเทศฟื้น-ค่าบาทอ่อน คาดยอดส่งออกโต 20% พาณิชย์ผนึกเอกชนจัดงาน 'ทาปา 2014' เตรียมความพร้อมเอกชนรับเออีซี

    ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศลดลงอย่างหนัก จากผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐชะลอ เนื่องจากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างและกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

    นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ยอดผลิตรถยนต์ในไตรมาสแรก มีจำนวน 517,492 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 28.28% เนื่องจากไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกและจากกำลังซื้อลดลง

    ยอดผลิตรถยนต์นั่งในไตรมาสแรก มีจำนวน 205,041 คัน มีสัดส่วน 39.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากไตรมาส 1 ของปีก่อน 37.08% รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตัน และมากกว่า 10 ตันขึ้นไป ในไตรมาส 1 ผลิตได้ 149 คัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 38.68% รถยนต์บรรทุกและรถกระบะขนาด 1 ตัน ไตรมาส 1 ผลิตได้ทั้งสิ้น 312,302 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.01%

    การผลิตเพื่อส่งออกในไตรมาสแรก รวม 287,795 คัน เท่ากับ 55.61% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.63%

    ยอดผลิตรถเดือนมี.ค. ลดลงกว่า 50%

    ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ เดือนมี.ค. 2557 ผลิตได้ 78,615 คัน เท่ากับ 43.35% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมี.ค. ของปีก่อน 50.99% และเดือนม.ค.-มี.ค. 2557 ผลิตได้ 229,697 คัน เท่ากับ 44.39% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนม.ค.-มี.ค. ของปีก่อน 47.26% เนื่องจากไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถคันแรกแล้วและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัว

    สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ ในเดือนมี.ค. 2557 ผลิตรถจักรยานยนต์ได้ทั้งสิ้น 225,405 คัน ลดลงจากเดือนมี.ค. ของปีก่อน 13.05% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป 174,580 คัน ลดลงจากปีก่อน 16.02% และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ 50,825 คัน ลดลงจากปีก่อน 1.01% ส่วนยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือนม.ค. - มี.ค. 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 608,051 คัน ลดลงจากปีก่อน 16.67% แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป 462,218 คัน ลดลงจากปีก่อน 21.36% และชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ 145,833 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.74%

    คาดผลิตรถยนต์ลดลงถึงกลางปีนี้

    สำหรับไตรมาสสอง (เม.ย.- มิ.ย. 2557) คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 499,900 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับยอดผลิตจริงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 2556 มีจำนวน 619,423 คัน ลดลง 119,523 คัน หรือ 19.3% เนื่องจากปีที่แล้วต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถคันแรก

    ส่วนประมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนเม.ย.-มิ.ย. 2557 มีจำนวน 575,007 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดผลิต 606,840 คัน ลดลง 31,833 คัน หรือ 5.25%

    ยอดขายภายในลด30%ยากทำได้1.2ล้านคัน

    ด้าน นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายในประเทศต่ำกว่าที่คาดไว้ประมาณ 30% ทำให้ยากที่จะไปถึงเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ส่วนการส่งออกมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน โดยเฉพาะยอดการส่งออกรถยนต์อีโคคาร์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

    "กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ยังไม่ปรับเป้าหมายการผลิตปีนี้ เพราะว่าต้องดูตัวเลขการส่งออกครึ่งปีก่อน จึงจะประเมินทั้งปี"

    นายศุภรัตน์ กล่าวว่ายอดขายในประเทศลดลงมาก เนื่องจากงบการลงทุนภาครัฐเป็นเครื่องจักรใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหายไปจากระบบ ทำให้ยอดขายรถยนต์ทุกชนิดลดลง โดยเฉพาะยอดขายรถบรรทุกขนาดใหญ่ลดลงมาก เพราะโครงการก่อสร้างภาครัฐลดลง หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และเร่งอนุมัติงบโครงการลงทุนภาครัฐ ทำให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้เร็ว

    บาทอ่อนดันส่งออกชิ้นส่วนพุ่ง

    นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวว่า ภาวะของชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องการผลิตชิ้นส่วน ได้รับผลกระทบจากตลาดในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมระบุว่า ภาคการผลิตชะลอตัว 30% ส่วนภาคการขายลดลง 45%

    อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภาคการส่งออกไปต่างประเทศเป็นไปด้วยดีจากปัจจัยส่งเสริม 2 ประการ คือ การฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ทั่วโลกเช่น ยุโรป อเมริกา ซึ่งเคยเป็นตลาดที่ซบเซาได้ช่วยให้การส่งออกชิ้นส่วนเติบโตขึ้นประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในขณะนี้อยู่ในภาวะอ่อนตัว ทำให้รายได้และยอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ทำตลาดอาร์อี นั้นถือว่า ยังมีไม่มากนักเพราะว่าตลาด อุปกรณ์ตกแต่งและตลาดอะไหล่ยังมีการเติบโตที่ดี

    "2 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ยังเติบโตได้ในระดับ 20% ตลาดต่างประเทศดีขึ้นทุกอย่าง สำหรับในส่วนของการส่งออกสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ในเดือนม.ค มีมูลค่า 971.95 ล้านดอลลาร์ มีอัตราขยายตัว 3.05% จากช่วงเดียวกันของปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 5.40% มีแนวโน้มการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้นจากการที่ตลาดรถยนต์ในประเทศเริ่มชะลอตัวและการส่งออกรถมีสัดส่วนสูงขึ้น ในขณะที่ข้อดีเนื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งสัดส่วนของการผลิตเพื่อจำหน่าย ในปัจจุบัน ยานยนต์ไทย มีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ 40% และผลิตเพื่อใช้ในประเทศในสัดส่วน 60%

    ทั้งนี้ ในแต่ละปีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์จากไทย อยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนบ้านบาท ซึ่งในปีนี้คาดว่าหากภาวะยังเป็นเช่นนี้อยู่ ตลาดรวมจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นราว 10%" นางอัชณา กล่าวและว่า ในขณะที่มูลค่าตลาดรวมชิ้นส่วนจากยอดการจำหน่ายในประเทศในเดือนม.ค.-ก.พ. 57 เฉลี่ยที่เดือนละ 8 หมื่นคัน โดยส่งออกอยู่ที่ราว 9 หมื่นคัน

    "เรามั่นใจว่ามูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการคิดจากยอดผลิตรถยนต์รวมประมาณ 2.4 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1.2-1.3 ล้านคัน และยอดขายในประเทศ 1.2 ล้านคัน"

    ชิ้นส่วนหวังโรงงานรถขยายส่งออก

    นายปราโมทย์ พงษ์ทอง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ตลาดชิ้นส่วนแบ่งออกเป็น 3 ตลาด คือ ผู้ผลิตเพื่อเข้าโรงงานประกอบ (OEM : Origianl Equipment Manufacturer) ผู้ผลิตสินค้าเป็นอะไหล่ทดแทน (REM : Replacement Equipment Manufacturer) และผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นอุปกรณ์ตกแต่ง

    สำหรับผู้ผลิตที่เข้าโรงงานประกอบ กำลังรอความหวังว่า โรงงานประกอบ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์จะเร่งหาตลาดเพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ชิ้นส่วนในตลาดนี้ฟื้นตัว สำหรับภาคการผลิตรถยนต์ที่จะเพิ่มประเทศที่ส่งออกนั้น กลุ่มชิ้นส่วนคงจะไปทำอะไรได้ไม่มาก แต่ขณะนี้ทิศทางเชื่อว่าเจ้าของแบรนด์หลายรายต่างก็มองการส่งออกทดแทนตลาดในประเทศ

    "ขณะนี้ภาวะการค้าขายรถในตลาดโลกคลี่คลาย ตลาดหลายๆ แห่งฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนก็เกื้อหนุนขึ้นอยู่ว่าแบรนด์เหล่านั้นจะขยายตลาดสินค้าที่ผลิตจากไทยได้ดีแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาไทยผลิตรถยนต์คิดเป็นจำนวน 2 ล้านคัน และมีการส่งออก 1 ล้านคัน หรือ 50% ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงพอสมควร"

    นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตลาดในประเทศลดลง การแก้ไขปัญหาในส่วนของกำลังการผลิตล้น คือ การลดซับคอนแทรคเตอร์ และ การลดโอที จากสิ่งที่ทำเกินตัว ลง เช่น จากเดิมทำงาน สองกะ บวกโอที เหลือ 1 กะ (1 กะ =8 ชั่วโมงทำงานปกติ) บวกโอที ส่วนตลาดอาร์ดี นั้น ไทยยังคงแข่งขันได้ดี ตลาดมีอัตราการเติบโต 10-20%

    แต่ตลาดนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากแรงซื้อภายในประเทศ จากความไม่มั่นใจอันเนื่องมาจากปัญหาการเมือง ทำให้ผู้บริโภคจ่ายน้อยลง

    "เราอาจจะได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คนหันมาบำรุงรักษารถเก่ามากขึ้นเพราะไม่สามารถซื้อรถใหม่ ตลาดก็รับแรงซื้อส่วนนี้ แต่ก็สูญเสียส่วนที่เคยใช้จ่ายปกติเมื่อมีรายได้ เช่น การซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม เพื่อทำให้รถดีขึ้น คนแต่งรถน้อยลง นอกจากนี้แม้จะต้องจ่ายเงินเพื่อบำรุงรักษารถเก่าแต่ก็จ่ายน้อย จ่ายเท่าที่จำเป็น"

    หวัง'ทาปา 2014'ดันยอดชิ้นส่วน

    วานนี้ (28 เม.ย.) ที่ไบเทค บางนา นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดพิธีเปิด “งานแสดงสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง 2557 หรือ Thailand Auto Parts & Accessories 2014 (ทาปา 2014)” โดยมีค่ายรถยนต์และบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก 468 บริษัท 863 คูหา เข้าร่วมงาน

    งานนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เม. ย. -1 พ. ค. 2557 โดยวันที่ 28-30 เม. ย. 2557 เป็นวันเจรจาธุรกิจ และวันที่ 1 พ.ค. 2557 เป็นวันค้าปลีก สำหรับประชาชนทั่วไป

    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในงานนี้มีค่ายรถยนต์ และผู้ประกอบการทั้งจากไทยและต่างประเทศร่วมงาน ได้แก่ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ เป็นต้น

    ชี้เปิดเออีซีเป็นโอกาสยานยนต์ไทย

    "ในปีได้จัดอย่างยิ่งใหญ่เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี พร้อมผลักดันในการใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดทั้งด้านการค้าและการลงทุน อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการค้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และที่มีความสำคัญมากขึ้นในโลกการค้าขณะนี้"

    คาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 4 วัน จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.6 หมื่นราย และมีเงินสะพัดประมาณ 800 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการทำธุรกิจหลังจบงานมูลค่าเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 5,000-6,500 ล้านบาท

    สำหรับงาน ทาปา 2014 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 เป็นการจัดปีเว้นปี ซึ่งในการจัดครั้งแรกตรงกับช่วงที่ไทยฉลองการผลิตครบ 1 ล้านคัน ในปี 2005 ในช่วงแรกของการจัดงานจะเน้นส่งเสริมให้มีการส่งออกชิ้นส่วนไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ( SME) ที่ไม่ค่อยทำการส่งออก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตยิ่งขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

    ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา การส่งออกชิ้นส่วนไทยเติบโต 8-10% และมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 3-4 แสนล้านบาทต่อปี

    สำหรับประเทศที่ไทยส่งออกให้มากเป็นลำดับต้นๆ คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่าในอาเซียนไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตทั้งหมด

    ทั้งนี้ ในปี 2013 กลุ่มประเทศอาเซียน สามารถผลิตได้รวม 4.3 ล้านคัน และไทยผลิตได้ 2.47 ล้านคัน ดังนั้นไทยจึงเป็นฐานที่สำคัญในภูมิภาคนี้ และมีการผลิตรถยนต์จัดว่าอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกและอาเซียน โดยตั้งเป้าจะผลิตรวมกันเป็นที่ 6 ของโลก และตั้งเป้าประเทศไทยจะผลิตได้ปีละ 3 ล้านคัน ในปี 2017

    "โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 หรือ อีโคคาร์ 2 จะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญยิ่งในอนาคตอันใกล้"

    Tags : รถยนต์ • ยอดขายตก • ไตรมาส1 • ส.อ.ท.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้